ต่อยอด IoT ด้วยการสร้าง IoP ทางธุรกิจ

 ต่อยอด IoT ด้วยการสร้าง IoP ทางธุรกิจ

เชื่อว่าหลายคนเริ่มรู้จัก ได้ยิน หรือเข้าไปเกี่ยวข้องกับ IoT หรือ Internet of Thing อยู่แล้วไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม

หรืออาจจะโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็แล้วแต่ ประเด็นคือสิ่งนี้จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์ วิถีการใช้ชีวิต รูปแบบทางธุรกิจ วิธีการทำงาน หรือแม้แต่การพักผ่อน

ถ้าจะบอกว่าสมาร์ทโฟนกลายเป็นอุปกรณ์หลักสำคัญที่ทำให้เชื่อมเราเข้ากับคนอื่นๆในสังคม ช่วยย่นย่อระยะทาง ลดเวลาที่ต้องสูญเสียไปกับการดำเนินการใดๆในชีวิตและการทำงาน อีกทั้งยังทำให้เราสามารถทำหลายๆสิ่งพร้อมกันไปได้ในเวลาเดียวกัน โดยการตั้งเวลาล่วงหน้า หรือสั่งการทางไกลโดยที่เราไม่จำเป็นต้องไปอยู่ ณ สถานที่นั้น อีกทั้งยังตรวจติดตามความก้าวหน้าหรือสถานะของสิ่งต่างๆได้

IoT ก็ไม่ต่างจาก Smart Phone เพียงแต่มันสามารถเชื่อมสิ่งที่ไม่มีชีวิต อาทิ เครื่องจักร อุปกรณ์ จนกระทั่งถึงสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ความจริงแล้วมันไม่ใช่สิ่งใหม่อะไร มีมานานแล้วตั้งแต่ในอดีตในชื่อ Embedded System แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ที่ผนวกเข้าไว้ในเครื่องจักรอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อแสดงสถานะและควบคุมการทำงานของมัน ไม่ว่าจะเป็นตู้เย็น เครื่องซักผ้า เครื่องปรับอากาศ รถยนต์ และเครื่องจักรในโรงงาน เพียงแต่ถูกใช้งานในวงจำกัดและขีดความสามารถยังไม่กว้างขวางมากนัก และด้วยพัฒนาการด้านดิจิตัลที่สูงมากขึ้น ทำให้แผงวงจรเล็กๆนี้มีความสามารถมากขึ้นในการคิดคำนวณและประมวลผล จึงมักเรียกว่า “สมองกลฝังตัว”

ปัจจุบันเมื่อ Embedded System เชื่อมต่อกับโครงข่ายอินเทอร์เน็ตได้แบบไร้สาย ทำให้มันสามารถไปฝังตัวอยู่ในอุปกรณ์ใดๆก็ได้โดยไม่ต้องต่อสายไฟออกมาให้ยุ่งยาก และด้วยความสามารถใหม่นี่แหละจึงเรียกมันว่าเป็น Internet of Thing (IoT) ที่สำคัญมันทำให้สิ่งที่ไม่มีชีวิต เสมือนว่ามีชีวิตและสามารถสื่อสารพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลกับสภาพแวดล้อมรอบข้าง รวมถึงสื่อสารกับคนด้วย

แต่เมื่อมองในบริบทของประโยชน์ในทางธุรกิจ จะหยุดเพียงแค่นำ IoT เข้าไปติดตั้งหรือฝังเป็นส่วนหนึ่งเครื่องจักรในโรงงานหรืออุปกรณ์ในบ้านอย่างเดียวไม่พอ หากแต่ต้องมองในมุมของกระบวนการทางธุรกิจด้วย นั่นคือ IoT ที่เข้าไปแทรกอยู่ในสิ่งต่างๆเมื่อเชื่อมโยงเข้าด้วยกันเป็นกระบวนการจะทำให้ผลิตภาพโดยรวมสูงขึ้นอย่างมาก ดังนั้นอย่าหยุดแค่ IoT แต่ต้องมองต่อให้เห็นเป็นภาพใหญ่ที่เรียกว่า IoP หรือ Internet of Process

ยกตัวอย่างกระบวนการเลือกซื้อสินค้าและของใช้ในบ้านของคุณแม่บ้าน ถ้ามองย้อนกลับไปในกระบวนการดั้งเดิม ทุกบ้านจะต้องใช้เวลาในการไปเลือกซื้อสินค้าและของใช้ต่างๆที่ซุปเปอร์มาร์เก็ตหรือร้านค้าของชำใกล้บ้าน บางคนอาจจะจดรายการสินค้าที่จะต้องซื้อใส่กระดาษและไปเดินเลือกหยิบจากในร้านด้วยตัวเอง และเมื่อเดินเลือกซื้อสินค้าใส่รถเข็นจนครบแล้ว ก็จะเดินออกมาที่ช่องชำระเงิน ก่อนจะขนขึ้นรถกลับมาเก็บที่บ้าน

ปัจจุบันหลายบ้านอาจจะไม่เดินทางไปที่ศูนย์การค้าหรือซุปเปอร์มาร์เก็ตด้วยตัวเองแล้ว หากแต่สั่งสินค้าที่ต้องการผ่านแอพบนสมาร์ทโฟน และร้านค้าหรือซุปเปอร์มาร์เก็ตนั้นๆจะจัดเตรียมสินค้าตามที่เราสั่ง บรรจุและนำขึ้นรถขนส่งมาที่บ้านเรา อาจจะสัปดาห์ละครั้งหรือเดือนละครั้ง ไม่ต่างจากการเลือกซื้อสินค้าออนไลน์อีกมากมายที่เราคุ้นเคยกัน

แต่ตู้เย็นรุ่นใหม่ๆในปัจจุบัน เริ่มฝังหรือติดตั้ง IoT เข้ามาด้วย นั่นหมายความว่าตู้เย็นที่ตั้งอยู่ในบ้านเรา ไม่ได้แค่ทำความเย็นและรักษาคุณค่าของอาหารที่เก็บเท่านั้น หากแต่เราต้องเชื่อมต่อมันเข้ากับสัญญาณ WIFI ที่บ้านแบบไร้สาย และตู้เย็นรุ่นใหม่นี้มีหน้าจอแสดงผลอยู่ที่ด้านหน้าของประตูที่เปิด สินค้าที่ถูกจัดเก็บเข้าไปในตู้เย็นจะได้รับการสแกนและแสดงเป็นรายการให้เราเห็นได้ จากเดิมที่เราต้องเสียเวลาค้นหาหรือลืมสินค้าบางอย่างจนหมดอายุและต้องทิ้งไปในที่สุด ต่อไปเราสามารถสั่งให้มันแจ้งเตือนเมื่อสินค้าบางตัวใกล้วันหมดอายุ

ในขณะเดียวกันเราสามารถใช้นิ้วสัมผัสที่หน้าจอแสดงผลด้านหน้าตู้เย็น เพื่อเลือกว่าจะกำหนดปริมาณขั้นต่ำของสินค้าบางตัว เช่น ไข่ เนย นม ถ้าเหลือในปริมาณที่น้อยให้แจ้งเตือนเจ้าของบ้าน เพื่อที่จะดำเนินการสั่งสินค้ามาเติม

นั่นคือกระบวนการในมุมมองลูกค้า แต่เมื่อร้านค้าต้องการอำนวยความสะดวกมากขึ้น อาจจะปรับเพิ่มกระบวนการรับคำสั่งซื้อผ่านแอพและจัดส่งถึงบ้านในแบบที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบัน ด้วยการพัฒนาระบบเชื่อมต่ออัตโนมัติโดย IoT ของตู้เย็นสามารถเชื่อมต่อและส่งคำสั่งซื้อมาเข้ากับระบบของร้านค้าได้ ดังนั้นเมื่อเจ้าของบ้านตั้งรายการสินค้าที่เมื่อเหลือน้อยให้ส่งคำสั่งเชื่อมตรงไปยังร้านค้าได้เลย ด้วยกระบวนการที่เจ้าของบ้านอนุญาตให้ตู้เย็นคุยกับร้านค้าได้เอง รวมขั้นตอนทั้งหมดเป็น Internet of Process (IoP) และทำให้เกิดรูปแบบทางธุรกิจใหม่ที่ก้าวไกลและตอบโจทย์ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายให้ง่ายขึ้น

องค์กรต่างๆสามารถสร้าง IoP ขึ้นมาได้อีกมากมายและมันจะกลายเป็นบริการที่ชาญฉลาด และช่วยแก้ปัญหา (pain point) ของคนที่มักจะลืมที่จะทำหลายอย่างจนกระทั่งเกิดผลเสียหาย งานซ่อมบำรุงต่างๆของเครื่องจักรอุปกรณ์ไม่ว่าจะอยู่ในโรงงาน โรงแรม โรงเรียน หรือบ้านเรือน จะง่ายมากขึ้นเมื่อติดตั้ง IoT และผนวกเข้าไว้ในกระบวนการซ่อมบำรุง เมื่อถึงระยะเวลาตามกำหนดหรือสภาพเครื่องควรที่จะต้องซ่อมบำรุงแล้ว มันจะส่งคำสั่งไปยังศูนย์บริการอัตโนมัติ ช่างสามารถนัดหมายเจ้าของสินค้าเพื่อเข้ามาให้บริการได้โดยง่าย ลองนำแนวคิด IoT ไปต่อยอดพัฒนาเป็นกระบวนการทางธุรกิจแบบ IoP