proxy crisis แล้วไงต่อ?

proxy crisis แล้วไงต่อ?

แม้ในหมู่นักวิชาการด้านความมั่นคงจะกำลังถกเถียงกันเกี่ยวกับคำว่า proxy crisis ว่าหมายถึงอะไรแน่

เพราะอาจเป็นคำศัพท์บัญญัติเองของ ผบ.ทบ. หรือไม่ก็เป็นบทวิเคราะห์ความมั่นคงแนวใหม่ที่ผู้ศึกษาตำราเก่าๆ อาจตามไม่ทัน

แต่เสียงตั้งคำถามอีกด้านหนึ่งก็คือ การออกมาพูดถึงคำๆ นี้ในความหมายที่ท่านอ้างว่าหมายถึงวิกฤตที่ยังไม่ใช่สงคราม โดยมี “ตัวแทน” ออกมาสร้างสถานการณ์ทั้งการเมืองและไฟใต้นั้น ท่านพูดเพื่อหวังผลอะไร และมันเป็นประโยชน์อะไรต่อบ้านเมือง

ถ้าแค่จะบอกว่ากิจกรรม วิ่งไล่ลุง” หรือการพยายามปลุกม็อบลงถนนในปีหน้า เป็นแค่การสร้างวิกฤติบังหน้า มีคนได้ประโยชน์ชักใยอยู่เบื้องหลัง แต่ไม่ยอมเปิดตัว เพราะไม่อยากต่อสู้ตรงๆ กับภาครัฐ (ตามที่ท่านพูด) 

คำถามที่ต้องถามท่านต่อก็คือ แล้วท่านในฐานะหัวหน้าหน่วยงานความมั่นคงที่มีอิทธิพลสูงสุดในประเทศ จะแก้ปัญหาอย่างไรให้สังคมไทยพ้นวิกฤติที่ท่านอ้างอยู่นี้ หรือต้องการพูดเพียงแค่ให้สังคมไทยตระหนักรู้ว่ามันมี proxy อยู่เท่านั้น แต่คำถามก็คือ รู้แล้วยังไงต่อ?

ตั้งแต่ที่ท่านจุดพลุเรื่อง เฟคนิวส์” ตามมาด้วย ไฮบริด วอร์แฟร์” ต่อด้วย ฮ่องเต้ ซินโดรม และล่าสุด “proxy crisis” ก็ต้องถามอย่างคนที่ไม่รู้เรื่องอะไรว่า ท่านในฐานะที่รับผิดชอบบ้านเมืองอยู่ด้วยเหมือนกัน ได้ทำอะไรไปในทางแก้ไขปัญหาผ่านการบัญญัติศัพท์ต่างๆ ที่ท่านพูดถึงอยู่นี้บ้าง

และในเมื่อท่านพูดถึง proxy crisis โดยกล่าวหาว่ามี ตัวแสดงแทน” ในวิกฤติการเมือง ก็ย่อมสุ่มเสี่ยงที่ท่านจะถูกถามถึงบทบาทของกองทัพทั้งช่วงที่ผ่านมาและในปัจจุบันนี้ว่ากำลังเป็น proxy ของใครหรือไม่ เหมือนกับที่คนจำนวนไม่น้อย (ในทุกข้างทุกฝ่าย) ที่ตั้งคำถาม หรือกระทั่งรู้อยู่แก่ใจว่า องค์กรผู้มีอำนาจชี้ขาด” บางส่วนกำลังเป็น proxy ของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดในทางการเมือง (ไม่ใช่แค่วาทกรรม)

อันที่จริงแล้วการต่อสู้ทางการเมืองเป็นเรื่องปกติ และจะไม่บานปลายกลายเป็นวิกฤติหรือสงคราม (war) หากองค์กรเสาหลักในบ้านเมืองไม่มาร่วมเป็นคู่ขัดแย้ง หรือเป็น proxy เสียเองในวิกฤตินั้น

แต่สิ่งที่เห็นและเป็นอยู่...ก็อย่างที่บอก ก็รู้กันอยู่แก่ใจ ท่านผบ.ทบ.เองก็รู้ เพราะภาพมันชัดเจนเหลือเกิน ก็เลยงงว่าจะออกมาพูดทำไม พูดแล้วยังไงต่อ เพราะสถานการณ์เดินมาถึงป่านนี้ ยังเหลือแค่ตอนจบของสงครามหรือวิกฤตินี้เท่านั้นที่ภาพยังไม่ชัดเจน