ความยั่งยืนของธุรกิจกับความเสี่ยงเรื่องสิทธิมนุษยชน

ความยั่งยืนของธุรกิจกับความเสี่ยงเรื่องสิทธิมนุษยชน

การบริหารจัดการธุรกิจภายใต้แนวคิดของการพัฒนาความยั่งยืน โดยยึดหลักการบริหารจัดการที่ดีใน 3 มิติ

ได้แก่ มิติในการดำเนินธุรกิจที่มีส่วนช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ระบบเศรษฐกิจ มิติการมีส่วนช่วยดูแลสังคมชมชน และมิติการมีส่วนช่วยดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม

รวมถึงการดำเนินธุรกิจเพื่อให้เป็นไปตาม เป้าหมายความยั่งยืนของสหประชาชาติ 17 ข้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป้าหมายที่มีความสัมพันธ์กับเรื่องของการไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ได้แก่ เป้าหมายที่ 8 เรื่องการจ้างงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ เป้าหมายที่ 12 แผนการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน และ เป้าหมายที่ 16 สังคมสงบสุข ยุติธรรม ไม่แบ่งแยก

เงื่อนไขใหม่ของการทำธุรกิจเพื่อความยั่งยืนเหล่านี้ ทำให้ผู้บริหารหรือเจ้าของธุรกิจ จำเป็นที่จะต้องหันมาให้ความสนใจกับการทำธุรกิจที่ไม่ละเมิดหลักสิทธิมนุษยขน

การละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการดำเนินธุรกิจ นอกจากจะเกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจของตัวเองแล้ว ยังอาจรวมไปถึงการทำธุรกิจร่วมกับคู่ค้าที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอีกด้วย

ส่วนใหญ่แล้ว คู่ค้าที่มีโอกาสเกิดความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชน มักได้แก่ ผู้จำหน่ายวัตถุดิบ หรือที่มักเรียกกันว่า ซัพพลายเออร์ ผู้รับจ้างให้บริการ ผู้รับเหมา ผู้รับเหมาเช่าช่วง รวมไปถึง ผู้จัดหาวัสดุอุปกรณ์และให้บริการด้านเทคโนโลยีต่างๆ อีกด้วย

ธุรกิจที่ดำเนินการตามแนวทางการพัฒนาความยั่งยืน จึงจำเป็นต้องวิเคราะห์และรับทราบถึงความเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งอาจทำให้เกิดผลลบต่อชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของธุรกิจได้อย่างรุนแรง

โดยปกติแล้ว ความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนของธุรกิจหรือคู่ค้าของธุรกิจ อาจเกิดขึ้นได้ ใน 4 ด้านใหญ่ๆ ได้แก

1.เกิดจากสภาพการจ้างงาน

เช่น การจ่ายค่าจ้าง และสวัสดิการให้แก่ลูกจ้างหรือแรงงานต่ำกว่าที่กฏหมายกำหนด การสั่งให้ทำหรือสนับสนุนให้เกิดการทำงานล่วงเวลาที่ผิดไปจากที่กฏหมายกำหนด การไม่จัดสถานที่ทำงาน สภาพแวดล้อมในการทำงานที่ถูกสุขอนามัย และการจ้างให้ทำงานอันตรายโดยไม่จัดหาอุปกรณ์ป้องกันอันตรายจากการทำงานให้แก่ผู้ทำงานอย่างเหมาะสม หากมีการจ้างงานผู้พิการ ก็ไม่ได้ให้สิทธิพื้นฐานที่คนพิการพึงมีพึงได้

2.เกิดจากสภาพการทำงาน

เช่น สั่งหรือมีการสนับสนุนให้เกิดการทำงานด้วยสภาพร่างกายที่ไม่พร้อม ไม่ว่าจะมาจากการที่มีจำนวนบุคลากรไม่เพียงพอ อุปกรณ์ความปลอดภัยไม่เพียงพอ หรือเป็นการทำงานที่หนักเกินกว่าสภาพร่างกายปกติของผู้ปฏิบัติงาน ไม่มีการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ปฏิบัติงานอันเนื่องมาจาก การใช้วัสดุ อุปกรณ์ สารเคมี หรือเครื่องมือที่ไม่ได้มาตรฐานความปลอดภัย และการที่ผู้ทำงานเกิดการบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยจากการทำงานมีจำนวนมากและต่อเนื่อง

3.เกิดจากรูปแบบการจ้างงาน

เช่น การจ้างแรงงานเด็ก กรงงานสตรี หรือแรงงานที่มีความอ่อนไหวแบบผิดกฏหมาย การจ้างแรงงานต่างด้าวที่ไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย การจ้างงานด้วยสัญญาที่ไม่เป็นธรรม หรือการบีบบังคับให้ทำสัญญาจ้างงานโดยไม่เต็มใจ

4.เกิดจากการละเมิดสิทธิของชุมชน

เช่น การสร้างผลกระทบต่อสุขภาวะของชุมชนจากการใช้วัสดุ อุปกรณ์ ผลิตภัณฑ์ สารเคมีอันตราย ในระหว่างการประกอบการทำธุรกิจ การสร้างผลกระทบจาก ฝุน เสียง กลิ่น หรือการแพร่ของเชื้อโรคสู่ชุมชน การทำให้เกิดมลภาวะทางอากาศ น้ำ หรือพื้นดิน การทำให้เกิดการรั่วไหล การปนเปื้อน หรือการเกิดขยะที่เป็นภาระให้แก่ชุมชน

ส่วนแนวทางที่จะป้องกันความเสี่ยงไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนในการทำธุรกิจของคู่ค้าที่อาจทำให้เกิดผลกระทบกลับมาถึงตัวธุรกิจได้ ธุรกิจต้องให้ความสนใจในเรื่องต่างๆ เช่น

  • กำหนดเงื่อนไขเรื่องการปฏิบัติตามหลักการสิทธิมนุษยชนสากล ไว้ในสัญญาจ้าง พร้อมกำหนดขอบเขตของความรับผิดชอบและบทลงโทษ เช่น รายละเอียดการจ้างงาน ชั่วโมงการทำงาน เกณฑ์การจัดหาแรงงาน เป็นต้น
  • สอบถามคู่ค้าก่อนการร่วมธุรกิจและกำหนดเงื่อนไขด้านการไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนก่อนการทำธุรกิจซึ่งกันและกัน
  • จัดทำสัญญาจ้างที่ระบุเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อพนักงานตามกฎหมายต่างๆ ให้ครอบคลุม
  • ตรวจสอบประวัติด้านการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของคู่ค้า ผู้รับจ้าง หรือผู้รับเหมา ก่อนการว่าจ้าง
  • ตรวจสอบอุปกรณ์การทำงาน อุปกรณ์ความปลอดภัย สภาพการทำงาน ใบรับรองต่างๆ ที่จำเป็น เช่น การกำจัดขยะ การกำจัดของเสีย ใบอนุญาตการควบคุมปั้นจั่น หรือเครน ฯลฯ เป็นต้น
  • จัดให้มีการประเมินความเสี่ยง และระดับความเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน
  • กำหนดระเบียบในการตรวจสอบและติดตามการทำงานเป็นระยะๆ
  • ฯลฯ

เรื่องของการหลีกเลี่ยงหรือป้องกันความเสี่ยงต่อการละเมินสิทธิมนุษยชน อาจเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการธุรกิจไทยอาจยังไม่ได้ให้ความสนใจมากนักในอดีตที่ผ่านมา

แต่ในยุคของการทำธุรกิจแบบโลกาภิวัฒน์ ภายใต้เงื่อนไขการทำธุรกิจที่ยั่งยืนที่เป็นเงื่อนไขธุรกิจที่กำลังจะเกิดขึ้นใหม่ในระดับสากล ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจในทุกระดับต้องเริ่มหันมาสำรวจเรื่องของสิทธิมนุษยชนทั้งภายในธุรกิจของตัวเอง และขยายความไปถึงคู่ค้า ผู้รับบริการ ผู้รับเหมา และผู้รับเหมาช่วง

เพื่อป้องกันชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของธุรกิจในด้านของสิทธิมนุษยชน ที่ไม่ควรให้เกิดการผิดพลาดขึ้น