ปีใหม่...แอบส่องนกยูง ม่วน “ยูงฟ้อนหาง”

ปีใหม่...แอบส่องนกยูง ม่วน “ยูงฟ้อนหาง”

ในฐานะแหล่งชมนกยูง จ.พะเยา ติดอันดับ 2 ของโลกในขณะนี้ มีนกยูงกระจายให้ชมอยู่ทั่วทุก 9 อำเภอ

โดยเฉพาะที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเวียงลอ อ.จุน โดยช่วงเดือน พ.ย.- ก.พ. นกยูงจำนวนมากจะมาผสมพันธุ์บริเวณชายป่าพื้นที่ จ.พะเยา เป็นโอกาสเหมาะที่จะเห็นนกยูง

แม้นอกฤดูกาลผสมพันธุ์ ก็สามารถชมนกยูงได้ใกล้ชิด 

วัดถ้ำเทพนิมิต อ.ดอกคำใต้ มีนกยูงประมาณ 100 ตัวที่ยังบินวนเวียนลงมาหาข้าวก้นบาตรกินทั้งวัน ตลอดปี โดยไม่หนีไปไหน แต่ก่อนมากกว่า 200 ตัว แต่ลดน้อยลงเนื่องจากบริเวณรอบๆ วัดประสบภัยแล้ง ไฟป่าลุกไหม้ ทำให้ไหม้รังนกยูงที่วางไข่ไว้

นกยูงเป็นนกจำพวกไก่ฟ้าขนาดใหญ่ที่สุดในวงศ์เดียวกันนี้ มีอายุยืนมากถึง 25 ปี จุดเด่นคือ เพศผู้มีขนหางยาวสีสันเลื่อมพราย เมื่อแผ่ขยายเพื่ออวดเพศเมียที่เรียกยูงรำแพนจะสวยงามมาก นอกจากสีสันแววมยุราตื่นตาตื่นใจ การที่นกยูงซึ่งตัวใหญ่มีน้ำหนัก แต่บินได้ ทำให้นักวิทยาศาสตร์พยายามหาคำตอบ 

เรื่องเล่าปรัมปราชาวล้านนาแสดงถึงศรัทธาแห่งนกยูงในการปกปักรักษา ขนาดถือเป็นปางหนึ่งของพระพุทธเจ้า ซึ่งถ้าสืบค้นคติพุทธศาสนามหายาน แบบตันตระ นิกายวัชรยาน ที่มีอิทธิพลในล้านนาก็จะพบเรื่องราวภาพเขียนนกยูงมากมาย เช่น พระโพธิสัตว์แห่งปัญญาประทับบนหลังนกยูงที่มีนามว่า มหามยุรี มีสถานภาพเหมือนเป็นเทพองค์หนึ่ง

โดยไม่จำเป็นต้องรู้ถึงความเชื่ออะไร ดูนกยูงคือชื่นชมความงามราวเทพนิมิตร

นกยูงรำแพนบนดินว่างามแล้ว จะยิ่งงามสมเป็นปักษาสรวงสวรรค์โดยแท้ ขณะพวกเขาโบยบินทาบบนท้องฟ้า ปุยเมฆหรือดวงดาวยามพลบค่ำ จากลำธารบนพื้นที่สูงกลับสู่ป่าใหญ่ซึ่งเป็นป่าดิบแล้ง และป่าผลัดใบผสมอันเป็นชนิดของป่าภาคตะวันออกของอินเดียติดกับพม่าและทางภาคเหนือของไทย ที่ทำนุบำรุงชีวิตนกยูงไทยมาเนิ่นนาน

ผู้เขียนที่เพิ่งจะได้หัดฟ้อนเมือง (หรือฟ้อนครัวทาน ฟ้อนเล็บ หรือฟ้อนเทียน  แล้วแต่จะเรียกตามโอกาสที่รำและการสวมเล็บหรือถือเทียนจุดสว่าง) เป็นครั้งแรกในชีวิต ณ ศูนย์ผู้สูงอายุ อ.เมือง ก็พอจะสัมผัสได้ถึงความผูกพันและแรงบันดาลใจที่ชาวล้านนาได้จากนกยูง

เมื่อยืนตรงนิ่งดีแล้ว แม่ครูผู้สอนจากวัดภูมินทร์ ให้เริ่มด้วยพนมมือสวดนะโม 3 จบ ต่อด้วยอรหังสัมมา... ทำให้กายใจที่กระดุกกระดิกซัดส่ายเมื่อได้พบปะกลุ่มสหายฟ้อนรำสงบลงได้บ้าง

ท่าที่ 1 เขียนบนกระดานว่า 1.ท่าเตรียมตัว (น่าสังเกตแม่ครูเรียกขานท่านี้แบบไม่เป็นทางการว่า"ยูงฟ้อนหาง" โดยเขียนไว้ในวงเล็บเล็กๆ บนกระดาน) ทำง่ายๆ ด้วยการม้วนมือจีบส่งหลัง นิ่งอยู่ ทำให้นึกถึงยูงก่อนรำแพนเป็นอย่างยิ่ง

จากนั้นเริ่มย่อเข่าขยับก้าวชุดเดิน 7 ก้าวเล็กๆ ตามจังหวะดนตรีที่คุ้นหูของชาวล้านนา บรรเลงด้วยฉาบ กลองและปี่ที่บ้างก็ได้ยินว่า ต๊ะ ตุ้ม โม้ง หรือ แซ่ ตุ๊บ โม้ง ที่เป็นการเดินวนรอบตัวเองไม่เคลื่อนที่หรืออย่างเป็นการเคลื่อนไปข้างหน้าช้าๆ ก็ได้ แขนและมือ 2 ข้างที่จีบส่งหลังอยู่ จึงวาดเป็นวงตามไป 

ให้อารมณ์ตอนนกยูงเดินวนนิดๆ โดยปีกหางแนบลำตัวอยู่ นึกชื่นชมภูมิปัญญาล้านนาที่เห็นว่า นั่นคือยูงกำลังฟ้อน (ด้วย)หาง ก่อนจะรำแพนฉับพลัน

ครบชุด 7 ก้าวเดินเท้าชิดกันแล้ว จึงออกเดินชุดใหม่และเริ่มท่าใหม่ ยกมือจีบขึ้นคล้ายท่า “จันทร์ทรงกลด” ในรำวงมาตรฐาน ท่านี้บ้างเรียก “กลางอัมพร” เพื่อจะต่อด้วยม้วนมือไหว้หว่างคิ้ว ต่อทันทีด้วยท่าบิดบัวบาน ซึ่งสำหรับผู้เขียนท่านี้ให้อารมณ์ยูงรำแพนดี ๆนี่เองด้วยการเปรียบกับบัวบาน เป็นท่าเด็ดที่สุดในฟ้อนเมืองด้วยหลายๆ ประการ

ท่าที่ 1 นั้นหลายเว็บไซต์เรียก จีบส่งหลังอ้างถึงกระบวนท่าแบบฉบับของกรมศิลปากร บางเว็บไซต์พูดถึงท่าฟ้อนเมืองโดยไม่มีเอ่ยถึงยูงฟ้อนหางบางตำหรับอาจมีเพิ่มท่า ตัดตอนหรือลำดับก่อนหลังตามแต่ครูจะกำหนดในจำนวน 10-15 ท่า อย่างไรก็ดี แม้จะเรียกบางท่าด้วยชื่อต่างกัน แต่ที่เหมือนกันตรงกันหมด คือท่าที่หนึ่งถึงสาม เริ่มตั้งแต่ ยูงฟ้อนหางหรือ จีบส่งหลังจนถึงท่าที่ 3 ซึ่งเรียกชื่อเดียวกันหมดคือบิดบัวบาน และท่าสุดท้ายที่ย่อตัวลงไหว้ในท่าบิดบัวบาน บ้างเรียกท่านี้ว่า วันทาบัวบาน

ท่าเด็ด(ชีพ)ท้ายสุดนี้ต้องย่อตัวโดยมือรำท่าบิดบัวบานด้วย ให้อารมณ์ยูงหุบหางลาจากการรำแพน ได้เฮลุ้นกันเพราะย่อไม่ได้ทุกคน บ้างย่อได้ก็อาจลุกไม่(ค่อย)ขึ้น

 ด้วยแม่ครูเรียกท่าฟ้อนบางท่าด้วยชื่อในชุดรำวงมาตรฐาน ที่เคยเรียนสมัยชั้นมัธยม เช่น จันทร์ทรงกลด ผาลาเพียงไหล่ สอดสร้อยมาลา พรหม 4 หน้า อีกทั้งหลายท่าฟ้อนมีเรียกด้วยชื่อต่างกันในที่อื่น น่าสืบค้นว่าการเรียกชื่อท่าฟ้อนเมืองมีความเป็นมาอย่างไรแต่เดิมกระทั่งเจ้าดารารัศมีฟื้นฟูในรัชกาลที่ 5 อีกทั้งการสถาปนารำวงมาตรฐานโดยกรมศิลปากร สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม มีผลถึงการ“จัดระเบียบ” ฟ้อนของล้านนาบ้างหรือไม่

จะอย่างไร ไหนๆ ทั้งผู้ว่าฯและนายอำเภอดอกคำใต้ สนับสนุนเทศบาลตำบล มีคณะกรรมการหมู่บ้านเตรียมปรับพัฒนาสถานที่ จัดทำซุ้ม จุดส่องชมนกยูง จัดจำหน่ายอาหารนกยูง วัฒนธรรมสุนทรีย์ ยูงฟ้อนหางอาจสร้างนวัตกรรมได้ในทางสันทนาการและ มูลค่าเพิ่มในการท่องเที่ยว.