ประเด็นลึกเศรษฐกิจโลกปีหน้า

ประเด็นลึกเศรษฐกิจโลกปีหน้า

ปี 2019 ที่กำลังใกล้จบนี้ ถ้าย้อนไปดูตั้งแต่ต้นปี คงต้องบอกว่า เป็นปีที่ยุ่งเหยิงพอควร สำหรับเศรษฐกิจโลก

ตั้งแต่ สงครามการค้า ความไม่แน่นอนด้านนโยบาย และการประท้วงรัฐบาลที่เกิดขึ้นกว้างขวางทั่วโลก สะท้อนความผิดหวังที่ประชาชนมีต่อสถานการณ์โลกในปัจจุบัน แสดงออกในรูปของการเดินขบวนคัดค้าน เช่น ประท้วงเรื่องความเหลื่อมล้ำที่นับวันจะรุนแรงขึ้น ประท้วงการบริหารจัดการของรัฐที่แก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่ได้ และยังซ้ำเติมความเป็นอยู่ของประชาชนด้วยปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นและความไม่ปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สิน ประท้วงเพราะไม่พอใจระบบทุนนิยมที่บริษัทธุรกิจและกลไกตลาดไม่ให้ความสำคัญพอกับปัญหาที่กำลังทำลายล้างมนุษยชาติ เช่น ปัญหาโลกร้อนที่กำลังส่งผลกระทบไปทั่ว นี่คือ ความผิดหวังที่ประชาชนมี

ศาสตราจารย์ โทนี่ วอร์คเกอร์ (Tony Walker) มหาวิทยาลัยลาโทรบ ประเทศออสเตรเลีย สรุปการประท้วงเหล่านี้ไว้ในบทความ “2019 was a year of global unrest, spurred by anger at rising inequality, and 2020 is likely to be worse” หรือปี 2019 เป็นปีที่มีการประท้วงทั่วโลก จากความโกรธที่ประชาชนมีต่อปัญหาความเหลื่อมล้ำที่รุนแรงขึ้น และปี 2020 อาจแย่ไปอีก ชี้ให้เห็นว่า ความไม่พอใจและความโกรธของประชาชนที่ได้ขยายไปทั่ว ตั้งแต่ในละตินอเมริกาคือ ชิลี โบลิเวีย เฮติ เอกวาดอร์ เปรู เวเนซูเอลา ในตะวันออกกลาง ที่เลบานอน อิรัค อิหร่าน อียิปต์ ลิเบีย ในยุโรป การประท้วงมีต่อเนื่องที่ฝรั่งเศส สเปน รัสเซีย ในกลุ่มยุโรปตะวันออกก็ โปแลนด์ ฮังการี ในแอฟริกาใต้ ในเอเชีย คือ ฮ่องกง ที่การประท้วงมีต่อเนื่องมานานกว่าหกเดือน และออสเตรเลีย ที่ปัญหาโลกร้อนและไฟป่าทำให้ประชาชนในออสเตรเลียเดือดร้อนมาก นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นปีนี้ และคงจะมีต่อไป

คำถามคือ การประท้วงเหล่านี้มีสาเหตุมาจากอะไร

ในประเด็นนี้ ศาสตราจารย์ Henry Carey แห่งมหาวิทยาลัย Georgia State สหรัฐอเมริกา ให้ข้อสังเกตุว่า แม้สาเหตุของการประท้วงอาจแตกต่างกันตามปัจจัยเฉพาะหรือสถานการณ์ของแต่ละประเทศ แต่ภายใต้ความแตกต่างก็มีความเหมือนในหลายอย่างที่นำไปสู่การประท้วง ความเหมือนเหล่านี้ เช่น ปัญหาความเหลื่อมล้ำ การทุจริตคอร์รัปชั่น และการขยายตัวของเศรษฐกิจในอัตราที่ต่ำ ปัจจัยเหล่านี้ได้กระตุ้นให้ประชาชนออกมาแสดงความไม่พอใจ เรียกร้องหาความเป็นธรรม เรียกร้องให้เอาจริงกับปัญหาคอร์รัปชั่น และเรียกหากลไกประชาธิปไตยที่จะทัดทานการใช้อำนาจหรือการลุแก่อำนาจของผู้นำประเทศ ตัวอย่างล่าสุดก็กรณีสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ ผ่านญัตติขอถอดถอนประธานาธิบดีทรัมป์ ออกจากตำแหน่ง ทั้ง 3 ประเด็นนี้ คือ ความเหลื่อมล้ำ การทุจริตคอร์รัปชั่น และเศรษฐกิจขยายตัวต่ำ ล้วนไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ชี้ว่าความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นและความไม่สนใจของฝ่ายรัฐที่จะแก้ไขปัญหาได้มาถึงจุดที่ประชาชนหมดหวังและหมดความอดทน

ในความเห็นของผม ปรากฎการณ์ความไม่พอใจของประชาชนที่เกิดขึ้นพร้อมกันในหลายประเทศไม่ใช่เรื่องบังเอิญแน่อน แต่เป็นผลผลิตของปฏิสัมพันธ์ (Interaction) ของสามแนวโน้ม ที่กำลังขับเคลื่อนพลวัตและการเปลี่ยนแปลงในเศรษฐกิจการเมืองโลกขณะนี้ที่เราอาจไม่ตระหนักหรือไม่ได้คาดคิด

แนวโน้มแรก คือ ความตกต่ำของภาวะเศรษฐกิจที่เศรษฐกิจทั่วโลกขณะนี้ชะลอตัว เป็นผลทั้งจากวัฏจักรเศรษฐกิจ ปัญหาโครงสร้างที่เศรษฐกิจมี และความผิดพลาดของนโยบาย ซึ่งในประเด็นหลัง ที่สำคัญคือ การถดถอยของระบบการค้าเสรีและการกลับมาของมาตรการกีดกันทางการค้า ที่นำไปสู่ความขัดแย้งและสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ ณ จุดนี้ ไม่มีใครปฏิเสธว่า ผลที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งได้ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกเป็นขาลง และคงจะเป็นขาลงต่อถ้าข้อพิพาทและข้อขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐไม่มีข้อยุติ ทำให้การชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกขณะนี้อาจมีต่อเนื่องและเป็นปัญหาระยะยาว

แนวโน้มที่สอง คือ การเติบโตของการเมืองแบบอำนาจนิยมในหลายประเทศ และผู้นำประเทศที่นิยมการใช้อำนาจก็กำลังมีบทบาทมากในเวทีการเมืองโลก การเมืองแบบอำนาจนิยมนำไปสู่การตัดสินใจและการทำนโยบายที่มองประโยชน์ของประเทศตนเป็นใหญ่ เน้นประโยชน์ระยะสั้นที่จะทำให้ประชาชนของประเทศพอใจด้วยนโยบายประชานิยม ไม่สนใจผลกระทบที่จะมีต่อเศรษฐกิจโลก และทำให้การแก้ไขปัญหาที่เศรษฐกิจโลกมี ที่ต้องการความร่วมมือจากหลายๆ ประเทศทำได้ยากขึ้น เช่น ปัญหาโลกร้อน ที่สำคัญการเติบโตของการเมืองแบบอำนาจนิยม เป็นต้นทุนสำคัญต่อกลไกการตรวจสอบ หรือระบบ check และ balance ที่เป็นหัวใจของการเมืองในระบอบประชาธิปไตย และที่น่าห่วงก็คือ ถ้าการเมืองในแนวนี้เติบโตต่อไปก็จะยิ่งเอื้อให้เกิดการใช้อำนาจที่ไม่ถูกต้อง อำนาจที่ตรวจสอบไม่ได้ และการทุจริตคอร์รัปชั่น

แนวโน้มที่สาม คือ ช่องว่างหรือสูญญากาศในภาวะผู้นำของเศรษฐกิจการเมืองโลก ที่เป็นผลจากการถอนตัวของสหรัฐในเวทีโลก ในการทำหน้าที่รักษาเสถียรภาพเพื่อส่วนรวม ที่สหรัฐได้ทำหน้าที่นี้มาโดยตลอด การถอนตัวของสหรัฐมาพร้อมกับอิทธิพลและความเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของจีนที่มีมากขึ้น นำไปสู่การประทุขึ้นของสงครามเย็นรอบใหม่ระหว่างสหรัฐกับจีนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเป็นความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจและการเมืองโลก ยิ่งไม่มีกลไกรักษาเสถียรภาพแบบที่เคยมี การเมืองแบบอำนาจนิยมก็จะยิ่งเกิดขึ้นง่าย เพราะไม่มีกลไกสากลที่จะคอยตรวจสอบและลดทอนการใช้อำนาจ ผลคือการเมืองอำนาจนิยมในระดับประเทศจะเฟื่องฟู

นี่คือ 3 แนวโน้มที่กำลังเกิดขึ้นในเศรษฐกิจการเมืองโลก และเป็นต้นเหตุแท้จริงของปัญหาความเหลื่อมล้ำ เศรษฐกิจตกต่ำ และการทุจริตคอร์รัปชั่น ที่ประชาชนในหลายประเทศประท้วงคัดค้าน และอาจเป็นแนวโน้มที่จะยืนระยะต่อไปถ้าปัญหาเหล่านี้ไม่มีการแก้ไข นี่คือประเด็นที่เราต้องตระหนัก เพราะจะสร้างความไม่แน่นอนให้กับเศรษฐกิจโลก ตลาดการเงิน และความเชื่อมั่นของนักลงทุน

ดังนั้น เราต้องตระหนักและระวังไม่ให้ปัญหาเหล่านี้เข้ามากระทบหรือกลายเป็นกระแสหลักของการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศของเรา โดยเฉพาะการเมืองแบบอำนาจนิยมที่มุ่งแต่จะเอาอำนาจและหาประโยชน์มากกว่าที่จะพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า ทำให้ประเทศเสียโอกาสและตกต่ำมากขึ้น