หน้าตา ย่อมเหนือกว่า คิวอาร์

 หน้าตา ย่อมเหนือกว่า คิวอาร์

อย่าว่าแต่ไปเมืองจีนปีละ 4 ครั้ง จะตามไม่ทันความเปลี่ยนแปลงในประเทศจีนเลย แม้แต่คนจีนซึ่งอยู่ที่นั่นทุกวัน ก็ยังตามไม่ทันเช่นกัน

ไม่ว่าที่เสิ่นเจิ้น ปักกิ่ง หังโจว เซี่ยงไฮ้ ฯลฯ ไกด์คนจีน ที่เมืองเหล่านั้นบอกผม เหมือนกันหมดว่า ความเปลี่ยนแปลงมันรวดเร็วจนน่ากลัว ครั้งล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ไกด์บอกว่าเขาก็กังวลเหมือนกันว่า อาชีพของเขาจะต้อง “สะดุดลง” หรือถูก “Disrupt” ไปด้วยหรือไม่

 ว่าแล้วไกด์ก็ออดอ้อน ขอให้พวกเราช่วยสั่งซื้อขนมและบัวหิมะจากเขา เพื่อเป็นของฝากกลับประเทศไทย ซึ่งเมื่อซื้อของฝากก็ต้องชำระเงิน ไม่ว่าเราจะจ่ายเป็นเงินหยวนหรือเงินบาท ไกด์ก็ยินดีรับ เพราะเขาทำมาหากินกับคนไทยอยู่แล้ว

 แต่จริงๆแล้วการนำ เงินสด ไปใช้ที่เมืองจีน มันใช้ไม่ค่อยจะได้หรอกครับ และเป็นเช่นนั้นมานานกว่า 5 ปีแล้ว ซึ่งทำให้คนต่างชาติเดือดร้อนมากทีเดียว เพราะจะซื้ออะไร ก็ต้องชำระเป็นเงินสดให้ไกด์ แล้วให้ไกด์ช่วยจ่ายด้วย Alipay หรือ WeChat Pay ของเขา ถ้าหากไม่มีไกด์อยู่ด้วย มันก็ไม่สะดวก เพราะบัตรเครดิตหาที่ใช้ ไม่ง่ายนักหรอก

 แต่เวลาคนจีนเดินทางไปประเทศอื่นๆ อย่างเช่นประเทศไทย พวกเขากลับไม่มีปัญหา เพราะจุดท่องเที่ยวหรือช็อปปิ้งที่เขาไป มักยินดีและมีระบบรับชำระเงินด้วย Alipay หรือ  WeChat Pay ได้เลย ก็พอเข้าใจได้แหละครับ เพราะที่ไหนๆก็อยากรับเงินจากนักท่องเที่ยวจีน เลยต้องหาวิธีรับเงินของเขาให้ได้ ดังนั้นที่พูดกันว่า เงินคืออำนาจ...ก็จริงแท้แน่นอน

 ธนาคารของไทยเราเอง มองเห็นโอกาสและเริ่มแข่งกันออก บัตรเดบิต เพื่อให้เติมเงินหยวนก่อนออกจากประเทศไทย แล้วนำไปใช้ที่เมืองจีนได้ (หรือจะเติมเงินสกุลไหนๆก็ได้) ซึ่งก็ได้รับความนิยมมากขึ้น แต่ได้ยินมาว่า ยังไงก็ยังไม่สามารถใช้ในจีน ได้กว้างขวางเท่ากับ Alipay หรือ WeChat Pay ซึ่งร้านค้ารับทุกแห่งหน

 อย่างไรก็ตาม ขณะนี้นักท่องเที่ยวที่ไปจีน ปีละเกือบ 200 ล้านคน น่าจะเดือดร้อนน้อยลงแล้วครับ เพราะทั้งสองค่ายชำระเงิน เพิ่งเริ่มให้ชาวต่างชาติสมัคร Alipay หรือ Wechat Pay ผ่านเว็บได้ เพื่อนำไปใช้จ่ายในจีน โดยไม่ต้องโยงกับบัญชีธนาคารจีน เพียงโยงกับบัตรวีซ่า มาสเตอร์การ์ด หรือบัตรอื่น และเบอร์โทรศัพท์มือถือของเราเอง ก็ได้แล้ว

 ผมก็กำลังจะสมัคร เพราะไปจีนครั้งต่อไปจะได้พาสาวจีนไปเลี้ยง อย่างไม่ต้องกังวลใจว่า ร้านอาหารจะรับเงินสด หรือบัตรเครดิตของเราไหมหนอ หรือว่าจะต้องไปเรียกไกด์มาช่วยจ่ายให้....เสียฟอร์มหมด!

 ก็ดีใจเพียงไม่กี่วัน ยังไม่ทันจะสมัครด้วยซ้ำไป ข่าวในช่วง 2-3 เดือนนี้ก็ออกมาว่า อีกไม่นานนัก การจ่ายเงินหยวนด้วยวิธีแสกนคิวอาร์ ก็จะกลายเป็นอดีตไปแล้วเหมือนกัน เพราะสิ่งที่จะมาทดแทน จะง่ายยิ่งกว่านั้นเสียอีก...

 ปัจจุบัน แม้คนจีนสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ โดยไม่ต้องมีเงินสดติดตัวเลย แต่การชำระเงินในอนาคตอันใกล้มากๆ จะสะดวกยิ่งขึ้น เพราะพวกเขาจะสามารถใช้  “ใบหน้า” ในการชำระเงินได้ ที่ว่าสะดวกกว่าเดิมก็เพราะ คิวอาร์ ยังต้องใช้มือถือ แต่การใช้ใบหน้านั้น ไม่ต้องถืออะไรไปเลย (ไปไหนๆ เราก็ต้องเอา “หน้า” ของเรา ไปด้วยอยู่แล้ว มิใช่หรือ...555)

 เทคโนโลยีจดจำใบหน้า ได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆมานานแล้ว คราวนี้ Alipay และ WeChat Pay จะนำเทคโนโลยีนั้น มาใช้ใน ระบบการชำระเงิน ซึ่งกำลัง “ทดลอง” ใช้อยู่แล้วหลายแห่ง และคงจะสำเร็จได้อย่างไม่ยากเย็นอะไรนัก 

 แปลได้ว่า เมื่อระบบนี้ขยายขอบเขตการใช้งานได้มากขึ้นแล้ว คนจีนส่วนใหญ่ก็จะใช้ “ใบหน้า” ของเขาในการจ่ายเงิน แปลว่า “แค่โชว์ใบหน้า ก็ชำระเงินเรียบร้อยแล้ว” คาดว่า อีกเพียง 2-3 ปีข้างหน้า ใบหน้า จะทำให้ คิวอาร์ ล้าสมัยโดยสิ้นเชิง

 เขียนไปก็รู้สึกเหนื่อยไปครับ รู้่สึกเหมือนไกด์คนจีนเลยว่า เจ้าเทคโนโลยีมันจะพาเราไปไกลอีกสักแค่ไหน แล้วทำอย่างไรเราจึงจะตามทัน ก่อนกลับจากจีนผมเลยแวะไปเยือนงาน “เทคโนโลยีประจำปี 2562” (China Hi-Tech Fair 2019) ที่เสิ่นเจิ้น ซึ่งเป็นงานแสดงที่ใหญ่โตมาก เพื่อดูเทคโนโลยีล่าสุด ว่ามีทิศทางไปทางใด

 ยอมรับว่ามึนงงกับ ภาษาจีน ที่เราอ่านและฟังไม่เข้าใจ เลยทำได้แค่แวะบูธต่างๆเพื่อดู หน้าตาของหุ่นยนต์ ตัวใหม่ๆ รวมทั้งสัมผัสกับพัฒนาการใหม่เอี่ยมอ่องของ Internet of Things ซึ่งค่ายต่างๆได้นำมาแสดง ผมสังเกตเห็นว่า หุ่นยนต์สมัยนี้ ตัวเล็กๆ หน้าตาน่ารัก สีสันหวานจ๋อยมากขึ้น มองแล้วทำให้อารมณ์ของเรา อ่อนโยนลงไปได้เยอะทีเดียว

 ก่อนกลับ บังเอิญเดินผ่านบูธหนึ่ง ซึ่งไม่มีหุ่นยนต์หรืออุปกรณ์ไฮเทคใดๆแสดงเลย แต่กลับมีผู้คนยืนชมกันเยอะมาก มองเข้าไป เห็นเพียงคนจีนสูงอายุคนหนึ่ง ลักษณะเป็นครู กับวัยกลางคนอีกคนหนึ่ง ลักษณะเป็นศิษย์ กำลังรำมวยจีน ด้วยท่วงท่าที่งดงาม เคล้าเสียงดนตรีจีน

 ผมยืนชม เห็นใบหน้าที่สงบนิ่งด้วยสมาธิ ดูลีลาร่ายรำที่บางช่วงอ่อนโยนเชื่องช้า บางจังหวะแข็งแกร่งฉับพลัน บวกกับเสียงดนตรีจีนที่พริ้วไหว สะกดคนดูจำนวนมาก ให้ยืนดูอยู่ได้เป็นเวลานาน

 ทำให้รู้สึกได้ทันทีว่า แม้ที่นี่จะเป็นงานแสดงเทคโนโลยีล้ำสมัย และผู้เข้าชมงานก็เป็นคนที่สนใจเทคโนโลยี แต่มนุษย์ก็คือมนุษย์ ยังมีหัวใจ มีศิลปะ และลีลาร่ายรำมวยจีน ที่วิวัฒนาการมานานนับพันปี ก็มิได้ด้อยคุณค่าลงไปเลยแม้แต่น้อย

แปลได้ว่า แม้หัวใจของผู้เข้าชมงาน จะมีเทคโนโลยีล้ำสมัย แต่ศิลปะหลายพันปี ก็ยังเข้าถึงหัวใจพวกเขาได้ดีเช่นกัน

 แปลต่อได้ว่าเก่า" กับ “ใหม่” ยังต้องไปด้วยกันครับ

 ส่วนใครจะนำการแปลของผม ไปตีความต่อว่าอย่างไร ในบริบทของสังคมไทย

 ก็ว่ากันไปเองก็แล้วกัน