TikTok ดาวเด่นของ โซเชียลแพลตฟอร์ม

TikTok ดาวเด่นของ โซเชียลแพลตฟอร์ม

TikTok ขึ้นแท่นโมบายแอพยอดนิยมด้วยจำนวนดาวน์โหลดสูงกว่า 1,500 ล้านครั้งผ่านแอพสโตร์และกูเกิลสโตร์ จนขึ้นแชมป์อันดับ 3

เป็นรองแต่เพียง WhatsApp และ Messenger ของเฟซบุ๊ค โดยมียอดดาวน์โหลดสูงสุดจากอินเดีย จนถึงอังกฤษ ฝรั่งเศสและญี่ปุ่น และแพร่หลายในกว่า 155 ตลาดทั่วโลก

ความสำเร็จของ TikTok กำลังเป็นที่จับตามองจากคู่แข่งทุกค่าย โดยเฉพาะเมื่อ TikTok ทำรายได้จากการโฆษณากว่า 7,100 ล้านดอลลาร์ในช่วงหกเดือนแรกของปี 2019 ด้วยสัดส่วนตลาดถึง 23% กลายเป็นแพลตฟอร์มที่ทำรายได้เป็นอันดับสองในจีน รองจากอาลีบาบาซึ่งทำรายได้กว่า 10,250 ล้านดอลลาร์หรือคิดเป็นสัดส่วน 33% ของตลาด โดย TiKTok ทำรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 113% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และทำรายได้แซง Baidu และ Tencent ไปแล้ว

 

กำเนิดแพลตฟอร์ม

แม้จะเป็นแอพโซเชียลมีเดียที่มีต้นกำเนิดในจีนแต่ TikTok ก็ประสบความสำเร็จอย่างมากนอกประเทศจีน ด้วยความเป็นแอพของการสร้างวิดีโอสั้นที่สดใหม่ไปด้วยฟีเจอร์ที่สนุกสนานและสดชื่น ทำให้โดนใจวัยรุ่น GenZ จนเกิดเซเลบชื่อดังอย่าง Loren Gray วัย 17 ซึ่งมีแฟนติดตามถึง 35 ล้านคน รวมถึงเซเลบ GenZ อย่าง Kristen Hancher และ Jacob Sartorius ตลอดจนคนดังอย่าง Jimmy Fallon, Tony Hawk, Ellen DeGeneres และ Maroon 5

TikTok ถูกพัฒนาต่อยอดโดยการนำของอเล็กซ์ ซู (Alex Zhu) สตาร์ทอัพชาวจีนที่เป็นผู้ร่วมก่อตั้งและพัฒนาแพลตฟอร์มชื่อ “Musical.ly” ขึ้นในปี 2014 โดยเป็นแอพที่รวมเอาฟีเจอร์การสร้างวิดีโอสั้นและการร้องคาราโอเกะเข้าด้วยกัน จนเป็นที่นิยมของกลุ่มวัยรุ่นในยุโรปและอเมริกา ในปี 2017 Musical.ly ได้ถูกซื้อกิจการโดยบริษัท ByteDance ของจาง ยี่หมิง (Zhang Yiming) สตาร์ทอัพหนุ่มชาวจีนด้วยมูลค่าเกือบ 1,000 ล้านดอลลาร์ โดยในเวลานั้น ByteDance มีแพลตฟอร์มในลักษณะเดียวกันที่ชื่อ “เตาอิน (DouYin)” และ TikTok อีกทั้งยังเป็นเจ้าของแพลตฟอร์มข่าวชื่อดังเช่น “โถวเถี่ยว (หรือ Jinri Toutiao)”, TopBuzz, BuzzVideo และ Babe

ในปี 2018 ภายหลังการควบรวมกับ ByteDance แอพ Musical.ly ถูกปรับปรุงด้านเทคนิคและ AI และรวมเข้าเป็นแอพเดียวกับ TikTok ซึ่งเป็นเสมือนเวอร์ชั่นต่างประเทศของแอพ Douyin โดยปริยาย และอยู่ภายใต้การบริหารของ Alex Zhu ซึ่งได้อธิบายสถานะข้อมูลของ TikTok ว่า ข้อมูลผู้ใช้งานของ TikTok ถูกแยกการจัดการออกจากแพลตฟอร์มของ ByteDance โดยข้อมูลถูกเก็บอยู่ในสหรัฐและสำรองข้อมูลไว้ที่สิงคโปร์

ByteDance ซึ่งได้รับการสนับสนุนเงินทุนจาก SoftBank ได้ชื่อว่าเป็นสตาร์ทอัพที่มีมูลค่าสูงที่สุดรายหนึ่งโดยในปี 2018 ได้ถูกประมาณมูลค่าไว้ถึง 78,000 ล้านดอลลาร์ และนับเป็นบริษัทที่มีความสามารถในการพัฒนาระบบแนะนำคอนเทนท์ที่ผู้ใช้งานอาจสนใจ (Recommendation Algorithm) ผ่าน AI ที่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนสามารถพัฒนาระบบเสริช์ที่ตอบโจทย์พฤติกรรมการค้นหาข้อมูลผ่านแอพข่าวดังอย่าง Toutiao และไลฟ์สไตล์คอนเทนท์แบบวิดีโอได้เป็นอย่างดี จนสามารถสร้างรายได้จากการโฆษณาออนไลน์เหนือคู่แข่งรายใหญ่

 

ขยายโอกาส

จากฐานผู้ใช้งานแพลตฟอร์มจำนวนมากมายทั่วโลกจึงเป็นโอกาสให้ TikTok ขยายรายได้ โดยล่าสุดมีข่าวว่า ByteDance อาจตกลงกับ Universal Music, Sony Music และ Warner Music เพื่อเปิดบริการ Streaming Music กับสมาชิกเป็นรายเดือน โดยจะเริ่มเปิดให้บริการในอินเดีย บราซิลและอินโดนีเซียก่อน นับเป็นการเข้าชิงตลาดเพลงจาก Spotify และแอปเปิ้ลซึ่งเป็นผู้เล่นสำคัญ 

TikTok อาจจะกลายเป็นแอพที่ให้บริการเพลงรายใหญ่เหนือคู่แข่งอย่าง Spotify ในตลาดอินเดียเนื่องจากจำนวนดาวน์โหลดกว่า 76.2 ล้านครั้งซึ่งมากกว่า Spotify ที่มีจำนวนดาวน์โหลด 9.3 ล้านครั้งในไตรมาสที่สามของปี 2019 ตามข้อมูลที่ระบุโดย Sensor Tower ซึ่งหาก TikTok สามารถนำเอากลยุทธ์ “Video First” ให้เกิดเป็นเทรนด์ใหม่ในกลุ่มวัยรุ่นด้วยการฟังเพลงแบบอินเตอร์แอคทีฟผ่าน TikTok ได้สำเร็จจะสร้างโอกาสครั้งใหญ่ในตลาดเพลงทั่วโลก

 

ท่ามกลางสภาวะลำบาก

ในเวลานี้คงเลี่ยงไม่ได้ที่แพลตฟอร์มโซเชียลที่ถือกำเนิดในจีนและได้รับความนิยมอย่างมากจากชาวอเมริกันจะต้องถูกตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ด้านความปลอดภัย โดยเฉพาะเมื่อ hashtag การเมืองอย่าง #trump2020 ถูกเข้าชมกว่า 270 ล้านวิว ถึงแม้ว่า TikTok จะปฏิเสธการเข้าพัวพันทางการเมืองกับรัฐบาล หรือปฏิเสธการให้โฆษณาทางการเมือง กระทั่งยืนยันว่าไม่ได้เซนเซอร์คอนเทนท์ของผู้ใช้งานก็ตาม การแข่งขันของโซเชียลแพลตฟอร์มดาวเด่นใหม่นี้คงต้องเผชิญกับบทพิสูจน์อีกมาก