องค์กรย้อนวัย (2)

องค์กรย้อนวัย (2)

ยุคนี้เป็นยุคที่ตื่นเต้นเพราะมีเวทีที่สามารถใช้สร้างความสำเร็จได้

สังคมการทำงานทุกวันนี้ถือได้ว่าเพิ่งผ่านการรีเซ็ตครั้งใหญ่ ที่ทำให้ทุกคนทุกเพศทุกวัยมีโอกาสในการสร้างความสำเร็จได้ไม่ต่างกัน ไม่เว้นแม้แต่ประชากรสูงวัยที่สามารถปลุกให้ความหนุ่มสาวของตัวเองกลับคืนมาได้ เพราะในโลกที่แข่งขันกันอย่างรุนแรงนั้นยังแฝงโอกาสใหม่ ๆ ไว้ให้เราเสมอ

ตัวอย่างหนึ่งที่ผมได้พบก็คือ ผู้ชนะการประกวดถ่ายภาพรายการหนึ่งในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งรางวัลชนะเลิศตกเป็นของช่างภาพหญิงอายุ 105 ปี ที่หันกลับมาทำงานเป็นช่างภาพหลังสามีเสียชีวิตไปในวัย 70 ปีเศษ ปัจจุบันเธอเป็นช่างภาพอิสระที่ส่งภาพให้กับกองบรรณาธิการนิตยสารหลายแห่ง

ย้อนกลับไปสมัยที่เธออายุ 95 เธอเล่าให้ฟังมีโอกาสได้พบรักใหม่อีกครั้งกับชาวต่างชาติ สะท้อนให้เห็นว่าอายุเป็นเพียงตัวเลขเท่านั้น เพราะไม่ว่าจะอายุเท่าใดเราก็สามารถพบรักได้เหมือนวัยหนุ่มสาว

การทำตัวให้อ่อนเยาว์อยู่เสมอ จึงเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับคนทำงานทุกวันนี้ และสิ่งที่ต้องทำควบคู่กันก็คือ การรู้จักบทบาทหน้าที่ของตัวเองอย่างแท้จริง ซึ่งจะทำให้เราย่อมภูมิใจและมองเห็นบทบาทของเราต่อองค์กร ที่สำคัญคือบทบาทดังกล่าวอาจไม่ใช่บทบาทเด่นในองค์กร แต่เป็นหน้าที่ที่สำคัญ และจำเป็นซึ่งเราต้องเข้าใจ และทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด

ดังนั้นเราจึงต้องอาศัย “การสื่อสาร” ระหว่างกันที่ดีที่สุด เจ้านายกับลูกน้องต้องมีการสื่อสารที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เช่นเดียวกันกับทีมงานที่ต้องเข้าใจกัน เพื่อให้ทุกคนมองออกว่ากำลังทำอะไรกันอยู่และจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคตอันใกล้

เพราะเมื่อทุกคนมีส่วนร่วมด้วยกัน ต่างฝ่ายก็จะเห็นบทบาทของกันว่าใครทำอะไรและส่งผลเกี่ยวเนื่องอย่างไรกับงานส่วนรวม งานเล็ก ๆ น้อย ๆ เพียงอย่างหนึ่งอาจทำให้งานใหญ่ ๆ ต้องติดชะงักกันทั้งหมดเพราะทำให้ส่งมอบงานให้ลูกค้าไม่ได้ หลายบริษัทที่แม้จะเป็นองค์กรขนาดใหญ่แต่อาจพลาดงานเล็ก ทำให้โครงการใหญ่ต้องหยุดชะงักเพราะการสื่อสารภายในที่ย่ำแย่ เช่นเดียวกับบริษัทรับเหมาที่รับผิดชอบโครงการ 1,000 ล้านบาท แต่ติดที่พนักงานทำประตูหน้าต่างไม่ดี ทำให้ส่งมอบไม่ได้จนอาจถูกปรับจากความผิดพลาดที่ดูเล็กน้อยมาก

ที่สำคัญเมื่อโครงการมีปัญหาจนส่งมอบไม่ได้ ถูกปรับเพราะงานล่าช้า บริษัทก็ไม่สามารถอ้างได้ว่าทำงานช้าเพียงเพราะติดขัดที่งานติดตั้งหน้าต่างบานเดียวเพราะงานเล็ก ๆ แค่นั้นก็บ่งชี้ถึงความสามารถในการจัดการปัญหาของบริษัทได้แล้ว

ประการสุดท้ายคือต้องเด็ดขาดเพียงพอในการจัดการเรื่องบุคลากร ซึ่งปัญหาใหญ่ขององค์กรแบบไทยๆ เรา คือมักถนัดในการให้รางวัล ให้คำชื่นชมยินดี แต่กลับไม่กล้าลงโทษ ไม่กล้าลงดาบกับบุคลากรที่ขาดประสิทธิภาพและส่งผลเสียต่อองค์กรโดยรวม หลายองค์กรในยุคปัจจุบันเน้นให้บุคลากรเรียนรู้ใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา จึงมักใช้สัญญาจ้างแทนที่ การบรรจุเป็นพนักงานประจำ ในบ้านเราจะเห็นหลาย ๆ บริษัทตั้งบริษัทในเครือที่หันมาเน้นธุรกิจด้านดิจิทัลอย่างจริงจัง แต่กลับใช้ทีมงานเดิมเป็นหลักซึ่งมักไม่เกิดผลใด ๆ จึงต้องมีการผสมผสานทีมงานใหม่เข้าไปพร้อมกัน

บางองค์กรถึงขนาดตั้งเป้าให้แต่ละปีลดพนักงานลง 10%-15% โดยพิจารณาจากประสิทธภาพในการทำงานเป็นหลัก โดยในเวลาเดียวกันก็ตั้งเป้ารับพนักงานใหม่ปีละ 10%-15% เช่นกัน

ทั้งนี้ ก็เพื่อกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันภายในองค์กร ปัญหาสำคัญสำหรับทุกวันนี้คือคนจำนวนไม่น้อยยังยึดมั่นกับหน้าที่การงานเดิม ๆ ไม่คิดขวนขวายเปลี่ยนแปลงตัวเองทั้ง ๆ ที่รู้ว่าหน้าที่เดิม ๆ ที่ตัวเองทำอยู่นั้นกำลังจะหมดความหมายลงเพราะยุคนี้เป็นยุคที่ความรู้เดิมที่เคยเรียนมาได้ล้าสมัยไปหมดแล้ว แต่ในเวลาเดียวกันยุคนี้ก็เป็นยุคที่น่าตื่นเต้นที่สุด มีโอกาสเปิดกว้างมากที่สุด เพราะมีเวทีที่คนทุกยุคทุกวัยสามารถใช้สร้างความสำเร็จได้หากรู้จักปรับตัวและเปลี่ยนแปลงได้ก่อนผู้อื่น