เศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุดยังไม่มีสัญญาณ Recession

เศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุดยังไม่มีสัญญาณ Recession

โอกาสที่จะเกิด Recession ในอนาคตอันใกล้นั่นมีความน่าจะเป็นที่ 'ลดต่ำลง'

ตั้งแต่ต้นปี 2562 การเกิดภาวะ Inverted Yield Curve (อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรระยะยาว ต่ำกว่า อัตราผลตอบแทนระยะสั้น) ทำให้ตลาดทุนทั่วโลกเกิดความกังวลต่อโอกาสที่เศรษฐกิจสหรัฐฯจะเข้าสู่ภาวะถดถอย หรือ Recession ในอนาคตอันใกล้ อย่างไรก็ดีนักเศรษฐศาสตร์ บล. เคจีไอ (ประเทศไทย) ประเมินจากตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญๆ ล่าสุดของสหรัฐฯที่รายงานออกมา อาทิ i) ดัชนีภาคอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯ, ii) ดัชนี ISM และดัชนี PMI, และ iii) ดัชนีการสำรวจของ Fed พบว่า โอกาสที่จะเกิด Recession ในอนาคตอันใกล้นั่นมีความน่าจะเป็นที่ 'ลดต่ำลง'

ดัชนีภาคอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯ เดือนต.ค.62 ขยายตัวต่อเนื่องในทุกดัชนี และเป็นการขยายตัวต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี 2562 โดยภาคอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯคิดเป็นสัดส่วน 15-18% ของ GDP สหรัฐฯ และมีผลใน 2 ด้าน คือ 1) การลงทุนที่อยู่อาศัย เฉลี่ย 3-5% ของ GDP ซึ่งรวมทั้งธุรกิจการก่อสร้างบ้านเดี่ยวและบ้านหลายครอบครัว การตกแต่งบ้านใหม่ ผลิตภัณฑ์ก่อสร้างบ้าน และตัวแทนซื้อขายบ้าน และ 2) การใช้จ่ายจากบริการอสังหาริมทรัพย์ เฉลี่ยประมาณ 12-13% ของ GDP รวมทั้งการให้เช่า และการจ่ายค่าสาธารณูปโภค ดังนั้นการฟื้นตัวของภาคอสังหาฯจึงเป็นการส่งสัญญาณที่เป็นบวกต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ

ดัชนีการสำรวจผู้จัดการจัดซื้อแสดงถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยดัชนีการสำรวจผู้จัดการจัดซื้อ เป็นดัชนีที่มีความไวต่อการเปลี่ยนแปลงความต้องการในระบบเศรษฐกิจ การเพิ่มขึ้นหรือลดลงของการสั่งซื้อสินค้าเพื่อการผลิตสินค้าและบริการ บ่งบอกถึงความเชื่อมั่นภาคธุรกิจว่าจะกลับมาฟื้นตัวหรือไม่ โดยเฉพาะการสำรวจผู้จัดการจัดซื้อภาคการผลิตและภาคบริการ ดัชนี Markit Manufacturing PMI และ Non-manufacturing PMI ตั้งแต่เดือน ส.ค.62 ปรับตัวเพิ่มขึ้นและอยู่เหนือกว่าระดับ 50 แสดงถึงกิจกรรมการจัดซื้อขยายตัว ขณะที่ดัชนี ISM มีความช้ามากกว่า ISM Non-manufacturing Index ที่เกินกว่า 50 แสดงถึงภาคบริการยังขยายตัวและมีแนวโน้มจะขยายตัวในอัตราที่เพิ่มขึ้น ส่วน ISM Manufacturing Index อยู่ต่ำกว่า 50 แสดงถึงภาคการผลิตยังคงลดลงแต่ทิศทางเริ่มมีโอกาสที่จะกลับมาดีขึ้น

ดัชนีการสำรวจของ Fed ในพื้นที่สำคัญแสดงถึงทิศทางที่ทรงตัวแต่ดีกว่าปีก่อนหน้าที่ลดลงต่อเนื่อง: Philadelphia Fed Business Outlook เพิ่มขึ้นจาก 5.6 ในเดือน ต.ค.62 มาเป็น 10.4 ในเดือน พ.ย.62 ส่งสัญญาณว่าภาวะเศรษฐกิจในเขต Philadelphia ขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวลงในเดือน ต.ค.62, Chicago Fed National Activity Index (CFNAI) ลดลงจาก -0.45 ในเดือน ก.ย.62 มาอยู่ที่ -0.71 ในเดือน ต.ค.62 โดย CFNAI ยังคงส่งสัญญาณว่าภาวะเศรษฐกิจในเขต Chicago ยังคงหดตัวในเดือน ต.ค.62, และ NY Empire State Manufacturing Index ลดลงจาก 4.0 ในเดือน ต.ค.62 มาอยู่ที่ 2.9 ในเดือนพ.ย.62 ชี้ว่าภาคการผลิตในเขตรัฐ New York ยังอยู่ในภาวะชะลอตัว อย่างไรก็ดีค่าดัชนี Philadelphia Fed Business Outlook  และ NY Empire State Manufacturing Index ยังมีค่ามากกว่า 0 แสดงให้เห็นว่าภาคธุรกิจยังมีการขยายตัวใน 2 พื้นที่สำคัญ

ทั้งนี้ดัชนีเศรษฐกิจที่ฝ่ายวิจัยฯ บล. เคจีไอ (ประเทศไทย) นำมาวิเคราะห์ทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังมีแนวโน้มขยายตัว ทำให้ความวิตกว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯเข้าสู่ภาวะถดถอยหมดลง ขณะที่เศรษฐกิจจีนยังคงขยายตัวต่อเนื่องในปีหน้า บวกกับการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนเฟสแรก จะช่วยให้การค้าโลกกลับมาดีขึ้น รวมกับการสิ้นสุดของช่วงฐานสูงและเข้าสู่ช่วงฐานต่ำ ซึ่งจะส่งผลให้มูลค่าส่งออกไทยสามารถขยายตัวได้ 2% ในปี 2563 และเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยให้ GDP ไทยปี 2563 ขยายตัวได้ 3.2%

บทความก่อนหน้าผมประเมินว่า ผลจากมาตรการผ่อนคลายทางการเงินของธนาคารกลางประเทศต่างๆทั่วโลก เป็นปัจจัยกระตุ้นภาคอุปสงส์โดยรวมแล้ว Aggregate Demand ขณะนี้เหลือการปลดล๊อกเรื่อง การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีนที่จะเป็นการปลดล๊อกปัญหาด้านอุปทานโดยรวม Aggregate Supply ซึ่งหากสามารถปลดล๊อกได้จะทำให้เศรษฐกิจโลกรวมถึงไทยปีหน้ามีโอกาสกลับมาฟื้นตัว (ในทางกลับกันหากไม่สามารถปลดล๊อกได้ อาจทำให้ความกังวลต่อโอกาสในการเกิดภาวะ Recession กลับมาอีกครั้งเช่นกัน) และหากวิเคราะห์ทิศทางตลาดทุน ผมประเมินว่า อาจส่งผลให้เกิดการเคลื่อนย้ายเม็ดเงินลงทุนในตลาดทุน จากสินทรัพย์ปลอดภัยและหุ้น Defensive ต่างๆ ที่ Outperform ตลาดฯในช่วงปี 2562 (อาทิ หุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้า, สื่อสาร, และ ขนส่ง เป็นต้น) มายังหุ้นที่เชื่อมโยงกับภาวะเศรษฐกิจโลก เช่น หุ้นกลุ่มพลังงาน, หุ้นกลุ่มส่งออก, และ หุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ เป็นต้น และจะส่งผลต่อการประเมินเป้าหมายตามปัจจัยพื้นฐานของ SET index ในมุมของประมาณการกำไรของบริษัทจดทะเบียนที่มีโอกาสฟื้นตัวจากปี 2562  ขณะที่ PE ratio คาดจะยืนสูงจากภาวะสภาพคล่องที่ล้น (ผลจากการผ่อนคลายมาตรการการเงิน)