ความเกลียดชังเป็นพิษร้าย

ความเกลียดชังเป็นพิษร้าย

เมื่อพูดกันถึง “พิษร้าย” หลายฝ่ายขณะนี้กำลังถกเถียงเรื่องการห้ามสารอันตรายหรือสารเคมีที่เป็นพิษกันอย่างหนัก

 เพราะเรื่องไปสะดุดตรงที่ยังห้ามได้ไม่ขาดด้วยเหตุผลต่างๆ นานา แต่เรื่องที่เป็นพิษจีรังยั่งยืนและเป็นอันตรายยิ่งกว่า อันเป็นที่มาของปัญหาทั้งหลายทั้งปวงในโลกมนุษย์ของพวกเราคือ “ความเกลียดชัง

ผมลองค้นหาประเด็นว่าด้วยความเกลียดชังในเว็บไซต์ ค้นหาสิ่งที่เราอยากรู้ในอินเตอร์เน็ตอย่างกูเกิล พบว่า ถ้าพิมพ์คำว่า “เกลียดชัง” จะมีแหล่งค้นหาอยู่ราว 7 - 8 ล้าน แต่ถ้าพิมพ์คำว่า “hatred” จะมีอยู่เกือบ 100 ล้านแหล่งข้อมูล มิได้หมายความว่า สังคมของเรามีความเกลียดชังน้อยกว่าฝรั่ง แต่ผมมองว่า คนไทยอาจอยู่กันอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัยและยังไม่มีปรากฎการณ์ที่ความเกลียดชัง นำไปสู่การฆ่าแกงกันเป็นสงครามกลางเมืองหรือสงครามโลก รวมทั้งสงครามที่ประกาศและไม่ประกาศอีกดาษดื่น

แต่เราคงประมาทไม่ได้เลย เพราะ “พิษร้าย” ของความเกลียดชังในบ้านเมืองของเราเป็นสิ่งที่ปรากฏชัดว่ามีน้อยมีมากเท่าใดอาจยังไม่มีการสำรวจเป็นที่แน่ชัด เหมือนที่ค้นในกูเกิลยังมีไม่มากก็อาจด้วยกูเกิลคุ้นกับภาษาอังกฤษมากกว่า แต่ทุกคนพบและเชื่อว่า “ความเกลียดชังในสังคมของพวกเรามีอยู่จริง” ในภาคการศึกษาที่ผ่านมาผมสอนวิชาแปลเป็นภาษาไทยได้ประมาณว่า “ความเป็นธรรมและความหลากหลายทางสังคมไทย” ชื่อวิชาอาจเน้นเป็นเรื่องสังคมของไทยแต่วัตถุประสงค์ของวิชาบอกกับนิสิตตั้งแต่เริ่มต้นแล้วว่า เราจะเชื่อมโยงไปยังที่อื่นๆ ในโลกใบนี้ด้วย เพราะเดิมทีก่อนจะเปิดวิชานี้ ผมเสนอให้ใช้ชื่อวิชาสั้นๆ ง่ายๆ ว่า “ความเป็นธรรมทางสังคมหรือ social justice” สิ่งหนึ่งที่ให้นิสิตในชั้นเรียนได้ศึกษาหาความรู้ คือ การให้โอกาสนิสิตมีอิสระค่อนข้างมาก เพราะเนื้อหาวิชาค่อนข้างกว้าง เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าใจชีวิตความเป็นอยู่ ความแตกต่างของผู้คนที่อยู่ร่วมกันในสังคมแบบที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า human differences ให้รับรู้ว่า ในโลกแห่งความเป็นจริงเรามีชีวิตความเป็นอยู่กันอย่างไร สังคมเราอาจไม่หลากหลายเหมือนในบางสังคม ด้วยการให้เขาไปศึกษาดูงานในที่ต่างๆ ทั้งแหล่งกำเนิดความเป็นประชาธิปไตยที่คนชอบพูดถึง รวมทั้งไปในที่ซึ่งให้เขาได้เข้าใจระบบเศรษฐกิจ การแย่งชิงรักษาผลประโยชน์ของคนเราและองค์กรที่เข้ามาแก้ไขจัดการกับคนที่เอารัดเอาเปรียบและฉกชิงผลประโยชน์ของส่วนรวม เรียกว่าให้เขาได้เห็นความครบถ้วนทุกรสชาติของชีวิต ทั้งที่มาของความเป็นปึกแผ่นรู้รักสามัคคีของคนในชาติ “ฮ่องกง” เป็นกรณีศึกษาร่วมสมัย จะว่าไปคนจีนด้วยกันทั้งนั้นแต่มาห้ำหั่นกันเอง กระทั่งผู้นำต้องมาเดินสายหาทางแก้ปัญหากับมิตรประเทศรวมทั้งประเทศไทยของเราด้วย

วันนี้สภาวะทางการเมืองมีความชัดเจนไม่เปลี่ยนแปลง คือ ความไม่ลงรอยกันของฝ่ายที่อยู่ในอำนาจรัฐ กับ ฝ่ายที่ต้องการมีอำนาจรัฐ ถึงแม้ไม่มีการประกาศเป็น “ศัตรู” กันอย่างชัดเจน แต่ผลงานทั้งในและนอกสภาฯ รวมทั้งการเคลื่อนไหวทางการเมืองของแต่ละฝ่ายย่อมสะท้อนอยู่ในตัวของมันเองว่า มีจุดยืนอยู่คนละฟากฝั่ง เข้ากันไม่ได้ ถ้าจะกินข้าวกันก็ต่างคนต่างกินต่างคนต่างจัดเลี้ยง แต่ไม่ค่อยได้เห็นรัฐบาลกับฝ่ายค้านร่วมกันนั่งทานข้าว พูดคุยกันฉันท์มิตรให้ประชาชนได้ชื่นอกชื่นใจว่ามีภาพของการทำงานอย่างสร้างสรรค์ อันเป็นจุดมุ่งหมายของ “รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน” ที่ยังคงมีคนเรียกร้องให้แก้ไข เพียงเพราะเป็นไปตามเป้าประสงค์ของการหาเสียงเลือกตั้งที่บางฝ่ายแพ้การเลือกตั้งเพราะเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ยังคงยืนกรานต้องแก้ให้ได้ จึงรู้สึกฉงนสนเท่ห์กับหลักคิดหรือ “ตรรกะ” วิธีคิดของคนที่เสนอให้แก้ไขหรือกระทั่งฉีกรัฐธรรมนูญฉบับนี้ทิ้งไป

วันดีคืนดีมีสื่อมวลชนมาแจ้งข่าวว่า ผมมีชื่อไปร่วมเป็นกรรมาธิการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กำลังจะตั้งกันอยู่ ผมจึงรีบบอกไปทันทีว่า เป็นข่าวปลอม(fake news) เพราะเราร่างกันมากับมือด้วยความมั่นใจและด้วยกำลังสติปัญญาที่ กรรมการ่างรัฐธรรมนูญ (กรธ) ทุกคนมีอยู่ ก่อนนำไปให้ประชาชนทำประชามติ จะเป็นไปได้อย่างไรที่ผมจะไปร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะจะกลายเป็นเหตุมาต่อว่าในภายหลังได้ว่า เรานำร่างรัฐธรรมนูญที่มีข้อบกพร่องไปให้ประชาชนทำประชามติกระนั้นหรือ เรื่องราวทำนองนี้เป็นกลวิธีในการปลุกปั่นกระแสให้เกิดความเกลียดชัง เป็นเป้าล่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ด้วยการหยิบเอาประเด็นเล็กน้อยมาขยายใหญ่ออกไป

ยุทธวิธีสร้างความเกลียดชังอันเป็นพิษร้าย ยังคงได้รับการผลิตซ้ำแล้วซ้ำเล่าผ่านช่องทางการสื่อสารหลายรูปแบบ บ้านเมืองเราจะเจริญไปไกลกว่านี้อีกมากหากทัศนคติ “พวกเขา พวกเรา (us and them attitude)” ไม่ถูกนำมาใช้เป็นอคติในการทำลายล้างซึ่งกันและกัน เรายังโชคดีที่ความเกลียดชังไม่ฝังรากลึกกันกระทั่งอยู่ร่วมกันไม่ได้ แต่เราแยกปลาแยกน้ำตามความเป็นพรรคเป็นพวก เป็นก๊วนเป็นรุ่น รวมทั้งอคติอันเกิดด้วย มิจฉาทิฐิ และกิเลศอันเกิดจากความรักโลภโกรธหลงกันเป็นนิจ ทางพระพุทธศาสนา สอนให้เราเอาชนะความเกลียดชังด้วย การให้อภัย ซึ่งเป็นสัจธรรมอันสูงยิ่งเพราะหากเราสามารถก้าวข้ามความอาฆาตพยาบาท หรือความรู้สึกชิงชังบุคคลใดหรือสิ่งใดได้แท้จริง ความสงบร่มเย็นและความเป็นสุขอันเป็นนิรันดร์จะเกิดขึ้นในบัดดล