"ศึกสามก๊ก"ดิจิทัลจีน WeChat vs Alipay vs Baidu

"ศึกสามก๊ก"ดิจิทัลจีน   WeChat vs Alipay vs Baidu

Mini-Program ของกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ในจีนที่สำคัญ ใช้งานในระดับสูงต่อเดือนเช่น WeChat Mini-Program

ศึกสามก๊กของบริษัทจีนที่ถือได้ว่าเป็นมังกรแห่งดิจิทัลจีน ได้แก่ อาลีบาบา ไป่ตู๋ เทนเซ็นต์ (Alibaba Baidu Tencent)  ทั้งสามรายถือเป็นผู้ให้บริการดิจิทัลรายใหญ่ของจีนในยุคนี้ เรียกรวมกันว่า BAT การแข่งขันโดยเฉพาะการพัฒนาบริการผ่าน Mini-Program ของแอพพลิเคชั่นหลักทั้งสามบริษัท ไม่ว่าจะเป็น วีแชท อาลีเพย์ ไป่ตู๋ (WeChat Alipay Baidu) ต่างมีส่วนอย่างมากในการกระตุ้นพฤติกรรม และการใช้งานของผู้บริโภคในจีนสำหรับการใช้บริการออนไลน์ที่ครบวงจรมากขึ้น

เนื่องจาก Mini-Program คือ แอพพลิเคชั่นในแอพพลิเคชั่นอีกที ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับ Mini-Program เพราะอยู่ในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว เพียงแต่หลายคนอาจไม่ทราบและไม่รู้ตัวเนื่องจากเข้ามาในชีวิตของเราแบบเนียนๆ นั่นคือ แนวคิดเรื่องแอพพลิเคชั่นที่อยู่ในแพลตฟอร์มหลักอีกทีหนึ่ง โดยไม่ต้องออกจากการใช้งานแพลตฟอร์มเหล่านั้น เป็นแนวคิดที่ทำให้เกิดการใช้งานแพลตฟอร์มต่างๆ ครบวงจร หรือ One Platform ซึ่งแพลตฟอร์มชื่อดังของจีนต่างก็มี Mini-Program กันทั้งนั้น

มีรายงานจาก Chinainternetwatch ชี้ว่า Mini-Program ของกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ในจีนที่สำคัญ มีการใช้งานในระดับสูงต่อเดือน เช่น  WeChat Mini-Program มีการใช้งานแอคทีฟอยู่ที่เดือนละ 470 ล้านครั้ง

Alipay Mini-Program มีการใช้งานแอคทีฟ เดือนละ 500 ล้านครั้ง ขณะที่ Baidu Smart Mini-Program มีการใช้งานแอคทีฟเดือนละ 270 ล้านครั้ง สำหรับบางบริษัท แพลตฟอร์ม Mini-Program กลายเป็นตัวเลือกแรกที่หลายบริการนำมาใช้ เช่น บริการเรียกรถแท็กซี่ จัดส่งอาหาร เป็นต้น

โดยเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา กลุ่มแอพสำหรับบริการ Service มีอัตราส่วนที่ 26% แต่ยังไม่ใช่อันดับหนึ่ง เนื่องจากแอพใช้งานจิปาถะทั่วไปอยู่ที่ 33% ตามด้วยแอพเกี่ยวกับคลิปวีดีโอ10% ส่วนเรื่องบันเทิง ดูหนัง มีบริการของ Taobao จากฝั่ง Alipay รวมถึง คนใช้งานของ Baidu Wenku ทำให้การใช้งานลักษณะบันเทิงมีสัดส่วนที่มากกว่าเช่นกัน

มีข้อมูลน่าสนใจว่า เมื่อปี 2018 ที่ผ่านมา บริการเกม จาก Mini-Program ของ WeChat ถือเป็นบริการหลัก มีสัดส่วนลดลงมาก ขณะที่งานบริการ งานเรียกรถและเดลิเวอรี่กลายมาเป็นตัวหลักแทน

จากข้อมูลของ Chinainternetwatch ชี้ว่า สัดส่วนการใช้งานเกมสำหรับ Mini-Program ของ WeChat ปี 2018 มีมากถึง 36.8% กลับลดลงเหลือเพียงแค่ 13.3% เท่านั้น

ขณะที่ สัดส่วนด้านอื่นๆ มีการเฉลี่ยใช้งานกระจายมากขึ้น ส่วนที่เพิ่มเข้ามามากสุด คือ คลิปวีดีโอ และการใช้ประโยชน์ทั่วไป

สถาบันข้อมูลและเทคโนโลยีสื่อสารของจีน (CAICT) ชี้ว่า WeChat มีส่วนส่งเสริมและเพิ่มบริการด้านต่าง ๆ เช่น บริการขนส่ง สื่อสาร สุขภาพ ธุรกรรมการเงิน การศึกษา และการเข้าถึงของร้านค้าปลีกในระดับท้องถิ่นเป็นอย่างมาก

บริการเรียกรถรับส่ง และเดลิเวอรี่ออนไลน์ มีการใช้บริการเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าภายในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีข้อมูลว่า เป็นการเรียกใช้บริการผ่านแอพในมือถือเป็นหลัก โดยสิ้นปี 2017 พบว่ามีผู้ใช้งานถึง 435 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 19.2% และมีถึง 287 ล้านคน ใช้บริการเรียกจองรถแท็กซี่ เพิ่มขึ้น 27.5%

นอกจากนี้ มีรายงานของ Ant Financial Group ในเครือบริษัทลูกของอาลีบาบา ผู้ให้บริการแอพลิเคชั่น Alipay ชี้ว่า ในเวลานี้มีร้านค้ารายย่อยและผู้ค้ามากกว่า 40 ล้านแห่งในประเทศจีนที่สนับสนุนการรับชำระเงินผ่านการสแกนคิวอาร์โค้ด (QR Code) สำหรับคนที่อยู่อาศัยในเขตเมืองก็สามารถชำระเงินและทำธุรกรรมผ่าน Alipay ได้มากกว่า 100 บริการ อาทิ โรงพยาบาล ธนาคาร ที่จอดรถ ทางด่วน ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้บริการของ Alipay ได้รับการใช้งานในวงกว้าง

ในส่วน Baidu มีข้อมูลชี้ว่า Baidu Tieba หรือ Baidu Feed Ad ได้รับความนิยมการใช้งานผ่านทางมือถืออย่างสูง ซึ่งถูกใช้งานในแง่โฆษณา เพื่อทำการตลาด และจะอยู่ในหน้าแรกของแอพเครือข่าย Baidu ซึ่งผู้ใช้งานสามารถเลือกกลุ่มเป้าหมายเพื่อยิงโฆษณาได้ทันที ซึ่งก็คือการยิงแอดในโซเชียลนั้นเอง

การแข่งขันด้านทำคอนเทนท์ที่มีการสร้างสรรค์ผ่านทางแพลตฟอร์มต่างๆ ที่มีความหลากหลายรูปแบบ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวชัดเจนกำลังสูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้การสร้างคอนเทนท์แบบเดิมเสียเปรียบการแข่งขัน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า สัดส่วนคอนเทนท์ดังกล่าวจะตายไป เพียงแต่มีการคัดกรองเอาคอนเทนท์ที่มีคุณภาพเอาไว้เท่านั้น 

สำหรับผู้ประกอบการไทยที่จะบุกตลาดจีน แอพพลิเคชั่นเหล่านี้ นับว่าเป็นเครื่องมือสำคัญที่ขาดไม่ได้ และจำเป็นต้องศึกษาอย่างยิ่งครับ