วิชาศึกษาทั่วไป การบ่มเพาะคุณค่ามนุษย์ศตวรรษ 21(1)

วิชาศึกษาทั่วไป  การบ่มเพาะคุณค่ามนุษย์ศตวรรษ 21(1)

ผลลัพธ์การเรียนรู้ที่สถาบันการศึกษาต้องส่งมอบต่อไปถึงสถานประกอบการต้องสอดคล้องกับคุณลักษณะของมนุษย์ในศตวรรษที่ 21

ที่เป็นความต้องการอันยิ่งยวดของอุตสาหกรรม สถาบันอุดมศึกษาทุกแห่งสามารถจัดการเรียนการสอน โดยบูรณาการผ่านรายวิชาศึกษาทั่วไป(General Education)ได้ โดยจะต้องเลือกและออกแบบร่วมกันอย่างรัดกุมว่าจะนำศักยภาพต่างๆ เหล่านี้ไปใส่ในรายวิชาใดหรือใช้กิจกรรมการเรียนการสอนรูปแบบใด และต้องมีการวัดที่ชัดเจน 

ทั้งนี้กรอบแนวคิดหมวดวิชาศึกษาทั่วไปที่สอดคล้องตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2552 (TQF : HEd) โดยการจัดการเรียนการสอนควรมุ่งเน้นให้ครอบคลุมใน 8 ประเด็นย่อย คือ

1.การมีคุณธรรมจริยธรรม บนพื้นฐานปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อร่วมสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนตามเป้าหมายของ SDG (Sustainable Development Goals) โดย สถาบันอุดมศึกษาควรสร้างบัณฑิตที่มีคุณธรรม และยังสามารถนำแนวปฏิบัติที่ชัดเจนของหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง(Sufficiency Economy)มาใช้ในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะความฉลาดรู้ทางการเงิน(financial literacy) สามารถประยุกต์หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน(Circular Economy) ทั้งในเรื่องการเลือกใช้วัตถุดิบที่มีประโยชน์ไม่เกิดโทษต่อสิ่งแวดล้อม การเลือกใช้พลังานที่สามารถหมุนเวียนนำกลับมาใช้ใหม่ มีความตระหนักในเรื่องการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ ร่วมอนุรักษ์วัฒนธรรมขนบธรรมเนียมอย่างยั่งยืน การไม่ทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตชนิดต่าง ๆ ใช้ตัวบ่งชี้ทางจิตใจมาร่วมสร้างและวัดการทำงาน สิ่งที่สำคัญสำหรับเศรษฐกิจหมุนเวียนอีกอย่างก็คือการปรับเปลี่ยนระบบการทำงานต่าง ๆให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถารการณ์ เป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน(Sustainable development) ก็จะเกิดขึ้น

2.การตระหนักและสำนึกในความเป็นไทย

สถาบันอุดมศึกษาควรสร้างบัณฑิตที่คำนึงถึงคุณค่าและธำรงเอกลักษณ์ที่ดีงามของไทย โดยเฉพาะในเรื่องบุคลิกภาพ ความจริง ตวามดี ความงาม รวมถึงการใช้ภาษาไทยที่ถูกต้องเหมาะสมกับสถานการณ์และสังคม ซึ่งปัจจุบันสังคมแบบออนไลน์ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญยิ่งต่อมนุษย์ในGeneration ปัจจุบัน ทั้งนี้ในเรื่องบุคลิกภาพยังต้องรวมไปถึงการแต่งกาย กิริยามารยาทอันดีงาม รวมทั้งคุณธรรม ความกตัญญูกตเวที มีความภูมิใจในภูมิปัญญาท้องถิ่นสามารถนำนวัตกรรมต่าง ๆ มาปรับใช้เพื่อแก้ปัญหาของประเทศไทยได้

3.การมีความรอบรู้อย่างกว้างขวาง มีโลกทัศน์กว้างไกล เข้าใจและเห็นคุณค่าของตนเอง ผู้อื่น สังคม ศิลปวัฒนธรรมและธรรมชาติ

สถาบันอุดมศึกษาควรสร้างบัณฑิตที่มีความฉลาดรู้ทางวิทยาศาสตร์ (scientific literacy) มีความมุ่งมั่นพยายามเพื่อบรรลุเป้าหมาย (persistent /grit) สามารถการปรับตัวได้ดี (adaptability)แก้ปัญหา (problem solving) ต่าง ๆที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันได้ มีวิสัยทัศน์เคารพและเห็นคุณค่าของสิ่งมีชีวิต กรอบแนวคิดที่มีสิทธิมนุษยชนเป็นพื้นฐาน รู้จักเทคโนโลยีประมวลผลใหม่ เทคโนโลยีบัญชีธุรกรรมแบบกระจายและบล็อกเชน อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง จริยธรรมเชิงข้อมูลที่สำคัญ ปัญญาประดิษฐ์และวิทยาการหุ่นยนต์ วัสดุล้ำสมัย การพิมพ์หลายมิติ ข้อดีและข้อเสียของโดรน เทคโนโลยีชีวภาพ ประสาทเทคโนโลยี ความจริงเสมือนและความจริงเสริม การดักจับ กักเก็บและจัดส่งพลังงาน เทคโนโลยีอวกาศ

  1. การมีทักษะแสวงหาความรู้ตลอดชีวิต เพื่อพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง

สถาบันอุดมศึกษาควรสร้างบัณฑิตที่สามารถประเมินตนเองและกำหนดเป้าหมายที่ต้องการพัฒนาซึ่งอาจเป็นการเรียนเพื่อรู้ เรียนเพื่อทำได้ เรียนเพื่ออยู่ร่วมกับบุคคลอื่น และเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเองทั้งร่างกาย จิตใจ ความเฉลียวฉลาด ความอ่อนไหว ความมีสุนทรียะ และมิติทางจิตวิญญาณส่วนความสามารถที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายคือทักษะการวางแผน และดำเนินการแสวงหาข้อมูล ความรู้จากแหล่งและวิธีการที่หลากหลายทั้งในและนอกระบบสถาบันการศึกษา

การพัฒนาการเรียนรู้ตลอดชีวิตด้วยตนเองจะต้องกำหนดเป้าหมายในการเรียนรู้ซึ่งเป็นการคิดและตัดสินใจของบัณฑิตเพื่อตอบตนเองว่าตนเองต้องการเรียนรู้อะไรและมีเป้าหมายของการเรียนรู้ไปเพื่ออะไร ต้องวางแผนการเรียนรู้ เมื่อบัณฑิตกำหนดเป้าหมายในการเรียนรู้แล้ว บัณฑิตต้องวางแผนการเรียนรู้ด้วยตนเองเช่นการเลือกวิธีการเรียนรู้ การเลือกแหล่งเรียนรู้ มีการดำเนินการตามแผนที่กำหนด ในการเรียนรู้ด้วยตนเองทั้งหมดจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากบัณฑิตไม่ดำเนินการตามแผนการเรียนรู้ที่กำหนด และมีการประเมินเพื่อสะท้อนปรับปรุงการเรียนรู้ด้วยตนเองหากบัณฑิตต้องการพัฒนาการเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่องก็ควรที่จะประเมินเพื่อสะท้อนปรับปรุงการเรียนรู้ของตนเพื่อพิจารณาว่าอะไรคือสิ่งที่ได้เรียนรู้ตามเป้าหมายทที่กำหนดหรืออะไรคือสิ่งที่ยังไม่บรรลุเป้าหมายหากจะดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดแล้วควรทำอย่างไร

โดย...

ผศ.กิตติภูมิ มีประดิษฐ์