ปมเกลียดอเมริกา แต่ต้องการระบบอเมริกัน

ปมเกลียดอเมริกา แต่ต้องการระบบอเมริกัน

เมื่อพูดถึงอเมริกาทางการเมือง คนชั้นกลางของโลกจำนวนมากมักกล่าวถึงในเชิงลบ ไม่ค่อยชอบใจความเป็นมหาอำนาจ

แต่ชอบเข้าไปแทรกแซงยุ่งเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั่วไป ยิ่งถ้าเรื่องนั้นเกี่ยวข้องกับประเทศของตัวก็จะไม่พอใจมากขึ้น บางคนคิดถึงขั้นเชื่อว่าอเมริกาอยู่เบื้องหลังเรื่องไม่ค่อยงามที่เกี่ยวขึ้นแทบทุกอย่างบนโลกใบนี้ และคนอีกไม่น้อยเห็นว่าอเมริกาควรสงบเสงี่ยมเจียมตน สนใจแต่เรื่องของตนเองดีกว่า ความคิดแบบนี้เกิดขึ้นมากในหมู่คนที่พอมีเงิน มีความรู้ ฐานะทางสังคม อาชีพการงานดี บางคนทำงานกับองค์กรในสหรัฐฯ หรือได้รับการศึกษาจากอเมริกาเลยด้วยซ้ำ อย่างไรก็ตาม ถึงจะชังรัฐบาลอเมริกา แต่พวกเขาก็ยังอยากใช้ชีวิตอยู่บนระบบที่อเมริกันเชิดชู แทบไม่มีใครบอกว่าอยากอยู่ในระบบจีน รัสเซีย หรือเกาหลีเหนือที่เป็นปรปักษ์ต่อรัฐบาลวอชิงตัน หรือระบบที่ยังไม่พัฒนาอย่างสมบูรณ์ในที่อื่นต่างๆ ของโลก

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น... ถ้าจะประเมินว่าเป็นเพราะการอิจฉาริษยาที่สหรัฐฯ เหนือกว่าชาติอื่นเกินไป หมั่นไส้ที่บางทีสหรัฐฯ ก็กร่างบนเวทีระหว่างประเทศ หรือพวกเขาตกเป็นเหยื่อของกระบวนการปฏิบัติการข่าวสารจากฝ่ายตรงข้ามสหรัฐฯ ปั่นสมองให้มีอคติอย่างไร้เหตุผล ก็ออกจะเป็นการดูถูกคนเหล่านั้นไปหน่อย  เหตุผลเหล่านี้ถึงจะมีบ้าง แต่ก็มีเหตุผลอื่นๆ อีกเช่นกัน เช่น อาจมาจากการกล้าเปิดโปงของสื่อและวิชาการอเมริกันที่เผยถึงหลายเคสที่เจ้าหน้าที่รัฐเป็นตัวร้าย หรือความจริงเชิงประจักษ์ว่าองค์กรบางกลุ่มพวกมีอิทธิพลต่อการเมืองเศรษฐกิจและสังคมสหรัฐฯ เกินไป อย่างไรก็ตาม ความต้องการอยู่ในระบบแบบที่อเมริกาสร้างกลับเป็นพื้นฐานที่คนทั้งโลกต้องการ

ระบบที่อเมริกาสร้างนั้นเห็นได้ง่ายในชีวิตประจำวันทุกวันนี้ อาจถกเถียงกันว่าการดำเนินชีวิตแบบ “ฝรั่ง” นั้น อังกฤษหรือยุโรปกระมังที่ปูทางไว้ ขณะที่แต่ละท้องถิ่นก็ใช่ว่าจะละทิ้งวิถีชาวบ้านของตนเองไปกินอาหาร ไปแต่งกาย ไปใช้ภาษา แบบฝรั่งไปเสียทั้งหมด แต่หากพิเคราะห์ให้ดีจะพบว่า อเมริกามีส่วนในการวางระบบสังคมโลกทุกวันนี้ไว้เยอะมาก ตั้งแต่ความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตเบื้องต้นไปยันถึงเรื่องใหม่สุดคือ การอยู่ในโลกเสมือนจริงโซเชียลมีเดีย

โลกหลังสงครามใหญ่ของศตวรรษที่ 20 ไปจนถึงอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ถูกรุกไล่ตกกระดานประวัติศาสตร์ อเมริกาเป็นตัวผลักดัน World Order หลัก ที่ทำให้พลเมืองส่วนใหญ่ในโลกกินอิ่มนอนหลับกว่าเดิม ชาติที่พัฒนาแล้วหรือกำลังพัฒนาเกือบทั้งหมดคล้อยตามคุณค่ายึดถือแบบแองโกลแซกซอนที่อเมริกาเป็นตัวส่งเสริมอย่างแข็งขัน ไม่ว่าจะเป็นหลักนิติรัฐนิติธรรม เคารพสิทธิมนุษยชน รัฐสวัสดิการ ไม่ต้องต่อสู้กับความยากจนอย่างโดดเดี่ยวหรือต้องระแวงว่าวันใดวันหนึ่งจะถูกคนแข็งแกร่งกว่าข่มเหงง่ายๆ ในบางครั้งอเมริกายังปกป้องคนของโลกที่ 3 ที่ถูกกลั่นแกล้งบีฑาโดยเพื่อนร่วมชาติผู้ชมชอบอำนาจนิยมรังแกอีกด้วย เช่น ส่งกำลังไปรบในคาบสมุทรเกาหลี เวียดนาม อิรักและอื่นๆ แน่นอนว่ามีเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับพฤติกรรมทหารอเมริกันเกิดขึ้นบ้าง แต่การแทรกสอดของสหรัฐฯ ก็หยุดยั้งความร้าวรานของผู้ถูกกดขี่ได้ชะงัด เช่นเดียวกับเม็ดเงินการค้าการลงทุนทางเศรษฐกิจจากพ่อค้าอเมริกันทำให้คนบนโลกใบนี้กินดีอยู่ดีขึ้น ขณะที่ความสะดวกสบายทางเทคโนโลยีที่กำเนิดโดยนักคิด นักประดิษฐ์ และแพทย์อเมริกันชน ทำให้โลกนี้อยู่สบายตายยากขึ้นกว่าเดิมเยอะ

แม้ว่าคนอยากอยู่อย่างอเมริกัน มีทรัพย์สินมากกว่านี้ มีความสะดวกสบายมากกว่านี้ ประกันสุขภาพดีกว่านี้ แต่ก็ยังหวาดระแวงอเมริกา ไม่ชอบใจการกระทำบางอย่างที่อเมริกาทำกับสิ่งที่ฝังอยู่ในรากเหง้าของพวกเขา พวกเขามองหาความแตกต่างระหว่างอเมริกากับตัวเขาแล้วระบุว่าช่องว่างนั้นทำให้เกิดการเอาเปรียบจากสหรัฐฯ ต่อตัวเขาหรือประเทศชาติของเขา พวกเขาเข้าใจสหรัฐฯ ว่าเป็นรัฐที่มีชนผิวขาวเป็นใหญ่ จึงเอื้อประโยชน์ต่อชาวผิวขาวมากกว่า ดูถูกชนสายเลือดอื่น เข้าใจว่าสหรัฐฯ นับถือคริสต์ศาสนาเป็นใหญ่ จึงมีความเดียดฉันท์ศาสนาอื่น เข้าใจว่าชาวยิว นายทุน พ่อค้าอาวุธ มีอำนาจบงการการเมืองได้ จึงพยายามเอารัดเอาเปรียบประเทศอื่น

ความคิดเช่นนี้ลำพังก็ไม่เกิดอะไรขึ้นหรอก แต่ถ้ามีปัจจัยอื่นแทรกซ้อน เขาก็คล้อยความคิดไปในทางเข้าข้างฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์กับสหรัฐฯ ถ้าฝ่ายนั้นเป็นพวกชอบธรรมก็ดีไป แต่ถ้าฝ่ายนั้นเป็นพวกอำนาจนิยมหรือคนชั่วในคราบเชื้อชาติเดียวกัน ศาสนาเดียวกัน ผิวพรรณเดียวกันล่ะก็ ผลเสียจะเกิดต่อประเทศชาติอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเกิดขึ้นในหมู่ผู้มีอำนาจตัดสินใจทางการเมือง

ในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วขึ้นทุกวันนี้ คนมีความคิดเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น และอาจตัดสินใจอิสระตามอารมณ์ของตนมากขึ้นตามความรวดเร็วของสื่อสารมวลชน การทำความเข้าใจกับความจริงเป็นเรื่องสำคัญ พอๆ กับการยืนสติอยู่บนการชั่งน้ำหนักระหว่างอคติกับผลประโยชน์เชิงรูปธรรม หวังว่าประเด็นวิพากษ์อเมริกานี้จะเป็นหนึ่งในตัวอย่างให้ฉุกคิดกัน