เศรษฐกิจปีหน้าจะเป็นอย่างไร

เศรษฐกิจปีหน้าจะเป็นอย่างไร

ในปีนี้ เศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำกว่าในรอบหลายปีที่ผ่านมา โดยมีสาเหตุหลักจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกอันเนื่องมาจากสงครามการค้า

กอปรกับการแข็งค่าของเงินบาท ส่งผลให้การส่งออกซึ่งเคยเป็นเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ปรับตัวลดลงมากในปีนี้  นอกจากนี้ ภาคการท่องเที่ยวซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยหนุนการเติบโตของเศรษฐกิจในรอบหลายปีที่ผ่านมา ในปีนี้ขยายตัวต่ำกว่าที่คาด โดยมีสาเหตุหลักจากการลดลงของนักท่องเที่ยวจีนหลังเกิดเหตุการณ์เรือล่มที่ภูเก็ตเมื่อเดือนกรกฎาคมปีก่อน  สำหรับปัจจัยอื่นๆที่ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้ขยายตัวต่ำ ได้แก่ การเติบโตของธุรกิจออนไลน์ซึ่งส่งผลให้ผู้ที่ไม่ปรับตัวสูญเสียรายได้ การจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าส่งผลให้งบประมาณมีความล่าช้า หนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงและการคุมเข้มการให้สินเชื่อ ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ

สำหรับเศรษฐกิจในปีหน้า นักวิเคราะห์บางส่วนประเมินว่าอาจจะเลวร้ายกว่าในปีนี้ เนื่องจากมองว่าผลกระทบจากสงครามการค้าอาจรุนแรงมากขึ้น ในบทความนี้ ผมขอเสนอมุมมองแบบคร่าวๆจากข้อมูลในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคตของประเทศเศรษฐกิจหลักและไทย เพื่อใช้ประกอบการประเมินทิศทางการลงทุนในอนาคต ดังนี้

สหรัฐ: ในช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจสหรัฐยังคงเติบโตได้ดี โดยการจ้างงานยังคงแข็งแกร่ง อัตราการว่างงานเดือนพฤศจิกายนอยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบ 50 ปี และค่าจ้างแรงงานยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เป็นสัญญานว่าการบริโภคจะยังคงเป็นปัจจัยที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสหรัฐให้เติบโตได้ต่อเนื่อง เพราะแน่นอนว่า เมื่อคนมีงานทำ มีรายได้เพิ่ม ก็มีความสามารถในการใช้จ่ายต่อเนื่อง  อย่างไรก็ดี การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจมากขึ้น โดยล่าสุดดัชนีภาคการผลิตของสถาบันจัดการด้านอุปทาน (ISM) ลดลงใกล้ระดับแทบไม่ขยายตัว  ดังนั้น ในปีหน้าคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะยังคงขยายตัวได้ดีจากแรงหนุนของการใช้จ่ายของผู้บริโภค ในขณะที่ภาคการผลิตมีแนวโน้มอ่อนแอ

ยุโรป: เนื่องจากหลายประเทศในยุโรปเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ จึงไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกได้ ส่งผลให้เศรษฐกิจยุโรปในปีนี้ขยายตัวต่ำ โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของยูโรโซนอยู่ในระดับที่บ่งชี้ถึงการหดตัวติดต่อกันหลายเดือน ถึงแม้ PMI เดือนพฤศจิกายนปรับตัวดีขึ้นบ้างก็ตาม ทั้งนี้ มีแนวโน้มว่าเศรษฐกิจยุโรปจะยังคงขยายตัวต่ำ และมีความเสี่ยงที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐอาจขยายความขัดแย้งทางการค้ามาที่ยุโรป หลังจากที่เรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากยุโรปบางรายการไปแล้ว และส่งสัญญาณว่าอาจเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติม  อย่างไรก็ดี ประธานาธิบดีสหรัฐอาจต้องใช้ความระมัดระวังมากในการทำสงครามการค้ากับยุโรป เพราะยุโรปเป็นหนึ่งในผู้นำเข้าสินค้าจากสหรัฐรายใหญ่

ญี่ปุ่น: เศรษฐกิจญี่ปุ่นในปีนี้ขยายตัวได้ดีกว่าที่คาด โดยสงครามการค้าและความขัดแย้งกับเกาหลีใต้ส่งผลให้การส่งออกของญี่ปุ่นหดตัวสูง อีกทั้งญี่ปุ่นยังเผชิญพายุหลายลูกในปีนี้ซึ่งส่งผลให้ภาคการผลิตต้องหยุดการดำเนินงานเป็นช่วงๆ ในขณะที่ การใช้จ่ายของผู้บริโภคเป็นปัจจัยช่วยหนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจในปีนี้  อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ขยายตัวอย่างแข็งแกร่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการใช้จ่ายเพื่อซ่อมแซมจากผลกระทบของพายุ และการเร่งใช้จ่ายก่อนที่จะมีการขึ้นภาษีการค้าในวันที่ 1 ตุลาคม  ดังนั้น หากไม่นับแรงหนุนดังกล่าว แนวโน้มเศรษฐกิจญี่ปุ่นดูไม่สดใสนัก

จีน: เป็นประเทศผู้ส่งออกอันดับ 1 ของโลกและเป็นเป้าหมายหลักในการทำสงครามการค้าของสหรัฐ โดยในปีนี้เศรษฐกิจจีนในไตรมาส 3/62 ขยายตัวต่ำสุดในรอบ 30 ปี และยังคงมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง โดยอุปสงค์ภายในประเทศ ทั้งการบริโภคและการลงทุนขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง ในขณะที่การส่งออกลดลงอย่างมาก  ทั้งนี้ รัฐบาลจีนได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง เช่น การเพิ่มค่าลดหย่อนภาษี การลดดอกเบี้ย เป็นต้น ส่งผลให้ตัวเลขเศรษฐกิจจีนเริ่มดูดีขึ้น อย่างไรก็ดี รัฐบาลจีนระบุว่าจะไม่เร่งการเติบโตของเศรษฐกิจโดยใช้เครื่องมือทางการเงินการคลังมากนัก เนื่องจากต้องการให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างมั่นคงและมีเสถียรภาพ

ไทย: ตัวเลขเศรษฐกิจไทยในปีหน้าน่าจะดูดีกว่าปีนี้ เนื่องจากงบประมาณจะเริ่มเบิกจ่ายในช่วงไตรมาสแรกของปีหน้า อีกทั้งผลของฐานในปีนี้ที่อยู่ในระดับต่ำจะช่วยหนุนให้ตัวเลขเศรษฐกิจดูดีขึ้นและสร้างความเชื่อมั่นมากขึ้น  นอกจากนี้ มาตรการช่วยเหลือเศรษฐกิจฐานรากจะช่วยหนุนการบริโภคภายในประเทศให้ขยายตัวได้ดีขึ้น  อย่างไรก็ดี ความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ และการที่ผู้ที่มีความสามารถในการใช้จ่ายสูงไม่ได้รับแรงกระตุ้นให้ใช้จ่าย อาจเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้เศรษฐกิจไม่ขยายตัวเท่าที่ควร ในขณะที่ภาคการส่งออกยังขึ้นอยู่กับแนวโน้มสงครามการค้าและทิศทางของค่าเงินบาท

โดยสรุป สงครามการค้ายังคงเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อทิศทางเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยในปีหน้า ซึ่งประธานาธิบดีทรัมป์อาจใช้เป็นเครื่องมือในการเรียกคะแนนนิยมการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐที่จะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายนปีหน้า ดังนั้น นักลงทุนจึงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และลงทุนให้เหมาะกับระดับความเสี่ยงของท่านครับ