ถึงเวลารู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี?

ถึงเวลารู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี?

การประชุมขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ ณ กรุงมาดริด

 ซึ่งกำหนดจะจบเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ใช้เวลาเพิ่มอีก 2 วันจึงจบลงได้ ส่งผลให้การประชุมครั้งนี้ใช้เวลานานที่สุดในบรรดาการประชุมเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ

เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว บทความในคอลัมน์นี้ซึ่งเขียนก่อนการตีพิมพ์ 2 วัน คาดการณ์ไว้ล่วงหน้าว่าจากรายงานของสื่อที่ออกมาแบบประปรายจากกรุงมาดริด การประชุมนี้มีโอกาสประสบความสำเร็จน้อย และก็เป็นดังคาด แม้จะเพิ่มการประชุมอีก 2 วันตามด้วยการแถลงว่าประสบความสำเร็จหลายด้านก็ตาม

ความสำเร็จจริงดูจะมีเพียงด้านเดียวคือ การประชุมครั้งต่อไปในตอนปลายปีหน้าว่าด้วยเรื่องนี้ที่เมืองกลาสโกว์ สกอตแลนด์ จะเกิดขึ้นแน่นอน และก่อนถึงวันนั้น ประเทศต่างๆ จะกลับไปทำการบ้านให้เสร็จและนำมาเสนอว่ารัฐบาลของตนจะทำอะไรต่อไปเพื่อบรรลุเป้าหมายของการลดก๊าซเรือนกระจก

เรื่องการกลับไปทำการบ้านแล้วกลับมาเสนอใหม่นี้มีมาเป็นประจำ จึงขอคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าว่าเมื่อถึงเวลาประชุมครั้งหน้า การสรุปแนวเดียวกันนี้มีโอกาสเกิดซ้ำอีกสูงมาก

ในบรรดาประเทศ หรือกลุ่มประเทศซึ่งมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่เข้ารวมประชุม มีกลุ่มสหภาพยุโรปเท่านั้นที่ดูจะไม่ใช้การเตะถ่วง กระนั้นก็ตาม ยังมีการยกเว้นให้โปแลนด์ซึ่งต้องพึ่งถ่านหินจำนวนมากเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า

ก่อนการประชุมที่เมืองกลาสโกว์ กลุ่มสหภาพยุโรป จะประชุมสุดยอดกับจีนเพื่อแสวงหาจุดยืนร่วมกัน นักวิเคราะห์จึงดูจะฝากความหวังไว้กับการประชุมนี้ แต่ผมมองว่าน่าจะเป็นความหวังที่มีโอกาสเป็นจริงได้ต่ำ ผมสรุปเช่นนี้เพราะมีปัจจัยที่ก่อให้เกิดความสงสัยอยู่มาก นั่นคือจีนปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลก แต่คงต้องการทำประชาสัมพันธ์ในแนวโยนขยะให้สหรัฐซึ่งกำลังอยู่ในกระบวนการถอนตัวจากข้อตกลงที่ทำไว้ ณ นครปารีส เมื่อปี 2558 ทั้งที่ตนยังปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงมากเป็นอันดับ 2 รองจากจีน

ดังที่ทราบกันดี จีนกับสหรัฐกำลังพิพาทกันหนักทั้งในด้านการค้าขายและด้านการแผ่อิทธิพลเข้าไปครอบงำประเทศกำลังพัฒนา

เนื่องจากรายงานด้านวิทยาศาสตร์ชี้บ่งว่าภาวการณ์ด้านความเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศดูจะเลวร้ายขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ในขณะที่ยังคาดหวังไม่ได้ว่าประเทศในระดับผู้นำจะทำอะไรให้บรรลุเป้าหมายตามข้อเสนอของฝ่ายวิทยาศาสตร์ ความเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศจะทำให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นไปเกิน 2 องศาเซลเซียสในอีก 30 ปีข้างหน้าเมื่อเทียบกับสมัยก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมแน่นอน นั่นหมายความว่าส่วนหนึ่งของกรุงเทพฯ และพื้นที่ลุ่มต่ำของไทยจะจมบาดาลเป็นเวลานานในแต่ละปีและภาคเกษตรกรรมจะประสบ ทั้งภาวะภัยแล้งอันยาวนานสลับกับภาวะน้ำท่วมสูง

ผมเสนอไว้หลายครั้งเรื่องย้ายสำนักงานราชการส่วนกลางทั้งหมดออกจากกรุงเทพฯ ไปไว้ ณ เมืองใหม่ในที่ปลอดภัยกว่าและสร้างระบบสระพวง แก้ภาวะภัยแล้ง ณ วันนี้โอกาสที่รัฐบาลจะสร้างเมืองใหม่ยังใกล้ศูนย์ ส่วนด้านสระพวงเริ่มมีความหวังอย่างมากเนื่องจากภาคเอกชนสนใจลงมือทดลองทำธนาคารน้ำใต้ดินอย่างกว้างขวางขึ้น

สองตัวอย่างนี้น่าจะชี้บ่งว่าอย่ารอรัฐบาลเรื่องการสู้กับผลพวงของภาวะโลกร้อน นั่นคงหมายความว่าถึงเวลาพิจารณาทำตามคำแนะนำในกลอนของสุนทรภู่วรรคส่งที่ว่า “รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี”

เนื่องจากกลอนวรรคนี้อาจตีความหมายไปในทางลบได้สูง จึงควรนำวรรครองมาเสนอด้วยเป็น “รู้อะไรไม่สู้รู้วิชา รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี” เพื่อให้ได้ใจความไปในทางบวกที่เราปรารถนา นั่นคือใช้ปัญญาเอาตัวรอด

เนื่องจากสุนทรภู่มีชีวิตคาบเกี่ยวทางเวลากับของปราชญ์ทางเศรษฐศาสตร์และจริยศาสตร์ อดัม สมิธ ผู้เสนอแนวคิดอันโด่งดังชื่อ “มือที่มองไม่เห็น” (Invisible Hand) หากเรานำแนวคิดของทั้งสองมารวมกัน เราน่าจะได้ทางออกในภาวะที่ภาครัฐไม่มีความพร้อมที่จะนำประเทศชาติอย่างจริงจัง นั่นคือเราต่างคนต่างใช้ปัญญาตั้งรับปัญหาที่จะมาถึง เมื่อรวมกันเข้า การกระทำของเราจะมีพลังพอสำหรับพาเราให้เอาตัวรอดพร้อมกันได้