4 เรื่องกฎหมายการเงินใหม่ ต้องทราบปี 2563

4 เรื่องกฎหมายการเงินใหม่ ต้องทราบปี 2563

กลับมาพบกับบทความสุดท้ายของปี  2562 กันแล้วนะครับ ช่วงนี้หลายคนเริ่มวางแผนสำหรับปีหน้ากันแล้ว

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำงาน ชีวิตส่วนตัว รวมไปถึงเรื่องเงินๆทองๆที่ต้องวางแผน  วันนี้ผมมีผู้เชี่ยวชาญในด้านการวางแผนการเงินของบริษัท Wealth Creation International Co., Ltd. คุณปิติพงษ์ รุ่งเรืองวุฒิกุล CFP®  จะมาเล่าเรื่องกฎหมายการเงินที่จะออกใหม่ในปี 2563 ได้ผู้อ่านทุกท่านได้เตรียมตัวกันตั้งแต่เนิ่นๆครับ

 

“วันนี้ผม ขอเลือกกฎหมายที่น่าสนใจและน่าจะมีผลกระทบกับท่านผู้อ่านพอสมควรมา สรุปให้ได้อ่านกันครับ

เริ่มด้วย การหมดเขตการใช้สิทธิลดหย่อน LTF โดยในปี 2562 นี้จะเป็นปีสุดท้ายที่สามารถใช้ค่าซื้อ LTF มาเป็นค่าใช้จ่ายในการลดหย่อนภาษีส่วนบุคคลได้ โดยในขณะที่ผู้เขียนเขียนบทความนี้นั้น  ได้มีประกาศถึงมติ ครม. เกี่ยวกับกองทุน SSF ที่จะมาเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งในการลงทุนที่สามารถลดหย่อนภาษีได้ เหมือนกับ LTF โดยที่กองทุน SSF นั้นจะต่างจาก LTF ตรงที่ ผู้ซื้อต้องถือกองทุนนี้เป็นระยะเวลา ไม่น้อยกว่า 10 ปี และ สามารถซื้อได้ ไม่เกิน 30% ของรายได้ และไม่เกิน 200,000 บาท และ เมื่อนำไปรวมกับ RMF, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กบข. , ประกันชีวิตแบบบำนาญ และกองทุนออมแห่งชาติ จะต้องไม่เกิน 500,000 บาทอีกด้วย

จากกฎเกณฑ์นี้ กลุ่มคนที่น่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุด คือกลุ่มผู้บริหารระดับสูง หรือผู้มีรายได้ประจำเฉลี่ยเกิน 250,000 บาทขึ้นไป เพราะจากเดิม ที่สามารถใช้สิทธิลดหย่อน LTF และ RMF รวมกันได้สูงสุด 1,000,000 บาท จะลดลงมาเหลือแค่ 500,000 บาทเท่านั้น จากการลองคำนวณดู ผู้บริหารที่มีรายได้ปีละ 3,400,000 บาท จะมีความเป็นไปได้ที่จะต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นอีกปีละ 150,000 บาทเลยทีเดียว

ยังไม่หมดแค่นั้น ณ วันแรกของปีวันที่  1 มกราคม 2563  จะเป็นวันแรกที่เริ่มมีการประเมิน และเรียกเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่ง ณ วันที่ 1 มกราคมนั้น ที่ดินทุกที่ที่เรามีชื่อเป็นผู้ครอบครองนั้นจะถูกนำมาคำนวณภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทั้งหมด โดยที่ หากเป็นบ้านพร้อมที่ดินที่เรามีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน และมูลค่าประเมิน ไม่เกิน 50 ล้านบาท ก็จะได้รับการยกเว้น ไม่ต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แต่หากเกิน 50 ล้านบาท ส่วนที่เกินจะถูกนำไปคิดคำนวณภาษี ที่อัตรา 0.03%-0.10% ขึ้นอยู่กับราคาประเมิน แต่หากเป็นอสังหาริมทรัพย์เพียงอย่างเดียว ไม่มีที่ดิน (เช่น คอนโดมิเนียม)นั้น จะได้รับการยกเว้นที่ราคาประเมิน 10 ล้านบาทแรก

ส่วนที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างอื่นๆที่ไม่ได้มีชื่อในทะเบียนบ้านนั้น จะถูกคิดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอยู่ที่ 0.02%-0.10% ขึ้นอยู่กับราคาประเมิน

และเพื่อไม่ให้ต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งก่อสร้างสูงโดยไม่จำเป็น กลยุทธ์อย่างหนึ่งที่แนะนำให้นำมาใช้ก็คือการย้ายทะเบียนบ้านของตัวเราเข้าไปอยู่ในอสังหาริมทรัพย์ที่มีราคาแพงที่สุด เสียก่อนที่จะถึงวันที่ 1 มกราคม 2563 นั่นเองครับ 

ถัดมาอีก 3 เดือน วันที่ 31 มีนาคม 2563 จะเป็นวันที่ ธนาคารและสถาบันการเงิน จะส่งข้อมูลทางบัญชีของผู้ใช้บริการให้กับ สรรพากรเพื่อตรวจสอบรายการเงินเข้าบัญชีบุคคลโดยจะเป็นข้อมูลที่เริ่มเก็บตั้งแต่ มีนาคม 2562 เป็นต้นไป

โดยหากเข้าเงื่อนไขดังต่อไปนี้ รายชื่อของบุคคลนั้นจะถูกส่งไปที่สรรพากร ครับ นั่นคือ "มียอดธุรกรรมทางการเงินเข้าบัญชี เกิน 400 ครั้ง ต่อปีและยอดรวมเกิน 2,000,000 บาท" หรือ "มียอดเงินเข้าเกิน 3,000 ครั้งต่อปีขึ้นไป"

 เพราะ ฉะนั้น หากไม่อยากให้ธนาคาร ส่งข้อมูล ให้กับทางสรรพากร ก็อย่าลืม ตรวจสอบยอดเงินเข้า ในปีนี้กันด้วยนะครับ ว่า มีบัญชีไหนใกล้จะถึงเงื่อนไขที่กำหนดไว้บ้างแล้ว และ อาจจะเปลี่ยนไปใช้ การทำธุรกรรมกับบัญชีต่างธนาคารอื่นแทนครับ อย่างไรก็ตามหาก ไม่สามารถ หลีกเลี่ยง ให้หลุดจากเงื่อนไขการส่งข้อมูลของธนาคาร สถาบันการเงินให้กับทาง สรรพากร ได้แล้วจริงๆนั้น อาจจะต้องมานั่งคิดวางแผนภาษี ในปีหน้าที่จะถึงอย่างเป็นเรื่องเป็นราวให้ถูกต้องแล้วละครับ

 ท้ายที่สุด ในวันที่ 11 สิงหาคม 2563 นั้น สถาบันคุ้มครองเงินฝากจะลดความคุ้มครองเงินฝากลงจากเดิมที่คุ้มครองอยู่ที่ 5,000,000 บาทต่อปี จะเหลือเพียงแค่ 1,000,000 บาท เท่านั้นครับ ดังนั้นการฝากเงินในธนาคารก็ใช่ว่าจะปลอดภัยเหมือนเดิมอีกต่อไป

การลงทุนในกองทุนรวม ที่มีความเสี่ยงต่ำใกล้เคียงกับเงินฝากแต่ได้ผลตอบแทนที่สูงกว่า ก็ดูจะเป็นทางเลือกที่น่าสนใจมากขึ้นครับ แต่อย่างไรก็ตาม ก่อนการลงทุน อย่าลืมศึกษา ทำความเข้าใจในตัวสินค้าให้ดีเสียก่อน หรือ ขอคำปรึกษาจากนักวางแผนการเงิน CFP® ก็จะช่วยประหยัดเวลาไปได้เยอะเลยครับ”