คุณอยากเข้าเส้นชัยแบบไหน

คุณอยากเข้าเส้นชัยแบบไหน

เมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้ว ดิฉันมีโอกาสไปร่วมงานวิ่งงานใหญ่งานหนึ่งของประเทศไทยที่จัดขึ้น ณ จังหวัดเชียงใหม่

ด้วยความสวยงามของเส้นทางธรรมชาติจึงเป็นงานที่นักวิ่งเทรลอยากไปสัมผัสครั้งหนึ่งในชีวิต ถึงกับต้องลงทะเบียนจองกันข้ามปีเลยทีเดียว

งานนี้ดิฉันไปกับเพื่อน ๆ อีก 8 คน ซึ่งต่างเป็นผู้บริหารระดับสูงขององค์กรทั้งไทยและข้ามชาติ งานนี้พวกเขาต่างหอบหิ้วความฝันอันยิ่งใหญ่ จนพวกเรายังแอบแซวกันเล่น ๆ ว่านี่คงจะเป็นภารกิจพิชิต Midlife Crisis

157521525378

คนหนึ่งต้องการจบ 100 กิโลแรกในชีวิตที่นี่

อีกคนต้องจบ 100 ไมล์แรก (166 กิโลเมตร) ในชีวิตที่นี่

อีกคนต้องจบ 50 กิโลเพื่อเป็นของขวัญวันเกิดครบรอบอายุ 50 ปีให้กับตัวเองที่นี่

สำหรับการวิ่งเทรลระยะ 100-166 กิโลเมตร ที่ความชันประมาณ 5,000 เมตร พวกเขาต้องใช้เวลา 24-40 ชั่วโมง นั่นแปลว่าต้องวิ่งข้ามวันข้ามคืนอย่างแน่นอน เมื่อดูความฝันอันยิ่งใหญ่ของเพื่อน ๆ แล้ว จากเดิมที่ดิฉันจะลงวิ่งระยะ 30 กิโลเมตร จึงตัดสินใจไม่ลงวิ่งคราวนี้ และผันตัวเองไปเป็นทีมสนับสนุนเพื่อช่วยสานฝันของพวกเขาให้เป็นจริงในครั้งนี้

ต้องบอกว่าทีมสนับสนุน ไม่ได้วิ่งเองแต่เหนื่อยเยี่ยงนักวิ่ง! เริ่มจากวางแผนการสนับสนุน นักวิ่งคนไหนจะเข้าสู่จุด Check point ใดเวลาเท่าไหร่ เตรียมเดินทางเข้าไปยังจุดนั้น ๆ พร้อมเตรียมน้ำ อาหาร และกำลังใจ ไปคอยสนับสนุน ในระหว่างการวิ่งจริง ต้องคอยเช็คข้อมูลแบบ Real time พร้อมปรับแผนการสนับสนุนหน้างาน ว่าจะไปสนับสนุนใครก่อนหลัง อีกทั้งยังต้องคอยเติมพลังบวกให้นักวิ่ง

ในฐานะทีมสนับสนุน ดิฉันมีโอกาสได้เห็นภาพนักวิ่งในสภาวะที่แตกต่างกันราวกับย่อเอาชีวิตของคนหลายพันชีวิตมาอยู่ใน 40 ชั่วโมง ตั้งแต่จุด Start จุด Check Point แต่ละจุด จนไปถึงที่เส้นชัย

ที่จุด Start นักวิ่งต่างตื่นเต้น มีพลัง สดชื่น ถ่ายรูปเดี๋ยวรูปหมู่ บางคนมีเพื่อนมีครอบครัวมาส่งที่จุดปล่อยตัว เมื่อเสียงประกาศเริ่ม 3 2 1 ต่างวิ่งออกจากจุด Start ด้วยสีหน้าแววตาที่มุ่งไปพิชิตหุบเขาที่รออยู่ข้างหน้า

ที่จุด Check Point แต่ละจุด ดิฉันได้เห็นภาพนักวิ่งที่เข้ามาแต่ละจุดในบรรยากาศที่ต่างกัน สำหรับคนที่วางแผนการฝึกฝนก่อนการแข่งมาดี ก็เข้ามาที่จุด Check Point ด้วยพลังบวก มีพลังพร้อมไปต่อ บางคนหากวางแผนซ้อมมาไม่ดี เมื่อร่างกายเตรียมมาไม่พอ ก็วิ่งเข้ามาด้วยความอ่อนล้าทางกาย หากใจยังเข้มแข็งก็ช่วยพาเอากายที่อ่อนล้าออกไปวิ่งต่อได้

บางคนก็วิ่งเข้ามาด้วยสภาพกายล้าแถมใจยังแผ่วด้วย งานนี้ทีมสนับสนุนก็ต้องเชียร์ให้กำลังใจกันสุดฤทธิ์เพื่อให้ลุยต่อ บางคนซ้อมมาดีแต่วางแผนกินไม่ดี ไปกินอาหารผิดสำแดงระหว่างวิ่งจนท้องอืดท้องเสียไปต่อไม่ไหว ดิฉันได้เห็นภาพนักวิ่งลำดับท็อป ที่ต้องออกจากการแข่งขันหลังวิ่งไปแล้วถึง 150 กิโลเพราะอยู่ ๆ ก็ล้มทั้งยืนหัวฟาดพื้น ลงไปนอนตาลอย ต้องหามส่งโรงพยาบาล

หลายต่อหลายคนไปไม่ถึงฝัน เพราะวิ่งเข้าจุด Check Point เพราะไม่ได้ซ้อมหรือซ้อมไม่ถึง บางคนแม้เข้ามาทันแต่ประเมินแล้วคิดว่ากายและใจไม่พร้อมก็หยุดไปต่อ แน่นอนสีหน้าของพวกเขาช่างแตกต่างจากรูปถ่ายตรงจุด Start

ที่เส้นชัย มาถึงจุดนี้ผ่านมาเกือบ 40 ชั่วโมง คุณทำมันได้! คุณชนะ! แม้ร่างกายจะเหนื่อยล้าแค่ไหน แต่ความสำเร็จตรงหน้ามันทำให้ลืมความเจ็บปวดทางกายไปชั่วขณะ ทุกคนวิ่งเข้าเส้นชัยอย่างสง่างามภายใต้ภาพแห่งความสำเร็จที่แตกต่างกัน

- บางคนเข้าเส้นชัย “มาคนเดียว” อย่างฮีโร่ ที่ไม่จำเป็นต้องมีใครมาสนับสนุน

- บางคนเข้าเส้นชัย “มาพร้อมครอบครัว พ่อแม่พี่น้อง เพื่อนฝูงที่คอยไปสนับสนุน” แต่ละจุดและตามมารอรับที่เส้นชัย ความสำเร็จของเขามีคนรอบตัวคอยลุ้นคอยเชียร์คอยส่งเสริมและร่วมยินดี

- บางคนเข้าเส้นชัยมาไม่ใช่เพียงเพื่อตามฝันของตัวเอง แต่เข้าเส้นชัย “มาเพื่อคนอื่น” ดิฉันได้เห็นภาพของนักวิ่งท่านหนึ่งที่หอบแหวนแต่งงานในเป้วิ่งมาตลอด 100 กิโล และเมื่อถึงเส้นชัยก็คุกเข่าขอแฟนสาวที่รอที่เส้นชัยขอแต่งงานเพื่อเริ่มชีวิตใหม่ บางคนเข้าเส้นชัยมา “เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่นอยากลุกขึ้นมาทำสิ่งที่ดีขึ้นที่ท้าทายขึ้นในทุกวัน”

หากงานวิ่งครั้งนี้เปลี่ยนเป็นเกมทางธุรกิจ คุณอยากเห็นตัวเองเข้าเส้นชัยแบบไหน