เศรษฐกิจปีหน้าต้องพร้อมอดทน

เศรษฐกิจปีหน้าต้องพร้อมอดทน

ผมเขียนเรื่องเกี่ยวกับเศรษฐกิจไม่ค่อยบ่อย เพราะเศรษฐกิจไทยไม่ค่อยเปลี่ยน วิเคราะห์ไม่ยากเพราะไม่ค่อยมีอะไรใหม่

 แต่ก็มีแฟนคอลัมน์ “เศรษฐศาสตร์บัณฑิต” หลายคนถามผมเกี่ยวกับเศรษฐกิจปีหน้า วันนี้เลยจะเขียนเรื่องนี้ เพราะตอนนี้ก็ใกล้จบปี และภาคธุรกิจคงต้องเริ่มคิด เริ่มวางแผนสำหรับเศรษฐกิจปีหน้า ทำให้อาจเป็นประโยชน์ที่จะให้ข้อคิดไว้

ถึงวันนี้ก็เหลืออีก 3 อาทิตย์ก็จะจบปี 2019 ตัวเลขต่างๆ ที่ออกมาตั้งแต่ต้นปีทำให้พอสรุปได้ว่าเศรษฐกิจปีนี้จะเป็นอย่างไร ในภาพรวมต้องบอกว่าเศรษฐกิจปีนี้ค่อนข้างผิดหวัง การขยายตัวออกมาต่ำกว่าระดับ 3 – 4 เปอร์เซนต์ ที่พูดกันไว้เมื่อตอนต้นปีมาก ตัวเลข 10 เดือนแรกที่แถลงโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ชี้ว่าเศรษฐกิจชะลอตัวต่อเนื่องจากช่วงครึ่งปีแรก การขยายตัวในไตรมาสสามลดเหลือร้อยละ 2.4 จากร้อยละ 2.5 ครึ่งปีแรก และล่าสุด ตัวเลขเดือนตุลาคม ก็ชี้ว่าเศรษฐกิจอยู่ในแนวโน้มขาลงต่อเนื่อง

ความอ่อนแอหลักของเศรษฐกิจไทย คือ เป็นเศรษฐกิจที่ไม่มีพลังและขาดพลวัตที่จะเติบโต ทำให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจจึงต่ำต่อเนื่อง ปีนี้การขยายตัวก็จะต่ำ ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีการเติบโตของรายได้เพียงพอกับการใช้จ่าย การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและค่าเงินบาท ทำให้ภาคส่งออกไม่ขยายตัวทั้งปี เมื่อคำสั่งซื้อจากต่างประเทศไม่มี การผลิตในภาคอุตสาหกรรมก็ชะลอ การลงทุนภาคเอกชนติดลบ ขณะที่การลงทุนของภาครัฐก็เคลื่อนไหวช้า กระทบการจ้างงานและรายได้ของผู้ผลิตและพนักงานลูกจ้าง ส่วนรายได้ภาคการเกษตรก็โตน้อยมาก เพียง 1-2 เปอร์เซนต์ ทั้งหมดทำให้กำลังซื้อภายในประเทศอ่อนแอ และแม้จะมีมาตรการกระตุ้นจากภาครัฐและรายได้จากการท่องเที่ยวเข้ามาเสริม การบริโภคในประเทศก็อยู่ในแนวโน้มชะลอตัว อัตราเงินเฟ้อจึงต่ำ เอื้อให้แบงก์ชาติสามารถลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่จากที่ปริมาณหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง ภาคเอกชนไม่ลงทุน และธนาคารพาณิชย์ก็ระมัดระวังการเพิ่มขึ้นของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ การขยายตัวของสินเชื่อจึงมีแนวโน้มลดลง แม้สภาพคล่องในระบบการเงินจะมีมาก ณ เดือนตุลาคม สินเชื่อขยายตัวร้อยละ 4 ต่ำกว่าการเพิ่มขึ้นของเงินฝาก

ความอ่อนแอเหล่านี้ ทำให้นักวิเคราะห์และหน่วยราชการปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้และปีหน้าลง ปีนี้ส่วนใหญ่มองว่าเศรษฐกิจอาจขยายตัวประมาณร้อยละ 2.6 – 2.7 ผมเองมองว่าจากความอ่อนแอที่เศรษฐกิจมีอยู่ และรัฐบาลคงไม่สามารถใช้จ่ายได้เพิ่มเติมในปีนี้เพราะความล่าช้าของงบประมาณ การเติบโตของเศรษฐกิจปีนี้อาจออกมาต่ำกว่าร้อยละ 2.5 ทำให้ปีนี้เศรษฐกิจจะขยายตัวต่ำกว่าปีที่แล้ว ที่ขยายตัวร้อยละ 4.1 ถึง 40 เปอร์เซนต์

จากสิ่งที่เกิดขึ้น ผมคิดว่าเศรษฐกิจปีนี้ให้ข้อคิดหลายอย่างเกี่ยวกับปัญหาเศรษฐกิจที่ประเทศมีอยู่และสิ่งที่ภาครัฐควรให้ความสำคัญในการกระตุ้นหรือแก้ไขปัญหา

ประการแรก ปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยขณะนี้อ่อนแอเกินไป ที่จะตั้งรับและปรับตัวต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก เพื่อรักษาการเติบโตที่ดีให้กับประเทศ ความอ่อนแอนี้ปรากฎชัดเจนในความสามารถของภาคเกษตรที่จะขยายการผลิต ในโครงสร้างการส่งออกที่ไม่สามารถปรับตัวหรือแข่งขันได้กับต่างประเทศเมื่อเศรษฐกิจโลกชะลอ และในภาคอุตสาหกรรม ที่ไม่มีการลงทุน ไม่มีนวัตกรรม ทำให้ประเทศไม่มีความสามารถใหม่ที่จะสร้างรายได้ ผลคือเศรษฐกิจต้องพึ่งการส่งออกและการท่องเที่ยวมาก และขาดความสามารถที่จะขับเคลื่อนการเติบโตด้วยตัวเองจากปัจจัยภายในประเทศ พูดง่ายๆ คือ เศรษฐกิจไทยเป็นเศรษฐกิจที่ขาดพลังและพลวัตที่จะเติบโต

สอง จากปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ประเทศมีอยู่ เมื่อเศรษฐกิจขยายตัวต่ำ รายได้ที่เกิดขึ้นก็ตกเป็นรายได้ของคนส่วนน้อย มากกว่าที่จะเป็นรายได้ของคนส่วนใหญ่ ทำให้ความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่ถูกระทบจากเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่ำ และประชาชนต้องปรับตัวมาก ผลสำรวจของสวนดุสิตโพลล่าสุด เผยแพร่ วันที่ 2 ธันวาคม 2562 ชี้ว่า 69 เปอร์เซนต์ของครัวเรือนขณะนี้กำลังปรับตัวโดยการลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น คือไม่ออกไปนอกบ้าน(ร้อยละ 40) ระมัดระวังการใช้จ่ายด้วยการวางแผนการเงิน(ร้อยละ 23) ซื้อเฉพาะสินค้าที่ลดราคา(ร้อยละ 21) และทำงานพิเศษเพื่อหารายได้เพิ่ม(ร้อยละ 19) นี่คือการปรับตัวของประชาชนที่กำลังเกิดขึ้น แสดงให้เห็นถึงผลกระทบและความอดทนที่ประชาชนมีกับภาวะเศรษฐกิจขณะนี้

สาม มาตรการเศรษฐกิจที่ได้ดำเนินการมาปีนี้ แม้มีความตั้งใจดี ต้องถือว่า ไม่ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหา ต่างกับประเทศอื่นในอาเซียน ที่แม้เศรษฐกิจจะต้องปรับตัวกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ตกต่ำเหมือนกับเรา แต่เศรษฐกิจในกลุ่มประเทศอาเซียนส่วนใหญ่สามารถขยายตัวได้น่าพอใจ และขยายตัวได้ดีกว่าเศรษฐกิจไทยเกือบทุกประเทศ ส่วนหนึ่งเพราะพลังทางเศรษฐกิจที่ประเทศเหล่านี้มีและส่วนหนึ่งมาจากการทำนโยบายที่แตกต่าง ที่สำคัญ ในกรณีของเรา ข้อมูลเริ่มแสดงให้เห็นว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ให้เงินประชาชนบางกลุ่มไปใช้จ่าย มีผลเพียงทำให้การบริโภคของประชาชนเพิ่มขึ้นตามการโอนเงินของภาครัฐเป็นครั้งคราว แต่ไม่สามารถต้านแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจได้ ชี้ว่า เศรษฐกิจต้องการการแก้ไขปัญหาด้วยนโยบายเศรษฐกิจที่แตกต่างจริงจังและต้องลุ่มลึกกว่าที่ผ่านมาจากปัญหาที่เศรษฐกิจมี

มองไปข้างหน้า เรื่องหนึ่งที่ชัดเจนก็คือ เศรษฐกิจโลกปีหน้าอาจจะไม่ดีขึ้นจากแนวโน้มที่เห็นขณะนี้ คือ เศรษฐกิจโลกปีหน้าและปีนี้ จะเหมือนๆ กัน เพราะความไม่แน่นอนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสงครามการค้า ปัญหาภูมิศาสตร์เศรษฐกิจ และความไม่แน่นอนด้านนโยบายยังจะมีอยู่ ทำให้การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกยังจะมีต่อไป และเศรษฐกิจโลกปีหน้าคงจะไม่ขยายตัวในอัตราที่สูงกว่าปีนี้ เป็นภาพที่แตกต่างจากที่ประเมินกันเมื่อตอนต้นปีมาก ทำให้ปีหน้าการส่งออกและความสามารถในการหารายได้ของประเทศไทยก็จะถูกกดดันต่อไป กระทบรายได้และความเป็นอยู่ของประชาชน หมายความว่า ประชาชนส่วนใหญ่จะต้องอดทนและต้องปรับตัวต่อไปกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่อาจยังไม่ดีขึ้นในปีหน้า ความหวังปีหน้ามีอยู่อย่างเดียว คือหวังว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโลกจะพลิกกลับ และ หรือนโยบายภาครัฐมีการเปลี่ยนแปลงและประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหา ซึ่งจะไม่ใช่เรื่องง่ายทั้ง 2 เรือง ทำให้ปีหน้าประชาชนต้องพร้อมอดทน ต้องระมัดระวังและไม่ประมาทกับสถานการณ์เศรษฐกิจ