Football Academy ในไทย vs ต่างประเทศ

Football Academy ในไทย vs ต่างประเทศ

เรียกเสียงฮือฮาได้พอสมควรเมื่อ เดวิด เบ็คแฮม อดีตนักเตะซูเปอร์สตาร์ ร่วมพูดคุยกับทีมนครปฐม ยูไนเต็ด ทีมในไทยลีก 2 ถึงการทำทีมและการฝึกสอน

ปัจจุบัน ไทยของเรามีลีกแข่งฟุตบอลถึง 5 ลีก และทีมฟุตบอลที่อยู่ในชั้นต่าง ๆ เป็นจำนวนหลักร้อย กระแสความนิยมในฟุตบอลถูกนำมาใช้เพื่อประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ เชิงการศึกษา เชิงการเมืองอย่างชัดเจน

วันนี้ผมอยากจะมาพูดถึงกระแสความนิยมของฟุตบอลในเชิงการศึกษาและพัฒนาเยาวชน ในรูปแบบของโรงเรียน (ฝึกสอน) ฟุตบอล และโอกาสความก้าวหน้าทางอาชีพเพื่อเป็นแรงบันดาลใจแก่เยาวชนที่มีความรักในกีฬานี้

หากมองในเชิงพาณิชย์แล้ว อุตสาหกรรมฟุตบอลในไทยได้เคลื่อนสู่การปรับตัวในการสร้างแบรนด์และพัฒนาฐานแฟนบอลโดยเลียนแบบโมเดลของอังกฤษ ที่เน้นการให้ความสำคัญกับท้องถิ่นต่าง ๆ มีลีกการแข่งขัน การหาสปอนเซอร์ หรือแม้กระทั่งการทำให้สนามกีฬาเป็นอีกหนึ่งจุดท่องเที่ยวอย่างทีมบุรีรัมย์ยูไนเต็ดเป็นต้น

เส้นทางอาชีพส่วนใหญ่ของนักกีฬาฟุตบอลในปัจจุบันต่างจากในอดีตเพราะมีทีมและ “ลีก” รองรับมากมายทั้งในและต่างประเทศ​ ทำให้ฟุตบอลไม่ได้เป็นแค่ทางเลือกของความชอบแต่ยังเป็นทางเลือกของอาชีพในอนาคตด้วย ลีกในระดับต่าง ๆ เสนอค่าตอบแทนรายเดือนแก่นักบอลมืออาชีพที่หลักหมื่นจนกระทั่งเป็นล้านสำหรับนักเตะที่มีพรสวรรค์

โรงเรียน (ฝึกสอน) ฟุตบอลจึงเกิดขึ้นมากมาย เพื่อฝึกให้พื้นฐานแก่เยาวชน เตรียมความพร้อมเพื่อคัดตัวสู่สโมสรอาชีพชั้นต้น และไต่ระดับจนถึงสโมสรระดับชาติหรือทีมชาติ ซึ่งถือเป็นจุดหมายหนึ่งของเส้นทางอาชีพ คุณภาพและมาตรฐานในการสอนเป็นสิ่งที่ผู้ปกครองควรพิจารณานอกเหนือจากสื่อทางการตลาดที่สวยงาม หลักเกณฑ์ที่ง่ายที่สุดในการคัดโรงเรียนที่เหมาะสมกับบุตรหลานคือการถามไถ่จากผู้เรียนเอง หรือผู้เคยเรียน ผ่านการบอกต่อ และหมั่นสังเกตพัฒนาการของผู้เรียน การโรงเรียนนั้น ๆ มีโค้ชที่ได้รับการฝึกมาตรฐานจากต่างประเทศอย่าง AFC หรือเคยเป็นทีมชาติหรือทีมเยาวชนสโมสรดังก็เป็นอีกตัวชี้วัดหนึ่งได้

โรงเรียนฟุตบอลในต่างประเทศของสโมสรชื่อดังก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง เพราะนอกจากมาตรฐานที่สูงของสโมสรและประเทศนั้น ๆ ในกีฬาฟุตบอลแล้ว ยังสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้เรียนได้อย่างมาก และแรงบันดาลใจนี้เองที่ผลักดันเด็กธรรมดามาเป็นนักบอลดัง ๆ มาแล้วหลายคน โรงเรียนที่อยู่ภายใต้ชื่อของสโมสรจำเป็นต้องรักษาชื่อเสียงภาพลักษณ์ของสโมสร ซึ่งราคาย่อมสูงกว่าโรงเรียนทั่วไปแต่ก็คุ้มค่าหากมองว่าการศึกษาคือการลงทุน

โรงเรียนฟุตบอลที่ดีมีมากมายทั้งในอังกฤษ เยอรมนี สเปน และสิ่งที่สำคัญนอกเหนือจากการเลือกที่ชื่อเสียงของสโมสรคือ ความเอาใจใส่ของโค้ชผู้คุมทริป เพราะกำแพงภาษาถือเป็นอุปสรรคหนึ่งของเด็กไทยเวลาไปเรียนเมืองนอก นอกจากนี้แล้วการฝึกฝนภายใต้สภาวะการแข่งขันจริงจำเป็นต้องให้ความสำคัญต่อจิตวิทยาเด็ก ต้องพัฒนา EQ ควบคู่กับการพัฒนาเชิงทักษะ และการทำงานเป็นทีมด้วย

สิ่งที่สำคัญที่สุดก่อนที่จะตัดสินใจให้บุตรหลานเรียนในโรงเรียนฟุตบอล คือความคาดหวังของผู้ปกครองเอง การเปรียบเทียบบุตรหลานตนเองกับคนอื่นหรือดารานั้นมีทั้งถือเป็นดาบสองคม คือสามารถเป็นทั้งแรงบันดาลใจแรงผลักดันและในขณะเดียวกันก็เป็นแรงกดดันได้ นักจิตวิทยาในสหรัฐฯพูดถึงวุฒิภาวะเยาวชนว่า เด็กส่วนใหญ่จะทำงานเป็นทีมได้ดีเมื่ออายุ 10-11 ปี โดยจะเริ่มเข้าใจว่าการพ่ายแพ้เป็นสัจธรรมหนึ่งของชีวิตได้ ดังนั้นความคาดหวังที่พอเหมาะพอควรจึงจะทำหน้าที่เป็นแรงส่งที่ดี

รูปแบบของดอกผลของโรงเรียนฟุตบอล การส่งเสริมและคาดหวังที่พอควรพอควรนอกจากจะออกมาในรูปของการพัฒนาทางกายภาพ ความเข้มแข็งทางร่างกายของเยาวชนแล้ว พัฒนาการทางอารมณ์ น้ำใจนักกีฬาและการทำงานเป็นทีมก็ถือเป็นผลพลอยได้ ซึ่งหาได้ยากนักในยุคดิจิทัลที่เยาวชนมีความเป็นปัจเจกสูงเพราะเสพติดหน้าจอมือถือและคอมพิวเตอร์