เกาะกระแสการลงทุนนต่างประเทศด้วยหุ้นไทย

เกาะกระแสการลงทุนนต่างประเทศด้วยหุ้นไทย

ในการลงทุนนั้น ผู้ลงทุนอาจคัดเลือกหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดีจากหลากหลายกลุ่มอุตสาหกรรมมาสร้างเป็นพอร์ตการลงทุนตามที่ต้องการ

 หรือผู้ลงทุนอาจใช้แนวคิดในการจัดกลุ่มหุ้นโดยไม่อ้างอิงกับกลุ่มอุตสาหกรรมแบบที่เรียกว่า Theme การลงทุน เช่น หุ้นปันผล หุ้นยั่งยืน เป็นต้น และมาคัดเลือกหุ้นจากกลุ่มดังกล่าวที่มีพื้นฐานดีมีการเติบโตสูงมาสร้างพอร์ตการลงทุนก็ได้

สำหรับ Theme การลงทุนที่น่าสนใจและอยากกล่าวถึงก็คือ การพิจารณาถึงการจัดพอร์ตการลงทุนตามแนวคิดการกระจายการลงทุนไปในธุรกิจต่างประเทศ (International Exposure) ด้วยจะช่วยกระจายความเสี่ยงของธุรกิจที่ผูกกับเศรษฐกิจของประเทศใดเพียงประเทศหนึ่ง โดยเลือกลงทุนหุ้นต่างประเทศ หรือลงทุนหุ้นในประเทศที่มีการขยายธุรกิจไปเติบโตในต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นอีกปัจจัยในการช่วยสร้างการเติบโตของรายได้ในอนาคตได้อย่างต่อเนื่องเพิ่มเติมจากรายได้จากในประเทศเพียงอย่างเดียว

ในอดีตการสร้างพอร์ตลงทุนในลักษณะดังกล่าว อาจทำได้จำกัด กล่าวคือ บริษัทในประเทศที่มีรายได้จากต่างประเทศที่เป็น International Exposure อาจไม่มาก ในขณะที่การซื้อหุ้นตรงในประเทศอื่นที่สนใจ ผู้ลงทุนจะต้องใช้เวลาในการศึกษาข้อมูลของบริษัทที่สนใจในต่างประเทศ รวมถึงทำความเข้าใจเรื่องกฏเกณฑ์การลงทุนและภาษี ข้อจำกัดเกี่ยวกับผู้ลงทุนต่างชาติ เพื่อพิจารณาถึงต้นทุน ความยุ่งยาก อย่างไรก็ตามในช่วงที่ผ่านมา ด้วยการผ่อนคลายการกฏเกณฑ์และความเชื่อมโยงของการค้าการลงทุน ทำให้บริษัทต่างๆ มีการขยายธุรกิจในต่างประเทศมากขึ้น การสร้าง International Exposure ในทุกวันนี้จึงไม่จำเป็นต้องมองเพียงแค่สถานที่ตั้งของบริษัทนั้นๆ แต่มองถึงรายได้ (Revenue Base) ว่าเกิดจากประเทศใดบ้าง

ตัวอย่างเช่น บริษัท Apple Inc เป็นบริษัทสหรัฐอเมริกาแต่มีสัดส่วนรายได้จากประเทศสหรัฐอเมริกาเพียงแค่ 40% เท่านั้น ขณะที่รายได้อีก 60% มาจากการขายสินค้าในภูมิภาคอื่นๆ บริษัท Nestle ซึ่งเป็นบริษัทสวิตเซอร์แลนด์ก็มีสัดส่วนรายได้กว่า 70% จากการขายสินค้านอกทวีปยุโรป เช่นเดียวกับกรณีของบริษัท Christian Dior ซึ่งเป็นบริษัทฝรั่งเศส แต่มีรายได้กว่า 80% จากนอกทวีปยุโรป ซึ่งการกระจายแหล่งรายได้นี้ มีข้อดีในการลงทุนคือเป็นการกระจายความเสี่ยงด้วยผลการดำเนินงานของหุ้นเหล่านี้จะไม่ได้ผูกกับภาวะเศรษฐกิจการเมืองของประเทศใดประเทศหนึ่งเพียงอย่างเดียว ดังจะเห็นได้จากกรณีของ Brexit ในปี 2016 ในขณะนั้นหุ้นบริษัท Barratt Developments ซึ่งเป็นบริษัทก่อสร้างซึ่งมีรายได้หลักจากภายในประเทศอังกฤษ ได้รับผลกระทบมีราคาหุ้นลดลงกว่า 40% ขณะที่บริษัท Burberry ซึ่งเป็นบริษัทอังกฤษเช่นกันแต่มีรายได้ 90% จากขายสินค้าในต่างประเทศและมีรายได้จากอังกฤษเพียงแค่ 10% กลับไม่ได้รับผลกระทบต่อราคาหุ้นที่ซื้อขาย   

หากย้อนมาพิจารณาการลงทุนแบบ International Exposure ผ่านหุ้นไทยก็สามารถทำได้เช่นกัน ด้วยธุรกิจไทยจำนวนมากมีการขยายกิจการไปยังต่างประเทศ โดยจากข้อมูลพบว่ามีบริษัทจดทะเบียนไทยจำนวน 108 บริษัท     ที่มีรายได้จากต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง และในบริษัทกลุ่มนี้มีสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศเพิ่มขึ้นจาก 35% ในปี 2549 เป็น 47% ในปี 2561 ซึ่งหากวิเคราะห์ในรายละเอียดแล้ว จะพบว่าเป็นรายได้ที่มาจากภูมิภาค CLMV (ประเทศกัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม) ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญของบริษัทไทยสูงถึง 87,000 ล้านบาท

การลงทุนในหุ้นไทยเพื่อสร้าง Exposure ในภูมิภาค CLMV นี้ มีจุดเด่นที่สามารถทำได้ง่าย สะดวก มีสภาพคล่อง เมื่อเทียบกับการไปลงทุนในหุ้นในตลาดหุ้นใน CLMV โดยตรง และยังมีหลากหลายหุ้นให้เลือกลงทุน ผู้ลงทุนไม่จำเป็นต้องศึกษากฎเกณฑ์การลงทุนของต่างประเทศเพิ่มเติม ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีการรวบรวมข้อมูลของหุ้นที่มีธุรกิจใน CLMV ไว้ที่เว็บไซด์ของตลาด และได้มีการจัดทำดัชนี SET CLMV เพื่อสะท้อนผลการดำเนินงานของหุ้นที่มี Exposure ในกลุ่ม CLMV โดยดัชนีประกอบด้วยหุ้น 35 บริษัทที่มีสัดส่วนรายได้จากกลุ่มประเทศ CLMV ไม่ต่ำกว่า 10% มีขนาดใหญ่และมีสภาพคล่องสูง ผู้ลงทุนที่สนใจสามารถศึกษารายชื่อหุ้นที่เป็นองค์ประกอบของดัชนีเพื่อเป็น Guideline ในการเลือกลงทุนด้วยตนเองได้จาก https://www.set.or.th/th/products/index/SETCLMV.html

นอกจากการลงทุนตามแนวคิด International Exposure ข้างต้นแล้ว การสร้างพอร์ตลงทุนตาม Theme ยังสามารถทำได้ในหลายรูปแบบซึ่งจะมานำเสนอในโอกาสถัดไป อย่างไรก็ดี ผู้ลงทุนที่เลือกใช้วิธีลงทุนตาม Theme ควรทราบว่ารูปแบบการลงทุนนี้อาจทำให้หุ้นส่วนใหญ่ที่เลือกมาในพอร์ตมีคุณสมบัติหรือ Reaction ต่อสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นคล้ายๆ กัน ซึ่งหากสถานการณ์เป็นไปตามที่คาดหุ้นเหล่านั้นก็จะสร้างผลตอบแทนได้ดี แต่ในทางกลับกันหากไม่เป็นไปตามที่คาดไว้ ก็จะส่งผลกระทบต่อหุ้นหลายตัวที่เลือกไว้พร้อมกันได้ ดังนั้น ผู้ลงทุนจึงควรเข้าใจถึงหลักการและเหตุผลในการคิดและเลือก Theme การลงทุนของตนเอง และควรมีการกำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจน เพื่อคอยตรวจสอบ (Monitor) สถานการณ์และประเมินการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การลงทุนอย่างเป็นระบบ เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีได้จากการลงทุนแบบ Thematic Investment