เศรษฐกิจสร้างสรรค์: จากความคิดสร้างสรรค์ สู่มูลค่าเศรษฐกิจ(2

เศรษฐกิจสร้างสรรค์: จากความคิดสร้างสรรค์ สู่มูลค่าเศรษฐกิจ(2

ประเทศต่างๆ ทั่วโลกเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์เพิ่มมากขึ้น

หลายประเทศประสบความสำเร็จอย่างมากให้การนำความคิดสร้างสรรค์มาเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับสินค้าและบริการให้ระบบเศรษฐกิจ อาทิ สหราชอาณาจักรที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากอุตสาหกรรมภาพยนตร์ โทรทัศน์ ดนตรี แฟชั่น สิ่งพิมพ์ โฆษณา สื่อดิจิทัล ตลอดจนอุตสาหกรรมอื่นๆ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคงจะเป็นกระแสของหนังสือเยาวชนชื่อดัง Harry Potter ที่กลายเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกและต่อยอดไปยังอุตสาหกรรมภาพยนตร์ สินค้าที่ระลึก วีดีโอเกมส์ สวนสนุก ตลอดจนการท่องเที่ยวที่สามารถสร้างรายได้จำนวนมากให้กับประเทศ

สหราชอาณาจักร ต้นแบบในการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์

เมื่อพูดถึงแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศต่างๆ ประเทศที่มักจะถูกยกมาเป็นกรณีศึกษา ได้แก่  สหราชอาณาจักรหรือประเทศอังกฤษ แนวคิดเกี่ยวกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้ปรากฏเป็นนโยบายของรัฐบาลครั้งแรกในสมัยนายกรัฐมนตรีโทนี่ แบลร์ ในปี 2540 ในชื่อ “Cool Britannia”   หลังจากกระแสวัฒนธรรมดนตรีบริตป็อป (Britpop) เป็นที่นิยมและกระจายไปทั่วโลกในยุค 1990s ไม่ว่าจะเป็นวง Spice Girls ที่ทำให้สาวๆ ทั่วโลกหันมาใส่รองเท้าผ้าใบแพลตฟอร์มสูง หรือวง Oasis ที่ทำให้หนุ่มๆ หันมาแต่งตัวแนว Football Casual กับการใส่เสื้อโปโล หมวก Bucket และเสื้อ Parka ตามแบบ Liam Gallagher

อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของอังกฤษได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยอังกฤษนับเป็นประเทศแรกๆ ที่มีการวางแผนพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สาขาต่างๆ ให้เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างเป็นระบบ มีการศึกษาและจำแนกประเภทอุตสาหกรรม การจัดเก็บข้อมูลและสถิติที่เกี่ยวข้อง และการวางนโยบายและแผนงานในระดับต่างๆ ทั้งในระดับชาติ รายอุตสาหกรรม และเฉพาะเรื่อง มีการจัดตั้งสภาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industries Council: CIC) ที่ประกอบไปด้วยผู้แทนจากภาครัฐและภาคอุตสาหกรรมสร้างสรรค์มาร่วมกันกำหนดแนวทางและแผนงานเพื่อเร่งสร้างการเติบโตให้กับอุตสาหกรรม โดยในปี 2557 CIC ได้ประกาศยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์สำหรับการทำงานร่วมกันระหว่างอุตสาหกรรมเป็นครั้งแรก ในชื่อ Creative UK Economy และมีการปรับปรุงให้มีความทันสมัยและสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปในปี 2559 กลายเป็นยุทธศาสตร์ Create Together Strategy ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

ร่วมกันมองอนาคต กำหนดยุทธศาสตร์ และนำความท้าทายมากำหนดโจทย์ในการพัฒนา

ภายใต้ Create Together Strategy จะเน้นการขับเคลื่อนใน 8 ด้าน ได้แก่ (1) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล (2) การสร้างความหลากหลายในกลุ่มแรงงานสร้างสรรค์ (3) การพัฒนาการศึกษาและทักษะฝีมือแรงงาน (4) การสนับสนุนเงินทุน (5) การจัดการด้านทรัพย์สินทางปัญญา (6) การทำให้เป็นสากล (7) การส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในทุกพื้นที่และภาคส่วน และ (8) การปรับกฎระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ ให้เอื้อต่อการเติบโตของอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ผู้แทนจากภาครัฐและภาคอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ยังร่วมกันมองความท้าทายในอนาคตและนำมากำหนดโจทย์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์เพื่อให้อังกฤษก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต 4 ด้าน ได้แก่ (1) การใช้ปัญญาประดิษฐ์และการปฏิวัติข้อมูลเพื่อนำไปสู่ AI & Data Economy (2) เป็นผู้นำในการเคลื่อนที่ของคน สินค้าและบริการในอนาคต (Future of Mobility) (3) เติบโตอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Clean Growth) และ (4) ใช้นวัตกรรมเพื่อตอบสนองความต้องการของสังคมสูงวัย

ภาครัฐและภาคเอกชนร่วมกันขับเคลื่อนอย่างจริงจัง

การดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ Create Together Strategy ไม่ได้เป็นเพียงหน้าที่ของภาครัฐเท่านั้น ภาคเอกชนเองก็มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนให้เกิดการเติบโตของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์อย่างแพร่หลาย รวมถึงสร้างความเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมอื่น สำหรับหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่กำกับดูแลเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ตลอดจนขับเคลื่อนการดำเนินงาน และสนับสนุนการส่งออก ได้แก่ กระทรวงดิจิทัล วัฒนธรรม สื่อ และการกีฬา (Ministry of Digital, Culture, Media and Sport)  ทั้งนี้ได้มีการจัดตั้งหน่วยงานภาครัฐขึ้นเพื่อทำหน้าที่พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาคน ให้การสนับสนุนทางด้านการเงิน การวิจัย และการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีและสิทธิประโยชน์ในโครงการต่างๆ ในขณะที่ภาคเอกชนและภาคการศึกษาจะทำหน้าที่ผลิตบุคลากรเข้าสู่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ

จากการพัฒนาอย่างเป็นระบบส่งผลให้มูลค่าเพิ่มโดยรวม (Gross Value Added : GVA) ของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในอังกฤษมีมูลค่าประมาณ 1 แสนล้านปอนด์ ในปี 2560 หรือเท่ากับเพิ่มขึ้น 11.5 ล้านปอนด์ในทุกชั่วโมง และระหว่างปี 2553 – 2560 GVA ได้เพิ่มขึ้น 53% ในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ซึ่งมากกว่าในภาคเศรษฐกิจโดยรวมที่ GVA เพิ่มขึ้นประมาณ 30% ในช่วงเวลาเดียวกัน นอกจากนี้ ยังก่อให้เกิดการจ้างงานในประเทศ จำนวน 3.12 ล้านราย ในปี 2560 หรือคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 11 ของการจ้างงานทั้งหมดในประเทศ ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงการจ้างงานของผู้ที่ประกอบอาชีพสร้างสรรค์ในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์เท่านั้น แต่ยังรวมการจ้างผู้ประกอบอาชีพอื่นในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และผู้ที่ประกอบอาชีพสร้างสรรค์ในอุตสาหกรรมอื่นๆ ด้วย ในด้านของการส่งออก มีมูลค่าการส่งออกบริการจากภาคอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สูงถึง 32.7 ล้านปอนด์ ในปี 2560 หรือคิดเป็น 11% ของการส่งออกบริการทั้งหมด และมูลค่าการส่งออกในช่วงปี 2553 – 2560 เพิ่มสูงขึ้นถึง 122.6%

จะเห็นได้ว่า ความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของสหราชอาณาจักรเป็นผลมาจากการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์อย่างเป็นระบบ มีการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน และที่สำคัญคือเป็นการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน อย่างไรก็ดี รูปแบบในการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของแต่ละประเทศที่ประสบความสำเร็จมีกลยุทธ์แตกต่างกันไป ในบทความครั้งหน้า เราจะมาดูแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศต่างๆ ในเอเชียกันบ้าง

โดย... 

ณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์

สถาบันอนาคตไทยศึกษา

รานี อิฐรัตน์

สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง