มติเอกฉันท์ กับ ฉันทามติ

มติเอกฉันท์ กับ ฉันทามติ

ในช่วงเดือนตุลาคมต่อ พ.ย.ปี 2562 เรื่องราวในภาคประชาชนและวงการการเมืองไทยที่ดุเดือดเผ็ดมันไม่น้อยกว่าเรื่องเศรษฐกิจฟุบ

คือ เรื่องการแบนหรือไม่แบน 3 สารเคมีทางการเกษตร อันได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซตที่คุณอนุทิน ชาญวีระกุล รมว.สาธารณสุข บอกกับผู้สื่อข่าวว่าตนดูแต่เฉพาะเรื่องสุขภาพของประชาชน เรื่องอื่นไม่ดู เพราะเป็นเรื่องของกระทรวงอื่นที่ต้องไปว่ากันเอง แต่พอกระทรวงอื่นไปว่ากันเองก็เป็นเรื่อง อย่างที่เป็นข่าวที่ทุกคนรับรู้กัน

สุดท้าย ตกเป็นหน้าที่ของกรรมการวัตถุอันตรายที่ต้องประชุมและลงมติในเรื่องนี้เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 22 ต.ค.2562 ให้แบนทั้ง 3 สาร โดยให้เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2562 เป็นต้นไป แต่เนื่องจากไม่ได้มีการทำงานอย่างบูรณาการกันเป็นการภายในในคณะรัฐมนตรีมาก่อน เรื่องจึงไม่ได้เป็นไปตามที่เข้าใจ ปรากฏมีเสียงคัดค้านต่อต้านดังกระหึ่มจากภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรมต่อเนื่อง จนกรรมการวัตถุอันตรายต้องประชุมและมีมติออกมาใหม่เป็นครั้งที่2 ในวันที่ 27 พ.ย. 2562 และมติครั้งที่ 2 นี้ แหละที่เป็นตัวปัญหาอีกรูปแบบ

ปัญหามีอยู่ 4-5 เรื่อง เรื่องแรก ได้แก่ มติใหม่นี้กลับมติเดิมเกือบสิ้นเชิง คือ ไม่แบนไกลโฟเซตเลย รวมทั้งให้เลื่อนการแบนอีก 2 สาร อันได้แก่ พาราควอต และคลอร์ไฟริฟอส ไปอีก 6 เดือน ซึ่งก็ได้ก่อให้เกิดปฏิกิริยาโต้แย้งกันตามมาทั้งทางบวกและลบ จากทั้ง 2 ฝ่าย เรื่องที่สอง มติครั้งที่2 นี้ ตามคำพูดของรัฐมนตรี สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ บอกว่าเป็น มติเอกฉันท์ เพราะได้เอาข้อสรุปฉายขึ้นจอให้ดูพร้อมกัน และไม่มีใครแย้ง ซึ่งมีกรรมการบางท่านบอกว่าไม่เคยมีการลงมติ จึงไม่เป็นแม้กระทั่งมติ มิพักจะพูดถึงว่าเอกฉันท์หรือไม่เอกฉันท์ด้วยซ้ำ

นั่นนำมาถึง เรื่องที่สาม คือ หากมติครั้งที่ 2 นี้ไม่ใช่มติก็ต้องกลับไปใช้มติเดิม คือแบนทั้ง 3 สารในวันที่ 1 ธ.ค.2562 เรื่องก็จะกลับไปสู่ที่เดิม แบบที่ฝรั่งเรียกว่า back to square one และปัญหาก็ยังคงอยู่ต่อไป เรื่องที่สี่ ตรงนี้มีการสับสนในความเข้าใจของผู้เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับความหมายของคำว่า “มติเอกฉันท์” ที่ตรงกับคำภาษาอังกฤษ unanimous อันหมายความว่าทุกคนโหวตเห็นด้วยหมด แต่ในเวลาเดียวกันคุณสุริยะก็พูดเองว่าไม่ได้มีการโหวต แต่ได้ใช้วิธีนำข้อสรุปมาฉายขึ้นจอและถามว่ามีใครเห็นแย้งหรือไม่ ซึ่งตามข่าวปรากฏว่าไม่มีใครแย้ง คุณสุริยะจึงสรุปว่าเป็นมติเอกฉันท์

ซึ่งไม่ใช่ ! ส่วนนี้เป็นความเข้าใจผิดของคุณสุริยะ และอีกหลายๆ คน เพราะไม่มีการโหวตจริง อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการแสดงข้อสรุปให้เห็นอย่างเด่นชัดบนจอฉาย และไม่มีใครแย้ง การณ์นี้ก็ต้องถือว่าที่ประชุมเห็นด้วย! แต่เป็นการเห็นด้วยแบบที่ไม่มีใครแย้ง ไม่ใช่มติเอกฉันท์

ข้อสรุปแบบที่ ที่ประชุมเห็นด้วยโดยไม่มีใครแย้งนี้มีศัพท์เป็นทางการอยู่ เขาเรียกว่า ฉันทามติ ซึ่งตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า consensus ที่อาจจะกล้อมแกล้มแปลว่า ความพึงพอใจร่วมกันก็จะพอได้ แต่ที่แน่ๆ มันไม่ใช่มติเอกฉันท์ อ่านถึงตรงนี้บางคนก็คงอาจจะยังงงๆ จึงจะขออธิบายเพิ่มเติมในเรื่องนี้พอเป็นสังเขป คือ ในการโหวตในเรื่องหนึ่งๆ ถ้าทุกคนเห็นและโหวตไปในทางเดียวกัน มติที่ออกมาก็เป็นมติเอกฉันท์ ทุกคนแฮปปี้ แต่ถ้าการโหวตไม่เป็นเอกฉันท์ คนในที่ประชุมมีความเห็นแตกต่างกัน ผลสรุปจากการโหวตก็ต้องมีแพ้มีชนะ ซึ่งบ่อยครั้งวิธีนี้จะไปทำให้เกิดการกินแหนงแคลงใจกันระหว่างผู้ชนะและผู้แพ้ ทำให้การทำงานร่วมกันในโอกาสต่อไปไม่ราบรื่น หลายองค์กรโดยเฉพาะองค์การนานาชาติจึงไม่ชอบวิธีการโหวต

แม้แต่ศาลทั่วโลกเองก็นิยมใช้วิธีไกล่เกลี่ยเพื่อจะได้ไม่มีคนแพ้คนชนะ จะได้ไม่ต้องบาดหมางใจกัน จนเกลียดขี้หน้ากัน ไม่พูดจากัน ที่ไม่เป็นผลดีแก่ทุกฝ่ายเลยไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใด

วิธีที่องค์กรเหล่านี้ใช้ คือ จะใช้วิธีคุย คุย และ คุย รวมทั้งปรับแก้ถ้อยคำในข้อสรุป จนได้ข้อสรุปสุดท้ายแบบที่ไม่มีคนคัดค้าน กล่าวคือ ไม่ถึงกับทนไม่ได้กับข้อสรุปนั้นๆ และข้อสรุปนั้นละ คือ consensus หรือฉันทามติ ที่จะนำไปใช้หรือใช้บังคับต่อไป

ถ้าเป็นเช่นนั้น คุณสุริยะก็ใช้วิธีนี้หาฉันทามติได้สิ และถูกต้องด้วยสิ ใช่ครับ! แต่เพื่อความเข้าใจที่ตรงกันคุณสุริยะ ควรแจ้งที่ประชุมก่อนที่จะสอบถามความเห็นกรรมการ ว่า จะใช้วิธีนี้ในการหาข้อสรุป ถ้าทุกคนเข้าใจกติกาเช่นนี้ปัญหาฉันทามติที่กำลังถกเถียงกันอยู่ตอนนี้ก็จะไม่มี รวมทั้งในทางตรงข้ามข้อสรุปที่เป็นฉันทามติดังกล่าวก็อาจไม่เกิดขึ้นเลยก็ได้ เพราะอาจจะมีกรรมการบางคนไม่ยอมให้ผ่านและออกความเห็นแย้งออกมาให้เป็นที่ประจักษ์ แต่อย่างน้อยมันก็ชัดเจนว่าอะไรเป็นอะไร และเมื่อมาถึงจุดนั้น เมื่อไม่มีทางไป ที่ประชุมก็จำเป็นต้องกลับมาที่วิธีการแรก คือ การโหวต ที่มีข้อเสียของมันอย่างที่ได้อธิบายมาก่อนหน้านี้

เรื่องที่ห้า แม้จะไม่ได้มีการโหวตและไม่ใช่มติเอกฉันท์ แต่เมื่อมันเป็นฉันทามติ มันก็ต้องถือว่าเป็นมติและต้องนำเอาไปใช้ ซึ่งนั่นคือ มติเดิมครั้งแรกที่ให้แบน 3 สารก็ต้องถูกยกเลิกไปโดยปริยาย และให้นำฉันทามติ(ครั้งที่2) นี้มาใช้แทน ส่วนมติใหม่นี้จะชอบธรรมหรือไม่ เป็นอีกประเด็นที่ไม่ใช่ประเด็นของบทความนี้

บทความนี้ต้องการจะชี้ให้เห็นว่า วิธีการหาข้อสรุปให้เป็นมติเอกฉันท์มักทำกันไม่ได้ในการประชุมที่มีภาคีหลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีจุดยืนที่ต่างกันมากๆ ในทางการทูตระหว่างประเทศเขาจึงนิยมใช้วิธีหาข้อสรุปเป็นฉันทามติ เพื่อให้เดินหน้าต่อไปได้ มากกว่าที่จะฝืนให้ได้เป็นมติเอกฉันท์ ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยในบางกรณี

การที่ผู้คนเข้าใจไม่ตรงกันและมาเห็นแย้งกันมากจนเกือบจะทะเลาะกัน ส่วนหนึ่งก็มาจากการตกม้าตายด้วย “การใช้คำ” ที่ผิดๆแบบนี้แหละครับ และเห็นกันแล้วยังว่าภาษาก็เป็นเรื่องสำคัญ หากใช้ผิดมันอาจนำไปสู่ข้อสรุปที่ผิด ที่นำมาซึ่งผลเสียหายเกินควรได้มากอย่างที่ไม่ควรเป็น

โดย... ธงชัย พรรณสวัสดิ์