เราจะสามารถป้องกันไม่ให้เป็นโรคสมองเสื่อมได้อย่างไร (4)

เราจะสามารถป้องกันไม่ให้เป็นโรคสมองเสื่อมได้อย่างไร (4)

ครั้งที่แล้วผมได้นำเสนอรายละเอียดเกี่ยวกับโรคอัลไซเมอร์ ว่าเป็นโรคสมองเสื่อมที่เป็นกันมากที่สุด (60-80% ของโรคสมองเสื่อมทั้งหมด)

และพัฒนาการของอัลไซเมอร์นั้นเกิดจากการสะสมของโปรตีน 2 ประเภทคือ beta amyloid และเตา (Tau) จนกระทั่งมีจำนวนมากพอที่จะทำให้เกิดความเสียหายกับเซลล์สมองและระบบการสื่อสารของเซลล์สมองผ่าน synapses จนกระทั่งเปลือกสมองเกิดการหดตัวและสูญเสียเนื้อสมอง ส่งผลต่อการทำงานของสมองในที่สุด

นอกจากนั้นก็ยังพบว่า 50% ของคนที่เป็นโรคอัลไซเมอร์นั้นก็ยังเป็นโรคสมองเสื่อม เพราะมีเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ (vascular dementia) อีกด้วย

ทำไมระบบไหลเวียนของเลือดที่ดีจึงจะมีความสำคัญในการลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคสมองเสื่อม? ผมได้กลับไปศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับระบบไหลเวียนของเลือดของมนุษย์ ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้

หัวใจเต้นวันละอย่างน้อย 1.1 แสนครั้งในมนุษย์เพื่อสูบฉีดเลือดประมาณ 7,500 ลิตรต่อวัน จากจำนวนเลือดในร่างกายที่มีอยู่ประมาณ 5-7 ลิตรในร่างกายของผู้ใหญ่

หัวใจหนักประมาณ 1% ของน้ำหนักตัว (ส่วนใหญ่หนักไม่ถึง 1 กิโลกรัม) แต่ใช้พลังงานเท่ากับ 10% ของพลังงานของร่างกายทั้งหมด

สมองหนักประมาณ 2% ของน้ำหนักตัว (ไม่ถึง 2 กิโลกรัม) แต่ใช้พลังงานเท่ากับ 20% ของพลังงานของร่างกายทั้งหมด

หลอดเลือดและเส้นเลือดฝอยของมนุษย์ยาวรวมทั้งสิ้นประมาณ 1 แสนกิโลเมตร (รอบโลกเท่ากับ 4 หมื่นกิโลเมตร)

จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้นจะเห็นได้ว่า อวัยวะที่ทำงานหนักมากที่สุดในร่างกายของมนุษย์คือสมองและหัวใจ เพราะมีขนาดเท่ากับ 1% และ 2% ตามลำดับ แต่ใช้พลังงาน 10 เท่าตัวของขนาดของอวัยวะ คือ 10% และ 20% ตามลำดับ ข้อสังเกตที่สองคือความสำคัญของเลือด เส้นเลือดและระบบไหลเวียนของเลือด ตัวอย่างเช่นร่างกายมนุษย์มีเลือดเพียง 5-7 ลิตร แต่หัวใจต้องสูบฉีดและปอดต้องฟอกเลือดวันละ 7,500 ลิตร (ประมาณ 7,500 ลิตรนี้เปรียบเทียบได้กับการเติมน้ำมันรถยนต์ประมาณ 5 ปี หากใช้น้ำมันประมาณ 125 ลิตรต่อเดือน) 

จะเห็นได้ว่าหากเส้นเลือดไม่แข็งแรงและระบบสูบฉีดเลือดบกพร่อง อวัยวะที่จะมีปัญหานั้นไม่ใช่จะเป็นเฉพาะหัวใจเท่านั้น แต่น่าจะกระทบไปถึงสมองอีกด้วย ดังนั้นโรคสมองเสื่อมที่เกิดจากการขาดเลือด (vascular dementia) จึงมาเป็นที่ 2 รองลงมาจากโรคอัลไซเมอร์ และโรคทั้งสองจึงเกิดขึ้นได้พร้อมกันและอาจมีส่วนในการส่งเสริมซึ่งกันและกันได้อีกด้วย

ทั้งนี้สมาคมอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s Association) กล่าวว่า โรคสมองเสื่อมที่เกิดจากการขาดเลือดไปเลี้ยงสมอง (vascular dementia) นั้นเป็น “mixed pathology หรือเป็นโรคร่วมกับโรคอัลไซเมอร์และมักจะเกิดขึ้นพร้อมกัน (commonly coexist)

ดังนั้นเวลากินอะไรหรือไม่ยอมออกกำลังกายซึ่งไม่ดีกับระบบไหลเวียนของเลือด ก็ขอให้ เกรงใจทั้งหัวใจและทั้งสมองของท่านด้วยครับ

ครั้งต่อไป ผมจะขอเขียนถึงเรื่องยีน APOE ซึ่งมีอยู่ 3 ประเภทคือ 2, 3 และ 4 ซึ่งมีความสำคัญมากในการกำหนดความเสี่ยงของการเป็นโรคอัลไซเมอร์ โดยข่าวร้ายคือการที่มียีน APOE ประเภท APOE E4 นั้นจะเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคอัลไซเมอร์มากถึง 3 ถึง 12 เท่า (คนที่มี APOE E4 ทั้งคู่จากพ่อ-แม่จะมีความเสี่ยงจากการเป็นโรคอัลไซเมอร์มากที่สุด)

แต่ข่าวดีคือนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย MIT อาศัยเทคโนโลยีล่าสุดในการสร้าง stem cell ขึ้นมาใหม่จากกระบวนการที่เรียกว่า induced pluripotent stem cells (iPSCs) และทำการทดลองให้ทราบว่า APOE E4 นั้นทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ได้อย่างไร ขั้นต่อไปจึงได้ใช้วิธีการตัดต่อพันธุกรรม (gene editing) ที่เรียกว่า crispr-cas 9 ตัดเอา APOE E4 ออกแล้วเอายีน APOE E3 ไปใส่แทน

โดยแนวทางดังกล่าวเป็นเรื่องใหม่และมีความสลับซับซ้อนค่อนข้างมาก ดังนั้นบางท่านอาจลองหาข้อมูลเกี่ยวกับ crispr-cas 9 และ iPSCs ไปพลางๆ ก่อนก็ได้ครับ