นวัตกรรมการเกษตรของอินเดีย

นวัตกรรมการเกษตรของอินเดีย

ความคิดริเริ่ม ความสามารถในการสร้างซอฟท์แวร์โปรแกรมตลอดจนความสามารถอื่น ๆ ในด้านไอทีเป็นหัวใจของ start-up ที่กำลังเขย่าโลกอยู่ในทุกวันนี้

 ในอินเดียมี start-up ด้านการเกษตรหลายเรื่องที่น่าสนใจเพราะมีผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตของเกษตรกรซึ่งมีอยู่ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 43 ของประชากร 1,300 ล้านคน

ปัญหาของเกษตรกรอินเดียไม่ต่างไปจากอีกหลายประเทศกำลังพัฒนานั่นก็คือมีผลผลิตต่ำอันเนื่องมาจากผลิตภาพ (productivity) หรือผลผลิตต่อหนึ่งหน่วยปัจจัยการผลิตไม่ว่าจะเป็นแรงงานหรือที่ดินต่ำ

ผลิตภาพด้านเกษตรของอินเดียต่ำกว่าไทย     อินโดนีเซีย      จีน      เวียดนาม   แม้แต่สินค้าสำคัญ ๆ ของอินเดีย    เช่น    ข้าว  และนมก็อยู่ในระดับต่ำ     บางตัวต่ำกว่าตัวเลขเฉลี่ยของโลกด้วยซ้ำ

รัฐบาลอินเดียสนับสนุน start-up ที่เกี่ยวกับนวตกรรมด้านการเกษตรอย่างมากเพื่อแก้ปัญหาผลิตภาพ    ในปี 2019 start-up ด้านเทคโนโลยีนี้พุ่งสูงขึ้นร้อยละ 25 จนมีจำนวนถึง 450 แห่ง     มีเงินทุนเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าตัว   จนถึงยอด 248 ล้านเหรียญสหรัฐ (7,500 ล้านบาท)

ในด้านการเลี้ยงโคนม     start-up แห่งหนึ่งของอินเดียที่มีชื่อว่า Stellapps Technologies คิดค้นวิธีเพิ่มผลผลิตของวัวนมอย่างสำคัญ    บริษัทนี้ตั้งในปี 2011 โดยมี 5 บริษัทโทรคมนาคมในเมือง         บังกาลอร์ร่วมลงทุน     บริษัทมุ่งเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในทุกขั้นตอนของอุตสาหกรรมนี้ผ่านการใช้ sensors และข้อมูล     แม้แต่ Bill & Melinda Gates Foundation ก็ร่วมลงทุนด้วย

Stellapps ประดิษฐ์เครื่องมือที่มีชื่อว่า mooOn   ซึ่งทำหน้าที่คล้ายนาฬิกาสุขภาพที่กำลังเป็นที่นิยมอย่างมากในสังคมขณะนี้   มันบอกจำนวนก้าวที่เดิน      อัตราการเต้นของหัวใจ    จำนวนชั่วโมงที่นอนหลับสนิท     ตลอดจนข้อมูลอื่น  ที่เกี่ยวกับสุขภาพ    แต่แทนที่เครื่องมือเช่นนี้จะอยู่ที่มือคนหากเป็น mooOn ไปผูกไว้กับขาของแม่วัว เพื่อติดตามสุขภาพของแม่วัวเพื่อการผสมพันธุ์ให้ได้รับผลประโยชน์มากที่สุด     อีกทั้งเพื่อป้องกันการเจ็บไข้ของแม่วัวอีกด้วย

วัวนั้นเป็นสัตว์ประเสริฐที่มีคุณประโยชน์แก่มนุษย์อย่างยิ่ง   ทุกส่วนของวัวไม่ว่าเขา     หนัง     เนื้อ     กระดูก    รับใช้มนุษย์ได้หมดทั้งสิ้น    มีหลักฐานว่ามนุษย์นำวัวมาเลี้ยงตั้งแต่เมื่อ 12,000 ปีก่อนเพื่อกินเนื้อ     แต่นำมาใช้ประโยชน์ในด้านผลิตภัณฑ์จากนมเมื่อ 7,000 ปีก่อนคริสตกาล และกลายเป็นอาหารสำคัญของมนุษย์ตั้งแต่ศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา

หากแม่วัวจะมีน้ำนมให้คนเอาไปใช้ประโยชน์ได้นั้นมันต้องท้อง  คลอดลูกและมีน้ำนมให้ลูก (แต่คนแย่งเอามากิน)   ปกติแม่วัวจะมีไข่สุกทุก 21 วัน      หากได้รับการผสมก็จะท้องประมาณ 283 วัน หรือ 9.5 เดือน    หากจะมีลูกอีกชุดหนึ่งก็ต้องพักร่างกายประมาณ 60 วัน      ดังนั้นปีหนึ่งมันจึงให้ลูกได้เพียงชุดเดียว (ให้ลูกได้ครั้งแรกเมื่ออายุ 2 ปี)ซึ่งก็คือตัวเดียว  หากเป็นพันธ์ดีและดูแลดี เฉลี่ยจะให้นมปีละ 300 วัน

ในประเทศพัฒนาแล้วปีหนึ่งแม่วัวให้นมเฉลี่ย 12,000 ลิตรต่อตัว  เนื่องจากรู้จังหวะไข่สุกที่จะผสมเทียมแม่วัวและให้พัก 2 เดือน   ในขณะที่ในอินเดียมีผลผลิตเพียง 1,200 ลิตรต่อตัวต่อปีเนื่องจากไม่รู้จังหวะที่จะผสมเทียมอย่างได้ผล     ดังนั้นเวลาพักของแม่วัวจึงยาว 6-7 เดือนส่งผลให้มีน้ำนมต่อตัวต่ำ

mooOn จะส่งข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพให้คอมพิวเตอร์วิเคราะห์ว่าตอนใดที่แม่วัวมีไข่สุกเหมาะสมที่สุดต่อการผสมเทียมสัญญาณนี้จะส่งไปยังสัตว์แพทย์ของหมู่บ้านที่ลงทะเบียนไว้ซึ่งมีเวลาทำงานเพียง 4-6 ชั่วโมงของช่วงไข่สุกเท่านั้น

โดยปกติชาวบ้านอินเดียใช้การสังเกตอากัปกิริยาของแม่วัวประกอบกับการมีสัดเพื่อคาดเดาว่าไข่สุกที่สุดเมื่อใดซึ่งบ่อยครั้งที่ผิด   หนึ่งรอบของไข่สุกที่พลาดไปไม่ได้รับการผสมก็คือการเสียโอกาสได้ลูกวัวและนมวัว และรายได้ที่ตามมา     การผสมที่ถูกจังหวะไม่พลาดคือการเพิ่มรายได้  ดังนั้น moo On จึงมีประโยชน์ต่อเกษตรกรอย่างยิ่ง

ปัจจุบันมีการใช้ mooOn 50,000 ชิ้น ซึ่งทำให้ผลิตภาพเพิ่มขึ้นร้อยละ 38   และเกษตรกรมีกำไรเพิ่มขึ้นถึง 5 เท่าตัว    รูปแบบธุรกิจคือบริษัทเก็บค่าธรรมเนียม 1 เหรียญสหรัฐต่อหนึ่งชิ้นต่อเดือนตลอดจนให้บริการสนับสนุนด้วย     เกษตรกรก็ยินดีจ่ายเพราะตลาดนมในอินเดียนั้นใหญ่โตมากและผลิตไม่ได้เพียงพอ  ในปีนี้คาดว่าคนอินเดียจะบริโภคนมวัว  69.8 ล้านตัน   ซึ่งเป็น 3.2 เท่าของที่บริโภคกันในสหรัฐอเมริกาและกว่า 2 เท่าที่บริโภคกันในยุโรป

การไร้ประสิทธิภาพของการทำฟาร์มมิได้มีเพียงการเลี้ยงโคนม     หากครอบคลุมไปถึงการใช้แรงงานสัตว์ในการไถนาเนื่องจากขาดเงินทุนในการซื้อรถแทร็กเตอร์       การใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะช่วยเพิ่มผลิตภาพได้อย่างมาก ในยุคปัจจุบัน IT สามารถมีบทบาทช่วยเหลือโดยไม่ต้องใช้เงินทุนสูงมากดังเช่นการใช้  Internet of Things (IoT)

IoT คือเครือข่ายของสิ่งที่จับต้องได้ (“things”)  โดยมีสิ่งประดิษฐ์ด้านอิเล็กโทรนิกส์หรือ sensors หรือวงจรไฟฟ้า หรือซอฟท์แวร์ฝังตัวอยู่ซึ่งสามารถเชื่อมต่อถึงกันเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลกันเองหรือกับโอเปอเรเตอร์เพื่อการให้บริการที่เป็นประโยชน์

ระบบ wifi ชนิดที่เรียกว่า 5G ทำให้เกิด IoT ขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ภายใต้ระบบ5G  โทรศัพท์มือถือกับ “things” เหล่านี้ติดต่อสื่อสารถึงกันได้   ตัวอย่างเช่นหากเม็ดยา("things")ที่กินเข้าไปมีวงจรขนาดเล็กมากฝังตัวอยู่ (แต่ละเม็ดมี IP address เหมือนของผู้ใช้internet)    มันจะส่งสัญญาณเชื่อมต่อกับโอเปอเรเตอร์ซึ่งอาจเป็นโทรศัพท์มือถือหรือคอมพิวเตอร์     ข้อมูลที่ส่งออกมา (big data) จะถูกวิเคราะห์ (analytics) เพื่อส่งคำสั่งกลับไปให้มีการปล่อยตัวยาในปริมาณและตามเวลาที่จะเกิดประสิทธิภาพในการรักษาสูงที่สุด

ในอุตสาหกรรมโคนม    Stellapps ติดตั้ง IoT ใน 20,000 สถานีทั่วอินเดียโดยมีเครือข่ายติดตามการผลิตนมประมาณวันละ 6 ล้านลิตรต่อวัน   และคาดว่าจะถึง 30 ล้านลิตรใน 3 ปี    วิธีการมีหลายแบบ   เช่น    IoT ช่วยคัดแบ่งคุณภาพของนม     sensors ที่มีความไวสูงจะวัดปริมาณไขมัน    โปรตีนในนมที่มาส่งรวมทั้งปริมาณน้ำที่เติมลงไปด้วย      เมื่อเก็บไว้ในห้องเย็น IoT ก็จะติดตามระดับอุณหภูมิของห้องเย็นที่เก็บรักษานมอยู่ทั้งหมด     ถ้าไฟฟ้าดับหรืออุณหภูมิขึ้นสูงก็จะมีสัญญาณเตือนออกไปทันทีถึงแต่ละสถานที่ตั้ง

ตลาดนมที่ใหญ่โตของอินเดียยังมีการผลิตที่ไม่เพียงพอเนื่องจากมีผลิตภาพในการผลิตต่ำอันเนื่องมาจากหลายปัจจัยแวดล้อมและหลายลักษณะของการขาดประสิทธิภาพในการผลิตทำให้เกิดโอกาสแก่ start-up อีกมากมายทั้งในอุตสาหกรรมนี้และการผลิตสินค้าเกษตรอีกหลากชนิด

ในบ้านเรายังมีช่องว่างของการเพิ่มผลิตภาพได้อีกมากมายทั้งในด้านการผลิตและการแปรรูปสินค้าเกษตร     เชื่อได้ว่าขณะนี้มี start-up จำนวนมากที่กำลังคร่ำเคร่งกับการสร้างนวตกรรมด้านวิศวกรรม และ/หรือผสม IT ที่จะทำให้เกษตรกรของบ้านเรามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นผ่านรายได้ในระดับที่เป็นธรรมและมั่นคง

start-up เหล่านี้จำนวนไม่น้อยมิได้ต้องการการสนับสนุนด้านเงินทุนจากภาครัฐดังที่มักเข้าใจกัน    หากต้องการการสนับสนุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน IT จากภาครัฐและความสะดวกอันเกิดจากการปลด    ล็อกกฎระเบียบต่าง  ของราชการที่ทำให้เขาทำงานได้ยากและในหลายกรณีทำให้หมดกำลังใจ

ทั้งสองประเด็นนี้ภาครัฐได้ทำมาไม่น้อยแต่บางเรื่องยังไม่ตรงจุด     หากค้นพบ “คานงัด” ได้เมื่อใด    start-up ไทยจะ take-off ได้อย่างไม่น้อยหน้าใครในโลก