เพื่อไทย แห่งนครดูไบ

เพื่อไทย แห่งนครดูไบ

ระหว่างวันที่ 28-30 พ.ย.ที่ผ่านมา ส.ส.อีสานพรรคเพื่อไทย 68 คน เดินทางไปพบ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

เพื่อระบายความไม่พอใจการบริหารงานของ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธ์ศาสตร์พรรคเพื่อไทย ที่แทรกแซงการทำงานส.ส.ภาคอีสาน

จุดแตกหัก ส่วนหนึ่งมาจากการเปลี่ยนตัวอนุกรรมาธิการพิจารณางบประมาณฯ ที่ ส.ส.ศรีสะเกษ และส.ส.ภาคอีสาน มีมติส่ง วีระพล จิตสัมฤทธิ์” ส.ส. ศรีสะเกษ ไปนั่งอนุกรรมาธิการฯ โดยคุณหญิงสุดารัตน์ เปลี่ยนชื่อ “วีระพล” ออกโดยไม่บอกไม่กล่าว

นั่นแสดงว่า ทักษิณยังมีอิทธิพลต่อส.ส.เพื่อไทย เป็นอย่างยิ่ง

ไม่เช่นนั้น คงไม่ปรากฏว่าช่วงเดียวกันกับ ส.ส.เพื่อไทย 68 คนไปดูไบ คุณหญิงสุดารัตน์ก็เดินทางไปดูไบ เช่นกัน เพื่อเคลียร์ปัญหากับ ส.ส.อีสาน โดยยกเลิกกำหนดการลงพื้นที่หาเสียงเลือกตั้งซ่อมที่ จ.ขอนแก่น

และต้องจับตาว่า วันที่ 3 ธ.ค.นี้ พรรคเพื่อไทยอาจจะมีการงดประชุม ส.ส. อีกด้วย

ประธานภาคอีสานพรรคเพื่อไทย ประยุทธ์ ศิริพานิชย์ บอกว่า ส.ส.อีสาน ไปเที่ยวนครดูไบเพราะอากาศดี และต่างออกเงินกันเอง

เหตุผล “ประยุทธ์” พอรับฟัง แต่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) จะรับฟังเช่นนั้นหรือไม่ เพราะการไปครั้งนี้มีเหตุ ซ้ำมิได้มีเฉพาะส.ส.อีสาน คุณหญิงหน่อย ยังตามไปประกบถึงดูไบ

ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ห้ามพรรคการเมือง ยินยอมคนที่ไม่ใช่สมาชิก ควบคุม ครอบงำ ชี้นำ กิจกรรมพรรคการเมือง จนขาดความเป็นอิสระทั้งทางตรงและทางอ้อม

กฎเหล็กนี้มีโทษถึง “ยุบพรรค” และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งคณะกรรมการบริหาร เป็นเวลา 10 ปี

กฎนี้ ยังครอบคลุม ไปถึงคนที่ไม่ใช่สมาชิกพรรค เพราะถูกเว้นวรรคทางการเมือง ถูกตัดสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งตลอดชีพ รวมถึงบุคคลที่เคยถูกศาลพิพากษาถึงที่สุดสั่งยึดทรัพย์ เพราะทุจริต และทำผิดกฎหมาย ป.ป.ช.

เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา อธิบายว่า ถ้าพรรคการเมือง ยินยอม และทำตามข้อเสนอ หรือคำสั่ง ของคนนอก อาจถือเป็นความผิดได้

บทลงโทษ นอกจากยุบพรรค

ผู้ครอบงำ” ยังมีโทษถึงจำคุก 5 ปี ปรับตั้งแต่ 100,000 บาท ถึง 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมถึงให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งผู้นั้นเช่นเดียวกับกรรมการบริหารพรรค

โดย พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92 ระบุว่า เมื่อกกต. มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า พรรคการเมืองใดกระทําการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อสั่งยุบพรรคการเมือง

สำหรับกรณี ส.ส.พรรคเพื่อไทย ที่ไปพบนายทักษิณ นั้น ตาม มาตรา 28 ระบุว่า ยอมหรือกระทําการใดอันทําให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่สมาชิก กระทําการอันเป็นการควบคุม ครอบงํา พรรคการเมือง ให้กกต.ส่งศาลรัฐธรรมนูญ

เมื่อศาลรัฐธรรมนูญ ดําเนินการไต่สวนแล้วมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า พรรคการเมืองกระทําการดังกล่าว ให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมือง และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้น

คำถามคือ กกต.รู้แล้ว ยังเพิกเฉยได้อย่างไร