5 คำทำนายในปี 2020 (ตอนที่ 2)

5 คำทำนายในปี 2020 (ตอนที่ 2)

ในฉบับที่แล้ว ผู้เขียนได้เขียนถึง 2 คำทำนายแรกของภาพเศรษฐกิจการเมืองโลก ในฉบับนี้จะขออนุญาตเขียนถึง 3 คำทำนายที่เหลือ ดังนี้

3.ผลตอบแทนการลงทุนโลกจะพอไปได้ในปี 2020(อย่างน้อยในไตรมาสแรก)

ในการคาดการณ์สิ่งต่างๆ การทำนายผลตอบแทนของตลาดการเงินยากที่สุด และส่วนใหญ่จะผิด เพราะทฤษฎีเบื้องต้นด้านการเงิน กล่าวว่า ราคาของสินทรัพย์ทางการเงินต่างๆ สะท้อนถึงทุกข้อมูลรวมถึงการคาดการณ์ผลของปัจจัยต่างๆ ต่อสินทรัพย์ทางการเงินไว้แล้ว กล่าวอย่างง่ายคือ ผู้ทำนายจะต้องทำนายคำทำนายของเหตุการณ์ต่างๆ ให้ถูกต้อง และมองเหนือขึ้นไปอีกชั้นหนึ่งว่า ตลาดจะตอบสนองต่อผลของเหตุการณ์ต่างๆ อย่างไร ซึ่งยากยิ่ง

อย่างไรก็ตาม ในปี 2020 จะเป็นปีที่การลงทุนยังพอไปได้ดี(Moderate Risk-on) อย่างน้อยใoไตรมาสแรก โดย (1)ผลตอบแทนตลาดหุ้นโดยรวมจะยังเป็นบวก (2) ดอลลาร์จะอ่อนค่าลงบ้าง (ซึ่งแปลว่าสกุลอื่นจะแข็งค่าขึ้นโดยเปรียบเทียบ) และ (3)ผลตอบแทนพันธบัตรจะยังคงอยู่ในระดับต่ำ แต่จะไม่ปรับขึ้นหรือลงจากระดับปัจจุบันมากนัก (ยกเว้นระยะสั้นมากที่จะปรับลงตามดอกเบี้ยนโยบาย) จาก 3 ปัจจัย

(1) สภาพคล่องทั่วโลกที่ยังสูงมาก และจะปรับเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อยในไตรมาสแรก จากมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ของธนาคารกลางชั้นนำ เช่น สหรัฐ(Fed) ยุโรป(ECB) และญี่ปุ่น(BoJ) โดยการที่ทั้งFed และECB ประกาศทำQEอีกครั้ง (โดย Fed ทำถึงไตรมาสแรก) ขณะที่BoJก็ยังทำอยู่ต่อเนื่อง จะเพิ่มสภาพคล่องโลกและเป็นผลบวกต่อสินทรัพย์ทางการเงินโลก โดยสถิติบ่งชี้ว่า เมื่อธนาคารกลางชั้นนำเพิ่มขนาดของงบดุล (บ่งชี้ถึงการอัดฉีดสภาพคล่องเพิ่มขึ้น)68% ในช่วงปี 2013-18 ดัชนีหุ้นทั่วโลกโดยเฉพาะสหรัฐก็จะปรับเพิ่มขึ้นในระดับเดียวกัน

(2) ทางการจะมีมาตรการผ่อนคลายต่อเนื่อง โดยธนาคารกลางต่างๆ โดยเฉพาะFedจะผ่อนคลายต่อเนื่อง(และมากกว่าที่ตลาดคาด) รวมถึงมีโอกาสที่รัฐบาลทั่วโลกจะกระตุ้นการคลังมากขึ้น จากการบริโภค(โดยเฉพาะในสหรัฐและยุโรป)ที่จะชะลอลงต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้ธนาคารกลางทั้งสองแห่งลดดอกเบี้ยมากกว่าที่ตลาดคาด และ

(3) ความเสี่ยงต่างๆ ของโลกจะยังมีอยู่ (ดูคำทำนายที่ 4) ทำให้มีความต้องการในสินทรัพย์ปลอดภัยอย่าง ดอลลาร์ พันธบัตรรัฐบาล และทองคำอยู่ ทำให้ราคาของสินทรัพย์เหล่านี้ไม่สามารถปรับลงได้มากนัก

4.สงครามการค้าจะไม่รุนแรงขึ้น แต่จะไม่ยุติลง และจะเปลี่ยนรูปแบบไป

โดยสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐจะไม่สามารถรุนแรงขึ้นได้อีกมากนัก เนื่องจากเศรษฐกิจทั้งสองประเทศได้รับผลกระทบจากภาษีการค้าและความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งกระทบต่อความเชื่อมั่นด้านการลงทุน รวมถึงการบริโภคของทั้งสองประเทศแล้ว ยิ่งไปกว่านั้น การที่สหรัฐเข้าสู่การเลือกตั้ง จะทำให้ทรัมพ์ไม่กล้าที่จะใช้ภาษีนำเข้าเป็นเครื่องมือรบกับจีนดังก่อน

แต่ความตึงเครียดจะแปรเปลี่ยนไปเป็นรูปแบบอื่น เช่น สงครามเทคโนโลยี (Tech war) สงครามด้านการเงิน (Financial War) รวมไปถึงสมรภูมิอื่น เช่น ระหว่าง สหรัฐกับยุโรป โดยการที่สหรัฐขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากฝรั่งเศส ตอบโต้ฝรั่งเศสที่ขึ้นภาษีธุรกิจดิจิตอลจากสหรัฐ เป็นตัวอย่างที่ดีของสิ่งที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า ในขณะที่ Brexit จะลากยาวออกไป โดยแม้อังกฤษจะสามารถออกจากยุโรปได้ในเดือน ม.ค. แต่การเจรจาถึงข้อตกลงสุดท้ายระหว่างอังกฤษกับยุโรปจะยังมีอยู่จนสิ้นปี 2020 เป็นอย่างน้อย

นอกจากนั้น ความเสี่ยงสงครามทางทหารระหว่างสหรัฐและจีนจะมีมากขึ้น โดยเฉพาะในน่านน้ำทะเลจีนใต้ หลังจากที่กองทัพเรือสหรัฐมีแผนที่จะแล่นเรือตรวจตราผ่านช่องแคบไต้หวันเป็นประจำ ขณะที่จีนก็จะเพิ่มกำลังทางทหารในมหาสมุทรแปซิฟิกมากขึ้น โดยเฉพาะในหมู่เกาะที่มีปัญหาอาณาเขตกับเพื่อนบ้าน เช่น เกาะไซโกกุ/เตียวหยู และหมู่เกาะ Spratly เป็นต้น

5.ปี2020 จะเป็นจุดเริ่มต้นของ ศตวรรษแห่งเอเชีย

แม้ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์จะเพิ่มขึ้นทั่วโลกโดยเฉพาะในเอเชีย แต่แนวนโยบายของโลกตะวันตกที่หันหลังให้กับกระแสโลกาภิวัฒน์ จะทำให้สหรัฐและยุโรปเริ่มถอยหลังในเวทีโลก ขณะที่สปอตไลท์จะหันมาฉายที่จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอาเซียน จาก

(1) การจัดโอลิมปิคฤดูร้อนในญี่ปุ่น จะแสดงให้โลกเห็นถึงความสวยงามด้านวัฒนธรรม และศักยภาพด้านเทคโนโลยีของญี่ปุ่น โดยเฉพาะหุ่นยนต์และรถยนต์ที่สามารถบินได้

(2) การที่จีนเริ่มอนุญาตให้ต่างชาติมาเปิดธุรกิจในจีนได้มากขึ้นโดยเฉพาะด้านการเงิน รวมถึงการที่MSCI เพิ่มสัดส่วนของหุ้นจีนในการคำนวณดัชนี ทำให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในจีนได้มากขึ้น จะทำให้เซี่ยงไฮ้และเซินเจิ้นเริ่มมีความสำคัญด้านการเงินใกล้เคียงนิวยอร์คและลอนดอนมากขึ้น แทนที่ฮ่องกงที่จะลดความสำคัญลง

นอกจากนั้น การที่จีนหันมามุ่งเน้น E-commerce มากขึ้น ทั้งออกกฎหมายCryptography อนุญาตให้ภาคเอกชนพัฒนาเทคโนโลยี Blockchain พร้อมทั้งให้เงินอุดหนุนกับผู้พัฒนา จะทำให้จีนก้าวเป็นจ้าวแห่งเทคโนโลยีดังกล่าว ที่เป็นดั่งอินเตอร์เนทแห่งอนาคต

(3) การที่ประเทศในเอเชียผลักดันด้านการรวมกลุ่มทางการค้า ทั้ง RCEP (หรือ ASEAN +6) ทั้ง CP-TPP (หรือข้อตกลง TPP เดิมที่ขาดสหรัฐ) ทั้งความร่วมมือไตรภาคีจีน-ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ จะเป็นก้าวแรกที่ผลักดันไปสู่เขตเศรษฐกิจแห่งเอเชีย ที่จะมีการแลกเปลี่ยนระหว่างการค้า การลงทุน การเคลื่อนย้ายแรงงาน และเทคโนโลยีมากขึ้น และทำให้โลกตะวันออกโดยเฉพาะเอเชียก้าวขึ้นเป็นหนึ่งแทนที่โลกตะวันตกอย่างยุโรปและอเมริกาได้

ยิ่งไปกว่านั้น การที่ประเทศเอเชีย เช่น อินโดนิเซีย อินเดีย จีน หรือแม้แต่ไทย เร่งโครงการสาธารณูปโภคมากขึ้น จะเป็นพื้นฐานของการพัฒนาในอนาคต โดยปี 2020 จะเป็นปีแรกที่เศรษฐกิจเอเชียกลับมามีขนาดใหญ่กว่าเศรษฐกิจอื่นๆ ในโลกรวมกันอีกครั้ง (เมื่อปรับเงินเฟ้อหรือ PPP term) อันจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของ “ศตวรรษแห่งเอเชีย”

เศรษฐกิจโลกไม่แตก ทรัมพ์สมัยสอง ลงทุนโลกพอไปได้ สงครามเย็นเปลี่ยนรูปแบบ และศตวรรษแห่งเอเชีย เหล่านี้คือคำทำนาย 5 ประการในปี 2020 ของผู้เขียน

แต่แน่นอนว่า ไม่มีคำทำนายได้ที่ไม่มีข้อผิดพลาด ดั่งพุทธภาษิตที่ว่า ความไม่แน่นอนคือความแน่นอน ฉะนั้น ท่านทั้งหลาย จงอยู่ด้วยความไม่ประมาทเถิด 

[บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่]