อย่าไปยึดคะแนน PISA เป็นสรณะ

อย่าไปยึดคะแนน PISA เป็นสรณะ

ในช่วงที่คะแนน PISA (Programme for International Student Assessment) 2018 กำลังจะถูกนำมาตีแผ่ในเดือน ธ.ค.2019 นี้

ดิฉันขอนำบทวิเคราะห์ของศาสตราจารย์กิตติคุณทางการศึกษาวิทยาศาสตร์ ประจำอยู่ที่มหาวิทยาลัยออสโล ประเทศนอร์เวย์ นามว่า Svein Sjøberg มาสรุปประเด็นสำคัญ ให้เราชาวไทยมองเห็นปัญหาของข้อสอบ PISA ควบคู่กันไปด้วย  เนื่องจากเรามักมองว่าผลสอบของนักเรียน บ่งบอกถึงความพร้อมของเขาในแง่มุมต่าง ๆ แต่ลืมมองไปว่าแบบทดสอบ PISA เองก็มีข้อบกพร่อง  อาจจะถึงเวลาแล้วที่เราควรมาพิจารณาใหม่ว่าคะแนน PISA สามารถชี้บอกถึงปัญหาการศึกษาวิทยาศาสตร์ของไทยได้จริงหรือ

ประการแรกคือ แบบทดสอบ PISA ไม่ได้วัดทัศนคติต่อการเรียนวิทยาศาสตร์ ที่เป็นส่วนสำคัญที่สุดในทัศนะของนักการศึกษาวิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนคนหนึ่งที่จะมีส่วนร่วมในประเด็นที่เกี่ยวข้องทางวิทยาศาสตร์ มีความสนใจใฝ่รู้ เต็มใจในการหาคำอธิบายปรากฏการณ์อย่างนักวิทยาศาสตร์ แปลความอีกนัยหนึ่งคือ ความเชื่อว่าความรู้ทางวิทยาศาสตร์เป็นจริง และมีความหมายต่อชีวิตประจำวันของนักเรียนต่างหาก ที่สำคัญมากกว่าความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในเนื้อหาและกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง

การถามข้อมูลทัศนคติของนักเรียนในส่วนนี้ กลับไปอยู่ในแบบสอบถามข้อมูลภูมิหลัง ซึ่งพอมาพิจารณาผลแล้วกลับพบว่า นักเรียนในบางประเทศที่ทำคะแนน PISA ได้ดี กลับมีความสนใจในวิทยาศาสตร์น้อยมาก

ประการที่สองคือ แบบทดสอบ PISA ไม่สามารถอ้างย้อนมาถึงปัญหาการจัดการเรียนการสอนของครูได้ ซึ่งประเด็นนี้เป็นประเด็นที่นักการศึกษาวิทยาศาสตร์ตื่นตัว และให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ในอดีตตั้งแต่เริ่มมีการใช้แบบทดสอบ PISA ในปี 2000 มาจนถึงปัจจุบันปี 2019 เราเชื่อมั่นมาโดยตลอดว่า การรู้วิทยาศาสตร์ (science literacy) ที่ข้อสอบ PISA วัดนั้น เป็นผลมาจากการสอนวิทยาศาสตร์ที่ดี หรือการสอนวิทยาศาสตร์ในแบบที่ควรจะเป็นของครู นั่นคือ หากนักเรียนได้คะแนน PISA ไม่ดี หมายความว่าครูจำเป็นต้องหันมาปรับการสอนของตนเองให้เป็นไปในลักษณะของการสืบเสาะหาความรู้ หรือการสืบสอบในทางวิทยาศาสตร์ (inquiry-based teaching) มากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากแบบสอบถามนักเรียนในข้อสอบ PISA 2015 ยืนยันว่า เด็กนักเรียนที่ทำคะแนน PISA ได้ดี ส่วนใหญ่แล้วจะไม่ได้เรียนกับครูที่สนับสนุนการสอบแบบสืบเสาะหาความรู้ นักเรียนไม่ได้เรียนรู้ผ่านการทำการทดลอง หรือผ่านการกระทำ นั่นคือ พวกเขาไม่ได้มีโอกาสในการออกแบบการทดลอง หรือค้นพบและอธิบายข้อความรู้ต่าง ๆ ด้วยตนเอง  นั่นก็หมายความว่า ความพยายามในการการปรับการเรียนการสอนของครู ให้ไปในทิศทางที่นักการศึกษาวิทยาศาสตร์เห็นพ้องว่าดี ไม่ได้ช่วยให้นักเรียนของเขาได้คะแนน PISA ดีตามไปด้วย

ฟินแลนด์ ก็คือประเทศที่นักเรียนส่วนใหญ่ไม่ได้รับการเรียนการสอนแบบสืบเสาะหาความรู้ หรือการสอนแบบสืบสอบในทางวิทยาศาสตร์ และในปี 2006 ฟินแลนด์ได้คะแนนเฉลี่ยของความสามารถทางวิทยาศาสตร์สูงสุด แต่กลับเป็นประเทศที่นักเรียนมีความสนใจในทางวิทยาศาสตร์ต่ำสุด

ประการที่สามคือ วิธีการที่ให้นักเรียนทำแบบทดสอบ PISA ไม่สร้างสรรค์พอที่จะตอบได้ว่านักเรียนมีความพร้อมสำหรับโลกอนาคต หรือมีความสามารถในการสื่อสารความคิดของตนเองออกมาอย่างมีประสิทธิภาพในสถานการณ์ชีวิตประจำวัน  แบบทดสอบ PISA เป็นข้อสอบที่ให้นักเรียนเขียนตอบเป็นเวลา 2 ชม. ไม่ได้เปิดโอกาสให้นักเรียนทำงานร่วมกับผู้อื่น หรือแม้แต่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตในการหาข้อมูลพื้นฐาน ซึ่งปัจจุบันทุกคนสามารถทำได้ทุกที่ทุกเวลาขณะพวกเขาแก้ปัญหาจริง ดังนั้นวิธีการทดสอบในลักษณะนี้จึงไม่อาจบอกถึงความสามารถของนักเรียนในการเผชิญปัญหาในสถานการณ์ชีวิตประจำวันได้

ยิ่งไปกว่านั้นคือ ประการที่สี่ แบบทดสอบ PISA เป็นแบบทดสอบที่ไม่อิงกับบริบทที่เฉพาะของนักเรียน  ดังนั้นการอ้างว่านักเรียนทำข้อสอบ PISA ได้ แปลว่านักเรียนเข้าใจวิทยาศาสตร์ในชีวิตประจำวันของเขา อาจเป็นการอ้างที่ไม่สมเหตุสมผลนัก  ซึ่งประเด็นนี้เป็นข้อจำกัดของการออกข้อสอบในระดับโลก ที่ต้องทำให้ยุติธรรม ในการคัดเลือกข้อคำถามในแบบทดสอบ PISA ข้อคำถามที่มีความเกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ในโรงเรียน หรือหลักสูตรที่นักเรียนได้เรียนในโรงเรียนของประเทศหนึ่ง จะถูกตัดออกทันที ยกตัวอย่างเช่น คำถามที่กล่าวถึงวิธีการจัดการกับปัญหาขยะจากระทง ในงานเทศกาลลอยกระทง จะถูกตัดออก เนื่องจากมีแนวโน้มว่านักเรียนไทย จะสามารถทำข้อสอบได้มากกว่านักเรียนฟินแลนด์ ที่ส่วนใหญ่ไม่เคยมีประสบการณ์ร่วมงานเทศกาลลอยกระทงมาก่อน เป็นต้น   

ประการสุดท้าย เราไม่ควรเหมารวมว่า นักเรียนอายุ 15 ปี ในประเทศฟินแลนด์ ประเทศไทย หรือประเทศอเมริกา เผชิญปัญหาสังคมและข้อท้าทายที่เหมือนกัน ดังนั้นการวัดความพร้อมของนักเรียนในแต่ละประเทศ ก็ควรจะแตกต่างกันออกไป

ด้วยเหตุผลนานัปการข้างต้น สรุปได้ว่าเราไม่ควรยึดคะแนน PISA เป็นสรณะในการบอกว่าไทยมีปัญหาทางการศึกษาวิทยาศาสตร์ อย่างไรก็ตาม นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเรานิ่งนอนใจได้ว่าการศึกษาวิทยาศาสตร์ของไทยเรากำลังดำเนินไปได้ด้วยดี  การแก้ปัญหาการศึกษา ควรเป็นการดำเนินการที่มองภาพกว้างและภาพแคบไปพร้อม ๆ กัน เราอาจมองภาพกว้างโดยใช้คะแนน PISA ได้อย่างคร่าว ๆ ถึงปัญหาที่มีแต่ก็ต้องหันกลับมามองปัญหาในบริบทสังคมไทยที่เฉพาะของเราเองด้วย

หากประเทศไทยจะนำฟินแลนด์มาเป็นต้นแบบการศึกษา เราน่าจะเริ่มจากการมองว่าฟินแลนด์เอง เป็นประเทศที่มีภูมิคุ้มกันสูงต่อคะแนน PISA เขาเองไม่หลงระเริงกับคะแนน PISA ที่สูงของเขา อีกทั้งผู้นำทางการศึกษาของเขาไม่ได้ให้ความสำคัญกับคะแนน PISA ว่าบอกถึงศักยภาพทางการศึกษาของประเทศตน และตัวเลขคะแนนดังกล่าวก็ไม่อาจบอกได้ว่าการศึกษาควรจะปรับเปลี่ยนไปในทิศทางใด

ในทางกลับกัน แม้คะแนน PISA ของไทยจะต่ำ และบ่งบอกให้เราพัฒนา ปรับปรุงการศึกษาให้ดีขึ้นอยู่ตลอด แต่หากมองจากอีกมุม เราอาจทำบางสิ่งบางอย่างได้ดีอยู่แล้ว เพียงแต่เราไม่ได้หันไปมอง ไปวัดมันก็ได้ ดังนั้นอะไรที่เราทำได้ดีอยู่แล้ว เราอาจส่งเสริมสิ่งที่ดีนั้นก่อน มากกว่าไปไล่ตาม “ความเก่ง” ในนิยามสากล บางทีนักเรียนไทยอาจเป็นนักเรียนที่มีความสุข มีศีลธรรม มีจริยธรรม “ความดี” มากกว่าประเทศอื่น ๆ อีกหลายประเทศก็เป็นได้  คำถามจึงควรเปลี่ยนจากว่า “เราจะเพิ่มคะแนน PISA ของนักเรียนไทยได้อย่างไร” เป็น “เราจะส่งเสริมนักเรียนไทยในสิ่งที่เขาทำได้ดีอยู่แล้วได้อย่างไร” ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาทัศนคติต่อการเรียนวิทยาศาสตร์ และการเป็นนักวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางที่เรามุ่งหวังให้เกิดในนักเรียนไทยก็เป็นได้

โดย...

สลา สามิภักดิ์