จีนและอาเซียนถกอะไรกัน

จีนและอาเซียนถกอะไรกัน

อาทิตย์ที่แล้วผมได้ไปร่วมให้ความเห็นในการประชุมประจำปีของ International Finance Forum(IFF) ที่เมืองกวางเจา ประเทศจีน

 IFF เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรของประเทศจีน ก่อตั้งเมื่อปี 2003 เพื่อเป็นเวทีการหารือระดับสูงเกี่ยวกับสถานการณ์การเงินของโลก ที่จะนำไปสู่การสร้างสรรค์ระบบการเงินโลกที่เป็นระเบียบมีเสถียรภาพเพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน และตั้งแต่องค์กรได้ถูกจัดตั้งขึ้นมาเมื่อสิบหกปีก่อน IFF ถือเป็นเวทีสำคัญของการแลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างผู้นำประเทศ เจ้าหน้าที่รัฐ องค์กรระหว่างประเทศ นักวิชาการ และภาคเอกชน มีบุคลากรระดับมันสมองจากที่ต่างๆ ของโลกเข้าร่วมประชุมทุกปี ในอดีตจากประเทศไทย คือ ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ สมัยดำรงตำแหน่ง เลขาธิการองค์กรUNCTAD ที่เข้าร่วมประชุมในปี 2011 ถือเป็นวงสนทนาระดับสูงที่จีนก่อตั้งขึ้นและรัฐบาลจีนให้ความสำคัญ

ปีนี้ หัวข้อการประชุม คือเสถียรภาพโลก การเปลี่ยนแปลงใหม่และการพัฒนาใหม่ สะท้อนความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และที่ยังไม่เกิดในเศรษฐกิจโลก จากผลของเทคโนโลยีและปัจจัยต่างๆ ที่กระทบเสถียรภาพทางการเงิน ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ระบบการค้า และความเหนียวแน่นของสังคม( Cohesive Society) ทำให้การหารือและการรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายจึงสำคัญเพื่อหาคำตอบหรือทางออกให้กับความท้าทายต่างๆ ที่โลกกำลังเผชิญอยู่

ในส่วนของผมได้เข้าร่วมหารือในหัวข้อ ความร่วมมือทางการเงินระหว่างจีนกับกลุ่มประเทศอาเซียนว่า มีช่องทางอะไรบ้างที่จะขยายความร่วมมือทางการเงินต่อไป โดยเฉพาะในแง่การพัฒนาระบบชำระเงิน การใช้สกุลเงินร่วมกัน และการเปิดตลาดเพื่อขยายการค้าและการลงทุน ซึ่งมีผู้ร่วมหารือจากประเทศในอาเซียนสี่คน คือ จากฟิลิปปินส์ ไทย อินโดนีเซีย และกัมพูชา และสี่คนจากจีน ที่มาจากธนาคารกลาง กระทรวงต่างประเทศจีน และภาคธุรกิจการเงิน

จากการหารือสังเกตุได้ว่า ความเห็นจากจีนจะให้ความสำคัญกับการขยายความร่วมมือในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในบริบทของเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 ของจีน การขยายการให้บริการทางการเงินที่ใช้เงินหยวนของจีนในภูมิภาค การพัฒนาระบบชำระเงินและระบบชำระราคาและส่งมอบในสกุลเงินของจีน เพื่อขยายการใช้เงินหยวนในภูมิภาคอาเซียน ส่วนของอาเซียนเอง จากที่เศรษฐกิจโลกกำลังอยู่ในภาวะชะลอตัวและความไม่แน่นอนด้านนโยบายมีสูง ความเห็นจากผู้เข้าร่วมหารือจากประเทศอาเซียนเกือบทั้งหมดให้ความสำคัญกับเรื่องการขยายความร่วมมือด้านการค้า และการลงทุนระหว่างประเทศในภูมิภาค เพื่อรักษาและเพิ่มโอกาสให้เศรษฐกิจภูมิภาคสามารถเติบโตได้ต่อไปภายใต้ความไม่แน่นอนที่เศรษฐกิจโลกมีอยู่ พร้อมเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบการเงินภูมิภาคให้สามารถรองรับความไม่แน่นอนที่จะมีมากขึ้น เพื่อรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจและระบบการเงินภูมิภาค

ผมได้ให้ความเห็นในแนวทางนี้เช่นกัน มองว่าในภาวะที่ความเสี่ยงในเศรษฐกิจโลกมีมากขึ้น ซึ่งจะทำให้การเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศผันผวนมากและจะสร้างความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจในภูมิภาค จึงจำเป็นที่ประเทศในภูมิภาคเอเชียจะต้องทำให้กลไกการป้องกันภัยด้านการเงิน(Financial Safety Net) ของภูมิภาคที่มีอยู่มีความเข้มแข็งเพื่อให้สามารถลดทอนความเสี่ยงที่อาจมีมากขึ้น ซึ่งผมได้ให้ความเห็นเสนอแนะไปสามเรื่อง คือ หนึ่ง จีนในฐานะประเทศใหญ่อาจต้องขยายเครือข่ายให้ความช่วยเหลือแบบประเทศต่อประเทศในกรณีฉุกเฉินให้ครอบคลุมประเทศในภูมิภาคมากขึ้น เพื่อให้ประเทศที่มีความอ่อนแอหรือถูกกระทบรุนแรงจากภาวะเศรษฐกิจโลก สามารถแก้ไขปัญหาด้านการเงินที่เกิดขึ้นได้โดยไม่สร้างผลกระทบต่อเนื่องให้กับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค

สอง แนวทางป้องกันความเสี่ยงด้านการเงินที่ภูมิภาคเอเชียมีอยู่ขณะนี้ คือโครงการริเริ่มเชียงใหม่พหุภาคี(CMIM) ที่จัดตั้งเมื่อปี 2000 และได้ปรับปรุงให้เป็นลักษณะพหุภาคีเมื่อปี 2010 โดยจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ร่วมกับประเทศอาเซียนสิบประเทศ เพื่อลดโอกาสของการเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ กลไกนี้ยังจะสามารถปรับปรุงให้เข้มแข็งได้มากขึ้นอีก เช่น ขยายวงเงินให้ความช่วยเหลือ ปรับปรุงขั้นตอนการเบิกจ่ายให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันเวลา รวมถึงพัฒนากลไกให้ความช่วยเหลือระหว่างประเทศในอาเซียนด้วยกัน ขนานกับกลไก CMIM เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพให้กับแนวป้องกันความเสี่ยงของประเทศในอาเซียนให้เข้มแข็งมากขึ้น ซึ่งจีนในฐานะประเทศใหญ่ในภูมิภาคและมีอิทธิพลต่อความเห็นของ CMIM สามารถให้การสนับสนุนในเรื่องนี้

สาม คือขยายความร่วมมือด้านนโยบายระหว่างโดยประเทศในภูมิภาคให้มีมากขึ้น เพื่อตั้งรับกับความผันผวนของเงินทุนระหว่างประเทศที่จะมีมากขึ้น ที่มักสร้างความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจในแง่ของการเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ​

ในประเด็นนี้ ที่ผ่านมา แต่ละประเทศในภูมิภาคจะพยายามบริหารจัดการความเสี่ยงที่มากับการไหลเข้าออกอย่างฉับพลันของเงินทุนระหว่างประเทศ ด้วยมาตรการระดับประเทศที่มักไม่มีประสิทธิภาพ เพราะความผันผวนของเงินทุนระหว่างประเทศเป็นปัญหาระดับโลก ดังนั้น ถ้าประเทศในภูมิภาคร่วมมือกันมากขึ้นทางนโยบาย มีมาตรการที่จะดูแลความผันผวนของเงินทุนระหว่างประเทศที่เข้มแข็งออกมาคล้ายๆ กันทั้งภูมิภาค เช่น การควบคุมเงินทุนระหว่างประเทศ(Capital Control) การบริหารความเสี่ยงจากความผันผวนของเงินทุนระหว่างประเทศที่มีต่อเศรษฐกิจภูมิภาคก็จะทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

สำหรับภาคเศรษฐกิจจริง ผมได้ให้ความเห็นว่าที่ผ่านมา ประเทศในเอเชียจะให้ความสำคัญกับความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนเป็นหลัก แต่จากนี้ไป ความร่วมมือน่าจะขยายไปสู่ความร่วมมือในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ตรงกับความจำเป็นของแต่ละประเทศ ขยายไปสู่ความร่วมมือในการพัฒนาเทคโนโลยี ที่ประเทศในภูมิภาคจะสามารถใช้ platform ด้านดิจิทัลเทคโนโลยีร่วมกัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์มากสำหรับภาคธุรกิจที่จะลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพ ขณะเดียวกัน ก็ร่วมมือกันวางมาตรฐานด้านธรรมาภิบาลที่สูงให้กับการทำธุรกิจในภูมิภาค เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับนักธุรกิจและนักลงทุน ด้วยสนามแข่งขันที่โปร่งใส เป็นธรรม ที่จะลดการทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งสำคัญมากต่อการรักษาโมเมนตัมการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาวที่จะยั่งยืน ให้ประโยชน์อย่างทั่วถึง(inclusive) และมีเสถียรภาพ

นี่คือ ความเห็นที่ผมได้ให้ไปที่กวางเจา