กัญชา กัญชา เป็นยาวิเศษ จริงหรือ

กัญชา กัญชา เป็นยาวิเศษ จริงหรือ

ในการประชุม กมธ.สาธารณสุข วุฒิสภา 3 ครั้งที่ผ่านมา เป็นเรื่องของกัญชาเพื่อการแพทย์ แต่ก็ดูเหมือนจะยังมีคำถามมากมายเกี่ยวกับกัญชาว่า

จริงๆ แล้วมีประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วยโรคต่างๆ แค่ไหน และเท่าที่รับฟังการชี้แจงของผู้ชี้แจงจากภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ก็ยังไม่เห็นข้อสรุปที่ไปในแนวทางเดียวกัน

การประชุมของ กมธ.สาธารณสุข วุฒิสภา อย่างต่อเนื่องนี้ ดูจะมีความชัดเจนและสร้างความกระจ่างมากขึ้น เพราะผู้ชี้แจงน่าจะเป็นผู้ที่รู้จริงมากสุดของประเทศ คือ ดร.วิโรจน์ สุ่มใหญ่ (ขออภัยที่เอ่ยนาม) ประธานคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดระหว่างประเทศ (Int'l Narcotics Control Board หรือ INCB) และ ศ.ธีรวัฒน์ เหมะจุฑา (ขออภัยที่เอ่ยนาม) ผู้เชี่ยวชาญด้านสมองจากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย

จาก INCB ทำให้เข้าใจว่าการควบคุมสารสกัดจากกัญชานั้นไม่ได้ควบคุมทุกส่วน แต่ควบคุมเฉพาะเรื่องส่วนที่เป็นดอก (cannabis) และส่วนที่เป็นยาง (resin) เท่านั้น ไม่ได้คุมพวกใบ ลำต้น เส้นใย และส่วนอื่นๆของต้นกัญชา ที่สำคัญคือหน่วยงานที่ควบคุมคือ National Cannabis Control Agency จะควบคุมเฉพาะเรื่องการปลูกกัญชาและส่งข้อมูลให้องค์การสหประชาชาติ (UN) การปลูกจะต้องสอดคล้องกับกฎระเบียบและสามารถตรวจสอบได้ตั้งแต่เริ่มปลูก ส่วนการควบคุมภายในนั้นเป็นเรื่องของแต่ละประเทศที่จะต้องไม่ขัดกับสนธิสัญญา Single Convention Narcotics Control ที่มีสมาชิกเกือบ 200 ประเทศเป็นภาคีสมาชิก

เมื่อเป็นเช่นนี้ ถ้าประเทศไทยจะอนุญาตให้ประชาชนหรือหน่วยงานใดปลูกกัญชา ก็ย่อมทำได้ ไม่ว่าจะปลูกเพื่อการวิจัยทางการแพทย์ หรือวิทยาศาสตร์หรืออื่นใด แต่จะต้องสามารถตรวจสอบได้ว่า ไม่ขัดต่อสนธิสัญญาฯ ที่ประเทศไทยเป็นสมาชิก และหลังจากปลูกแล้ว ถือเป็นเรื่องภายในของแต่ละประเทศที่จะเอาไปต่อยอดทำยาหรือเพื่อนันทนาการอย่างอื่น

ฉะนั้นการปลูกกัญชาที่มีนโยบายบ้านละ 6 ต้น หรือ 10-20 ต้น หรือจะเป็นไร่ ก็ทำได้ แต่จะต้องไม่ขัดต่อสนธิสัญญา Single Convention ที่ไทยเป็นสมาชิก และการปลูกและใช้ประโยชน์นั้นต้องรายงานต่อองค์การสหประชาชาติผ่าน National Cannabis Control Agency มิฉะนั้นจะถือว่าขัดต่อสนธิสัญญา และอาจมีผลให้ถูก sanction ตามมาตรการขององค์กรที่เราเป็นสมาชิก

เท่าที่ฟังความเห็นจาก ศ.ธีรวัฒน์ ที่ถือเป็นนักวิชาการสำคัญในการนำกัญชามาใช้ในการรักษาโรคสมัยใหม่ ก็มีความสอดคล้องกันในเรื่องการปลูก และมาตรการของรัฐที่จะมีการอนุญาต ไม่ว่าจะปลูกโดยหน่วยงานหรือประชาชนในจำนวนหรือพื้นที่ใดก็จะมีการควบคุมตรวจสอบโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกระทรวงสาธารณสุข โดยเฉพาะสถาบันกัญชา ที่จะเป็นศูนย์ประสานข้อมูล เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างสอดคล้องกับข้อตกลง UN

อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายคำถามที่ยังคาใจของที่ประชุม ทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการควบคุมการใช้สารสกัดกัญชา แม้จะเป็นเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์เป็นหลัก ส่วนตัวผมนั้น ได้เขียนหลายคำถาม ที่บางคำถามก็ตรงกับท่านอื่น แต่ก็มีบางคำถามที่ยังไม่ชัดเจนอาทิ การใช้สารสกัดจากกัญชาที่ทำเองเช่นน้ำมันกัญชาอาจจะทำให้เกิดการขยายผลด้วยตนเองหรือคนใกล้ชิด เกิดปัญหาผลข้างเคียงด้านสุขภาพ เช่นการใช้มากเกินไปหรือ overdose อย่างนี้ จะมีทางป้องกันอย่างไร แพทย์แผนปัจจุบันมีความมั่นใจในการใช้สารสกัดจากกัญชาแค่ไหน เพราะไม่ใช่ยาแผนปัจจุบันที่ขึ้นทะเบียนจาก อย. เหมือนยาแผนปัจจุบันทั่วไป ยาที่สกัดจากกัญชาควรจะเป็นยาหลักหรือยาทางเลือกถึงจะดีที่สุด และจะทำอย่างไรให้มีคุณสมบัติเหมือนยาแผนปัจจุบันสำหรับใช้ในการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลที่ผู้ให้บริการสามารถเบิกจ่ายค่าบริการจาก สปสช.ได้

เท่าที่รับฟังจากผู้ชี้แจง เกือบทั้งหมดเป็นผลด้านดี ผู้ป่วยหายจากอาการของโรคสามารถกลับมาใช้ชีวิตที่ดีขึ้นใกล้เคียงคนปกติมากขึ้น แต่ไม่มีข้อมูลด้านผลร้ายที่เกิดจากการใช้ยาสารสกัดจากกัญชาเป็นตัวเปรียบเทียบ ความสำเร็จและความล้มเหลวเป็นเรื่องสำคัญ ที่สำคัญมากกว่านั้นคือสถิติผู้ที่ใช้ยาจากสารสกัดจากกัญชาแล้วรักษาไม่หาย เลวร้ายลง หรือเกิดผลข้างเคียงที่ถึงกับต้องกลับมารักษาด้วยยาแผนปัจจุบัน ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอีก ข้อมูลที่ประกอบการชี้แจงจึงขาดความสมบูรณ์อย่างมาก

นอกจากนี้ ยังมีบางคำถามที่อยากถามผู้เชี่ยวชาญจาก INCB เช่นกันอาทิ การที่มีบางประเทศเช่นเอกวาดอร์ เอลซันวาดอร์ ที่ลาออกจากการเป็นสมาชิกองค์การควบคุมยาเสพติดระหว่างประเทศ เพราะไม่ต้องการถูกควบคุมการปลูกกัญชาหรือพืชอื่นที่ยังถือเป็นพืชต้องห้ามนั้นเกิดผลอย่างไร เพราะถ้าประเทศไทยต้องการจะให้เกิดการปลูกกัญชาโดยเสรีบ้าง จะเป็นผลดีกับประเทศและประชาชนอย่างไร ผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากสารสกัดจากกัญชา เมื่อมาผลิตเป็นสินค้าทั้งเพื่อประโยชน์ในการรักษาพยาบาลทางการแพทย์ก็ดี หรือเพื่อนันทนาการก็ดี ถ้าหากมีการสกัดเอาเป็นสารตั้งต้นในการผลิตสิ่งเสพติดอย่างอื่น มีความเป็นไปได้เพียงใด และองค์กรระหว่างประเทศมีข้อกำหนดหรือกฏระเบียบอย่างไรในการควบคุมที่นอกเหนือการปลูกเพื่อเอาดอก (cannabis) และยาง (resin) ของต้นกัญชาเท่านั้น ถ้าการผลิตเพื่อนันทนาการจะถือเป็นความผิดหรือไม่เป็นเรื่องภายในประเทศ ประเทศไทยควรจะแก้กฎหมายอะไรบ้างที่ทำให้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมสารสกัดจากกัญชาสามารถผลิตและส่งออกไปต่างประเทศโดยไม่ขัดต่อข้อตกลงระหว่างประเทศ 

ขณะนี้มีบางประเทศเช่นเม็กซิโก เสปน โปรตุเกส กำลังพิจารณาออกกฎหมายให้ยาเสพติดทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดไม่ถือเป็นความผิดทางอาญา (Decriminalize) โดยไม่ใช่เพื่อประโยชน์ในการผลิตยาเพื่อการรักษาโรคและนันทนาการ แต่เพื่อประโยชน์ในการลดจำนวนผู้กระทำความผิดจากการผลิตและค้ายาเสพติดที่ทำให้เกิดปัญหานักโทษล้นคุก เช่นเดียวกับประเทศไทยที่มีปัญหานักโทษยาเสพติดกว่าหนึ่งในสามของจำนวนนักโทษทั้งหมดที่ต้องโทษ การแก้ไขปัญหาเช่นนี้จะขัดต่อข้อตกลงองค์กรระหว่างประเทศมากน้อยเพียงไร

เรื่องของกัญชารวมทั้งพืชอื่นๆ ที่มีคุณสมบัติคล้ายกัน และยังเป็นพืชต้องห้ามตามที่กำหนดไว้ในสนธิสัญญา Single Convention จึงยังไม่มีอะไรที่ clear cut ชัดเจน และการเดินหน้าโครงการปลูกกัญชาเพื่อเศรษฐกิจก็คงจะเป็นเรื่องที่ห่างไกลจากความเป็นจริงสำหรับประเทศไทย