Smart​ Condominium​ Manager​(s)... หาได้ยาก​(2)

Smart​ Condominium​ Manager​(s)... หาได้ยาก​(2)

ความเดิมจากตอนที่แล้ว ได้กล่าวถึงการแต่งตั้งผู้จัดการ และได้ประมวล 8 สาเหตุที่ผู้จัดการ​ พ้นจากตำแหน่ง​

หรือเมื่อครบวาระ​ และไม่สามารถสรรหาผู้จัดการ​ รายใหม่ให้แก่นิติบุคคลอาคารชุด​ พร้อมทิ้งท้ายด้วยคำถามที่ว่า นิติบุคคลอาคารชุด​ เจ้าของร่วม​ หรือตัวแทนเจ้าของร่วม​ คณะกรรมการ​ จะได้ผู้จัดการที่ดี​ มีความรู้​ ความสามารถ​ อีกทั้งซื่อสัตย์​ สุจริต​ ปฏิบัติหน้าที่ให้แก่ท่านได้อย่างเต็มความรู้​ ความสามารถได้อย่างไร ?

อย่างไรก็ดี​ ต้องยอมรับว่าประเด็นการจัดให้มีผู้จัดการ​ คนดี​ คนเก่ง​ หรือคนที่มีความรู้​ ความสามารถ​ เป็นที่ยอมรับของเจ้าของร่วม​ ตัวแทนผู้ซื้อ​ ผู้ขาย​ และคณะกรรมการ​ ได้มีการพูดจา​ หารือมานานในสมาคมนักบริหารอาคารชุด ​- หมู่บ้านจัดสรรไทย​ เหตุเพราะสมาคมฯ​ รับทราบปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้นกับทุกนิติบุคคลอาคารชุด​ "ทั่วประเทศ" มีข้อร้องเรียนจากการปฏิบัติหน้าที่ผู้จัดการ​ สารพัด​ ทั้งคดโกง​ ยักยอกเบียดบังค่าส่วนกลาง​ รายได้อื่นๆ​ หรือเป็น​ "นอมินี" ของผู้ประกอบการ​ เบียดบังเวลาทำงาน​ แต่รับค่าจ้าง​ "เต็มเดือน" หรือไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่​ เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ทรัพย์ส่วนกลาง​ และส่วนบุคคล​ในทางอื่น หรือจงใจไม่ปฏิบัติตามมติคณะกรรมการ​ หรือที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วม​ หรือไม่ปฏิบัติตามสัญญาจ้าง​ ฯลฯ​ เป็นต้น​ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของร่วม​ คณะกรรมการ​ และนิติบุคคลอาคารชุด

เจ้าของร่วม​ หรือคณะกรรมการ​ "ส่วนน้อย" จำนวนน้อย​ ที่จะลุกขึ้นต่อสู้​ ความไม่ถูกต้อง​ ไม่สุจริตอันเกิดจากการกระทำของผู้จัดการ​ "บางราย" ปล่อยปละละเลย​ หรือไม่ดำเนินคดีแม้เกิดความเสียหายตามที่ผู้จัดการก่อ หรือกระทำขึ้น​ หรือผู้จัดการบางราย​ ไม่สำนึก​ เห็นผิดเป็นชอบ​ หรือมุ่งแต่หาผลประโยชน์ส่วนตน​ และพวกพ้อง​ เช่นนี้แล้ว​ อาคารชุดที่ท่านซื้อ​ ลงทุน​ หรือใช้ประโยชน์​ อยู่อาศัย​ จะมีสภาพที่ดี​ มีระบบการจัดการบริหารทรัพย์ส่วนกลางที่ได้มาตรฐานสากลได้อย่างไร​ หรือท่านคิดตัดช่องน้อยแต่พอตัว​ ปล่อยให้เจ้าของร่วม​ หรือคณะกรรมการ​ จัดการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าวแทนท่านโดยลำพัง​ ? 

อย่างไรก็ดี​ ผู้จัดการ​ อาจกล่าวได้ว่าเป็นเพียง​ "ลูกจ้าง" (Employee)​ ผู้ปฏิบัติงานให้แก่ เจ้าของร่วม​ คณะกรรมการ​ และนิติบุคคลอาคารชุด​ ผู้ว่าจ้าง​ ผู้จัดการได้รับค่าตอบแทน​ ค่าจ้างตามสัญญาจ้าง​ หรือตามข้อตกลงการจ้าง​ ผู้จัดการ​ ไม่ใช่​ "เจ้านาย" (Employer)​ เจ้าของร่วม​ คณะกรรมการ​ ผู้ว่าจ้าง​ แต่อย่างใด​ อีกทั้ง​ ผู้จัดการ​ บางราย​ มิใช่เจ้าของร่วม​ หรือคู่สมรสของเจ้าของร่วม​ เป็นบุคคล​ หรือ นิติบุคคลภายนอก​ จะมีบทบาท​ อำนาจเหนือเจ้าของร่วม​ คณะกรรมการ​ ผู้ว่าจ้างได้อย่างไร​ เรื่องนี้​ เป็นข้อเท็จจริง​ เกิดขึ้นมาตั้งแต่การตราพ.ร.บ.อาคารชุด​ ปี​ 2522​ และข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุด​โดยภาครัฐ​ "กรมที่ดิน"

เช่นนี้แล้ว​ นิติบุคคลอาคารชุด​ เจ้าของร่วม​ คณะกรรมการ​ ผู้ว่าจ้าง​ จะสามารถสรรหา​ คัดเลือก​ ผู้จัดการ ที่ดี​ มีประสิทธิภาพ​ ทำงาน​ หรือปฏิบัติหน้าที่ให้แก่ตน​ (นิติบุคคลอาคารชุด)​ ได้อย่างไร​ ? 

*คำตอบ​* อาจไม่แตกต่างจากฝ่ายทรัพยากรบุคคลของนิติบุคคล​ องค์กร​ หน่วยงานทั่วไป​ ปฏิบัติในการรับสมัคร​ คัดเลือกบุคลากร​ ที่ขาด​ หรือทดแทน​ หรือเพิ่มเติม​ นิติบุคคลอาคารชุด​ "ผู้ว่าจ้าง" ต้องเริ่มต้นปฏิบัติ​ ดังต่อไปนี้

1.​ กำหนด​ เขียนคุณสมบัติ​ ไม่มีลักษณะต้องห้าม​ ตามข้อบังคับ​ และกฎหมาย​ รวมทั้งแจ้งความประสงค์ด้านอื่นๆ​ ที่ต้องการ​ หรือจำเป็นต้องมี​ ตลอดจนหน้าที่ความรับผิดชอบการทำงานของผู้จัดการเป็นหนังสือให้ชัดเจน 2.​ ประกาศรับสมัครผู้จัดการให้สาธารณะรับทราบ 3.​ สัมภาษณ์​ ทดสอบข้อเขียน​ สอบถามวิสัยทัศน์​ ประสบการณ์​ ความรู้​ ความสามารถ 4.​ ตรวจสอบผลงาน​ ประวัติการทำงานในอดีต​ ตรวจสอบประวัติอาชญากรรม​ หรือมีคดีพิพาททางอาญา​ ได้รับโทษจำคุกถึงที่สุดหรือไม่ 

5.​ จัดหาบุคคลที่น่าเชื่อถือ​ หรือหาหลักทรัพย์​ค้ำประกันความเสียหายจากการทำงาน​ ปฏิบัติงาน 6.​ กำหนด​ เขียนสัญญาจ้าง​ หรือข้อตกลงการจ้างเป็นหลักฐาน​ 7.​ คุณสมบัติเฉพาะตน​ เช่น​ ความอ่อนน้อมถ่อมตน​ แยกแยะปัญหา​ หรือรับแรงกดดันการทำงานมากน้อยเพียงใด​ หรือมีแผนปฏิบัติงานที่เหมาะสมมากน้อยอย่างไร 8.​ มีความตั้งใจ​ ความรับผิดชอบ​ เป็นบุคคล​ประเภท "เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ" หรือไม่ 9.​ รู้​ และรักษาผลประโยชน์ของเจ้าของร่วม​ คณะกรรมการ​ นิติบุคคลอาคารชุด​ "ผู้ว่าจ้าง" หรือไม่

ส่วนเจ้าของร่วม​ "รายใหญ่" ผู้ประกอบการโครงการ​ เมื่อทราบแผนการคัดเลือก​ สรรหาผู้จัดการของคณะกรรมการดังที่กล่าวข้างต้น​ เมื่อทราบเป็นเรื่องที่ดี​ เหมาะสม​ และเป็นประโยชน์แก่ นิติบุคคลอาคารชุด​ ส่วนรวม อาจส่งผู้แทน​ 1​ คน​ เข้าร่วมปฏิบัติหน้าที่กรรมการร่วมกับฝ่ายผู้ซื้อ​ ก็สามารถกระทำได้​ เพราะกฎหมาย ​ และข้อบังคับเปิดช่องอยู่แล้ว​ อย่างไรก็ดี​ เมื่อที่ประชุมคณะกรรมการ​ เห็นชอบ มีมติแต่งตั้งผู้จัดการ​เป็นที่เรียบร้อยแล้ว​ *ท่านอย่าได้ตะแบง* ฝืนมติที่ประชุมคณะกรรมการ​ หรือหากท่านจะโต้แย้งมติที่ประชุมคณะกรรมการ​ หรือกระบวนการคัดเลือกสรรหาผู้จัดการตามที่คณะกรรมการกำหนด​ ประกาศไว้ตั้งแต่ต้น​ ท่านก็ควรโต้แย้งเรื่องดังกล่าวในคราวแรก​ และอย่าได้ใช้สิทธิของตน​ อ้างต่อ เจ้าของร่วม​ หรือตัวแทนเจ้าของร่วม​ คณะกรรมการ​ เป็นมติที่ประชุมคัดเลือก​ สรรหาผู้จัดการ​ รายใหม่ที่ไม่ถูกต้อง​ เหตุเพราะ​ ท่านได้แทรกแซงกิจกรรมทรัพย์ส่วนกลางการบริหารนิติบุคคลอาคารชุด​ จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่นิติบุคคลอาคารชุดได้

โดย... 

พิสิฐ ชูประสิทธิ์

นายกสมาคมนักบริหารอาคารชุด – หมู่บ้านจัดสรรไทย

“ที่ปรึกษา” ฝ่ายบริหารทรัพย์สิน ธนาคารพาณิชย์ชั้นนำ

[email protected]