ต้อนรับปีหนูทอง ด้วย 5 กลยุทธ์การลงทุน

ต้อนรับปีหนูทอง ด้วย 5 กลยุทธ์การลงทุน

ผ่านไปไม่ทันไร ก็เข้าสู่เดือนสุดท้ายของปีกันอีกแล้ว ผลตอบแทนปีนี้คลาดเคลื่อนไปจากการคาดการณ์บนความกังวลหลากหลายในช่วงปลายปีก่อน

นักลงทุนกลับมาสร้างกำไรได้ในแทบจะทุกสินทรัพย์ ซึ่งนับเป็นสิ่งที่ดี แต่ภาพรวมปีหน้ายังมีความท้าทายอยู่ไม่น้อย ทั้งจากเรื่องเดิมๆ ท่ามกลางวัฏจักรเศรษฐกิจโลกในช่วง Late Cycle ประกอบกับข้อพิพาททางการค้าที่คาราคาซังมานาน รวมถึงเรื่องใหม่ๆ บนความไม่แน่นอนจากช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปลายปี ที่คาดว่าจะสร้างความผันผวนให้ตลาดตลอดทั้งปี 2020

แล้วเราควรจัดหรือปรับพอร์ตการลงทุนอย่างไรเพื่อรับมือกับปี 2020 อย่างเหมาะสมที่สุด โดยบทความนี้ได้รวบรวม 5 กลยุทธ์การลงทุนที่น่าสนใจ ดังนี้

1) กระจายความเสี่ยงและเพิ่มความคล่องตัวของพอร์ต: ท่ามกลางสถานการณ์ที่อาจเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและไม่สามารถคาดเดาทิศทางได้ เพราะหลายประเด็นเป็นปัญหาระดับนโยบาย ภายใต้เศรษฐกิจเปราะบาง นักลงทุนยังต้องยึดกับการกระจายความเสี่ยง โดยลงทุนในหลายสินทรัพย์ ในหลายภูมิภาคพร้อมๆ กัน เพื่อลดความผันผวนอย่างรุนแรงจากผลกระทบของสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่ง หรือกลุ่มประเทศหนึ่งๆ นอกจากนี้ ในช่วงที่ตลาดอ่อนไหว หรือนักลงทุนใจไม่นิ่ง ยังสามารถถือเงินสดไว้บ้างเพื่อพยุงพอร์ตและเพิ่มความยืดหยุ่นในการปรับพอร์ต หากราคาสินทรัพย์ใดๆ ที่เล็งอยู่ ลดลงสู่ระดับที่น่าสนใจอีกครั้ง

2) ป้องกันพอร์ตด้วยสินทรัพย์ปลอดภัยหรือสินทรัพย์ที่สัมพันธ์กับสินทรัพย์หลักต่ำ: นอกจากสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างทองคำและเงินเยนที่เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าราคามักปรับเพิ่มขึ้นในช่วงที่ตลาดผันผวน ซึ่งนักลงทุนควรมีติดพอร์ตไว้บ้าง เช่น 5% ของเงินลงทุนทั้งหมดแล้ว สินทรัพย์ที่ผลตอบแทนมีความสัมพันธ์น้อยหรือไม่สัมพันธ์ หรือสัมพันธ์ในทางตรงข้ามกับการเคลื่อนไหวของสินทรัพย์หลักก็น่าสนใจไม่น้อย เช่น การลงทุนแบบ Hedged Fund ที่ใช้กลยุทธ์การ Long และ Short สินทรัพย์ชุดหนึ่งๆ พร้อมๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มหุ้น หรือ ตราสารหนี้ แม้กระทั่งอัตราแลกเปลี่ยน ก็เป็นทางเลือกที่ดีในเวลานี้เช่นกัน

3) สร้างรายได้ (Carry) ในกลุ่ม High Yield : ในภาวะดอกเบี้ยต่ำ ตัวเลือกการลงทุนในตราสารหนี้ดูจะน้อยลง อย่างไรก็ตาม ตราบที่เศรษฐกิจยังทรงตัวและความผันผวนของตลาดหุ้นอยู่ในระดับปานกลาง หุ้นกู้ High Yield ยังเป็นสินทรัพย์ที่พอจะตอบโจทย์นักลงทุนได้ แต่ต้องอาศัยการวิเคราะห์โดยผู้เชี่ยวชาญอย่างถี่ถ้วนในการคัดสรรเฉพาะหุ้นกู้ที่มีความสามารถชำระดอกเบี้ยและเงินต้นเท่านั้น และนักลงทุนควรกระจายลงทุนในหุ้นกู้หลายๆ ตัว เพื่อลดความเสี่ยงของการกระจุกตัว ทั้งในระดับบริษัท อุตสาหกรรม ประเทศ และภูมิภาค ปัจจุบัน ดอกเบี้ยในยุโรปและญี่ปุ่นเข้าขั้นติดลบ ทำให้หุ้นกู้กลุ่มประเทศเกิดใหม่โดยเฉพาะในสกุลดอลลาร์ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนได้มาก

4) หุ้นที่โดดเด่น: ตลาดหุ้นยังมีแนวโน้มเดินหน้าให้ผลตอบแทนที่เป็นบวกได้ต่อ หากการเจรจาการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ มีความคืบหน้าที่ดี บวกกับนโยบายการเงินโลกที่ผ่อนคลายจะช่วยผลักดันตลาดหุ้น ถึงแม้อัตราการเติบโตของรายได้จะยังคงอ่อนแรง ทั้งนี้ ความตึงตัวของตลาดแรงงานหรือการใช้จ่ายภาครัฐฯ ต้องไม่ผลักให้อัตราเงินเฟ้อสูงจนธนาคารกลางต้องกลับมาขึ้นดอกเบี้ย นักลงทุนต้องให้ความสำคัญกับการคัดสรรเลือกหุ้น The Winner โดยโฟกัสไปยังอุตสาหกรรมหรือภูมิภาคที่โดดเด่น เช่น เฮลท์แคร์ เทคโนโลยี และพลังงาน ไปถึงหุ้นกลุ่มประเทศเกิดใหม่ที่มีการปฏิรูปนโยบายต่างๆ เพื่อผลักดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้ต่อเนื่อง

5) สร้างผลตอบแทนเพิ่มเติมในสินทรัพย์ทางเลือก: บางครั้งความวิตกระยะสั้นๆ ทำให้ราคาสินทรัพย์ทางการเงินที่เราคุ้นเคยเช่น หุ้น และหุ้นกู้ ผันผวนสูง กดดันให้นักลงทุนซื้อๆ ขายๆ สุดท้ายไม่ได้อะไร ดังนั้น ทางออกหนึ่งคือลงทุนในสินทรัพย์จริงที่จับต้องได้ (Real Assets) อย่างอสังหาริมทรัพย์และโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งหุ้นของบริษัทนอกตลาด ที่มีความเสี่ยงเรื่องสภาพคล่องเพราะต้องล็อกเงินลงทุนนาน แต่ราคาผันผวนน้อยกว่าสินทรัพย์ทางการเงินทั่วไป เพราะไม่มีราคาตลาดให้เปลี่ยนแปลงได้ทุกวันตามความตื่นตระหนกในชั่วขณะใดขณะหนึ่ง ในทางกลับกัน การประเมินราคามักขึ้นกับมูลค่าพื้นฐานของสินทรัพย์เหล่านั้น อย่างไรก็ดี สินทรัพย์กลุ่มนี้เหมาะสำหรับเงินลงทุนที่สามารถวางไว้ได้ระยะยาวเช่น 5 ปี ขึ้นไป และไม่เหมาะเป็นสัดส่วนหลักของพอร์ต