ส่องแผนปฏิรูปสีเขียวฉบับใหม่ของอียูและนัยต่อประเทศไทย

ส่องแผนปฏิรูปสีเขียวฉบับใหม่ของอียูและนัยต่อประเทศไทย

ในสภาวะที่ปัญหาสิ่งแวดล้อมกลายเป็นปัญหาสำคัญของโลก นาง Ursula von der leyen ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปคนใหม่

 ซึ่งเพิ่งเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 2562 ได้เสนอแผนการปฎิรูปเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมฉบับใหม่ภายใต้ชื่อว่า “The European Green Deal” ออกมาให้สภายุโรปทำการพิจารณาเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเธอเชื่อว่าเป็นความหวังสำคัญในการส่งเสริมการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจและแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของทวีปยุโรป และจะช่วยผลักดันให้โลกขับคลื่อนไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ยั่งยืนและพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้น

สาระสำคัญส่วนหนึ่งของการปฎิรูปดังกล่าวคือการทำให้ภาคอุตสาหกรรมภายในอียู ปลอดก๊าซคาร์บอน (carbon neutral) ภายในปี 2593 (ค.ศ. 2050) และเพิ่มเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าชเรือนกระจกสำหรับปี 2573 (ค.ศ. 2030) จากเดิมร้อยละ 40 เป็นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50-55 ซึ่งเป็นการสะท้อนจุดยืนของอียูในการเป็นผู้นำลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน โดยอียูจะดำเนินการออกกฎหมายว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศออกมาภายในเดือน มี.ค.2563 เพื่อกำหนดเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ชัดเจน 

นอกจากนั้น เพื่อเป็นการส่งเสริมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างมีประสิทธิภาพ นาง von der leyen ยังย้ำถึงความจำเป็นของการปฎิรูปกฎหมายและมาตรการภายในอียูซึ่งครอบคลุมมิติต่างๆ ในระยะเวลา 5-10 ปีข้างหน้า โดยเน้นการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นทางจนถึงมือผู้บริโภคให้มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รวมถึงการลดการปลดปล่อยมลพิษ การจัดการของเสีย การคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพและการจัดการทางระบบนิเวศน์ การทำการเกษตรอย่างยั่งยืน การอนุรักษ์ป่าไม้ การขนส่งที่มีประสิทธิภาพ การส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนและการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น โดยมีมาตรการที่น่าสนใจดังนี้ 

1.การใช้มาตรการ Border Carbon Tax Adjustment เพื่อเรียกเก็บภาษีจากสินค้านำเข้าที่มีปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนแฝงสูงกว่าสินค้าที่ผลิตในอียู โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการใช้พลังงานในการผลิตสูง/มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง เช่น ซีเมนต์

2.การปรับปรุงมาตรการ EU Emissions Trading SchemeหรือETSเพื่อเรียกเก็บภาษีจากการปล่อยมลภาวะของอุตสาหกรรมบางประเภท โดยเฉพาะสำหรับภาคอุตสาหกรรมการเดินเรือและการบิน ตลอดจนอุตสาหกรรมการก่อสร้างและการขนส่ง 

3.การปรับปรุงระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการบริหารจัดการของเสียเช่น ขยะพลาสติก เพื่อลดปริมาณของเสียและการนำไปรีไซเคิล โดยขยายความให้ครอบคลุมไปถึงสิ่งทอ วัสดุก่อสร้าง และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์

4.นอกจากนั้น แผนปฎิรูปดังกล่าวยังส่งเสริมให้มีการอุดหนุนค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการปกป้องและการวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมการส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียวเพื่อกระตุ้นการผลิตและการบริการสีเขียว ตลอดจนการติดฉลากสินค้าเปิดเผยข้อมูลปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอน หรือข้อมูลเกี่ยวกับการตัดไม้ทำลายป่าจากกิจกรรมต่างๆ ในสายการผลิต เพื่อกระตุ้นผู้บริโภคในการเลือกผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงเสนอให้มีการเจรจาทบทวนประเด็นสิ่งแวดล้อมในกรอบ WTO และ FTA อีกด้วย

เพื่อสนับสนุนแผนปฎิรูปที่มีความท้าทายนี้ นาง von der leyen ได้เสนอให้มีการอัดฉีดเม็ดเงินงบประมาณอีกปีละ 2 แสนหกหมื่นล้านยูโรต่อปี ภายใต้แผน Sustainable Europe Investment Planเพื่อกระตุ้นภาคเศรษฐกิจด้านสิ่งแวดล้อมของอียู โดยเน้นเพิ่มการลงทุนในโครงการและโครงสร้างพื้นฐานเพื่อความยั่งยืนและการวิจัยสีเขียว พร้อมทั้งจัดสรรกองทุนภายใต้ชื่อว่า “Just transition Fund” อีก 1 แสนล้านยูโรเพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านดังกล่าว โดยเฉพาะประเทศสมาชิกอียูที่ยังต้องพึ่งพาพลังงานจากน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ

ในขณะที่บางคนยังตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับโอกาสที่ข้อเสนอด้านนโยบายนี้จะได้รับความเห็นชอบจากสภายุโรปและคณะมนตรียุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อภาคอุตสาหกรรมของบางประเทศสมาชิกอียู เช่น โปแลนด์ ฮังการี และสาธารณรัฐเช็ก ยังคงพึ่งพาพลังงานฟอสซิลเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งล่าสุดที่ประชุมผู้นำของอียูเมื่อคืนวันที่ 12 ธ.ค. ที่ผ่านมาไม่สามารถบรรลุข้อตกลงร่วมที่จะประกาศให้อียูมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2050 และจะหารือร่วมกันอีกครั้งภายในเดือน มิ.ย. 2563เนื่องจากสมาชิกบางประเทศยังคงต้องการความชัดเจนเกี่ยวกับการนำแผนดังกล่าวสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมโดยเฉพาะเรื่องการสนับสนุนด้านเงินงบประมาณจากอียู

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อียูให้ความสำคัญกับนโยบายสิ่งแวดล้อมและการลดปัญหาโลกร้อนเป็นอย่างมาก และได้มีการออกกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมสำคัญๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ กฎระเบียบ IUU (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing) เพื่อป้องกันการทำประมงที่ผิดกฎหมาย กฎระเบียบ FLEGT และ EU Timber Regulation ป้องกันการค้าไม้เถื่อน เป็นต้น มาตรการเหล่านี้หากมองเผินๆแล้วอาจจะดูไม่น่าจะเกี่ยวอะไรกับการดำเนินการค้า แต่การที่อียูให้ความสำคัญกับนโยบายหลายอย่างนั้นเป็นสาเหตุที่นำมาสู่การกำหนดกฎระเบียบรองรับจำนวนมากที่ส่งกระทบต่อเนื่องมายังการค้าระหว่างประเทศ รวมถึงกับไทย เช่น การส่งออกสินค้าประมง (สำหรับกฎระเบียบ IUU) และสินค้าไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ (สำหรับกฎระเบียบ กฎระเบียบ FLEGT และ EU Timber Regulation) ไปยังตลาดอียู และส่งผลให้ให้ไทยต้องทำการปรับปรุงระบบและกระบวนการผลิตของสินค้าดังกล่าวภายในประเทศเพื่อให้สามารถยืนยันได้ว่าสินค้าที่ส่งออกไปอียูนั้น เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและไม่ได้มาจากแหล่งที่ผิดกฎหมาย

สำหรับมาตรการ EU ETS สำหรับสาขาการบินที่อียูมีแนวโน้มที่จะลดการให้โควตาการปล่อยก๊าซฟรีลงไปเรื่อยๆ อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจการค้ากับไทย เนื่องจากสายการบินที่บินเข้า-ออกจากท่าอากาศยานของประเทศอียูจะต้องมีค่าใช้จ่ายในการซื้อเครดิตสำหรับการปล่อยก๊าซคาร์บอนเพิ่ม ซึ่งส่งผลต่อราคาค่าโดยสารเครื่องบินและการขนส่งสินค้าทางอากาศที่สูงเพิ่มขึ้นตามมา

ในบริบทของการเจรจา FTA อียูได้ผนวกประเด็นสิ่งแวดล้อมไว้เป็นเรื่องหลักในการเจรจา อาทิ การจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว และต้องการเรียกร้องให้คู่เจรจาปฏิบัติตามข้อบทในความตกลงระหว่างประเทศโดยเฉพาะความตกลงปารีสที่เกี่ยวกับปัญหาโลกร้อน หรือล่าสุดกรณีไฟป่าอเมซอนที่ทำให้สภายุโรปออกมาแสดงท่าทีที่จะชะลอการให้สัตยาบันความตกลง FTA กับ Mercosur

ดังนั้น หากไทยจะเริ่มเจรจา FTA กับอียูอีกครั้งจึงมีความจำเป็นที่จะต้องทบทวนและปรับปรุงยุทธศาสตร์และนโยบายสีเขียวของประเทศให้มีความก้าวหน้าและสอดคล้องกับข้อเรียกร้องและมาตรการต่างๆ ของอียู เพื่อจะได้ใช้เป็นโอกาสในการพัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจสีเขียวของประเทศและพัฒนาศักยภาพของภาคธุรกิจไทย นอกเหนือไปจากการผลักดันให้ภาคส่วนต่างๆของอียูหันมาสนับสนุนการเจรจา FTA กับไทย ทั้งนี้ กระแสธุรกิจที่สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมและนวัตกรรมนับเป็นกระแสหลักที่ผู้ประกอบการยุคใหม่ควรใช้เป็นตัวสร้างความแตกต่างให้กับสินค้าและบริการ ซึ่งภาคธุรกิจไทยหลายสาขาก็มีศักยภาพในเรื่องนี้อยู่ไม่น้อยหน้าใคร ดังนั้น แทนที่จะมองว่านโยบายสีเขียวนี้เป็นเพียงมาตรการกีดกันทางการค้าใหม่จากอียู ในทางกลับกันก็อาจเป็นประตูสู่โอกาสใหม่ๆ ในการยกระดับมาตรฐานสินค้าไทยและการส่งออกสินค้าไทยไปอียูในอนาคตต่อไป