องค์กรย้อนวัย

องค์กรย้อนวัย

การรู้จักบทบาทของตัวเองคือการทำให้พนักงานรู้คุณค่าของพวกเขา จะส่งผลดีต่อองค์กร

เมื่อการเปลี่ยนแปลงกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาของสังคมโลกในทุกวันนี้ คนทำธุรกิจจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องปรับตัวเองรับการเปลี่ยนแปลงด้วยการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่องเพราะ โอกาสที่เกิดขึ้น จากการเปลี่ยนแปลงอาจมาเยือนเราได้ทุกเมื่อ

โดยเฉพาะในยุคนี้ ที่เรากังวลต่อการรุกคืบของทุนจีนที่กำลังแผ่อิทธิพลมาในแถบบ้านเรา เพราะโลกธุรกิจกำลังเดินตามรอยจีนในหลาย ๆ ด้าน แต่จีนเองก็ไม่ได้เชี่ยวชาญการทำธุรกิจในบ้านเรานัก บางครั้งเขาจึงใช้การหาพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อร่วมกันขยายธุรกิจและอุตสาหกรรม

ปัญหาใหญ่จึงอยู่ที่ตัวเราเองว่ามีความพร้อมเพียงพอหรือไม่ และเราเองสามารถสร้างผลงานใหม่ ๆ ให้เป็นที่ยอมรับจนกลายเป็นตัวเลือกแรก ๆ ของเขาได้หรือไม่ เพราะธุรกิจใหม่เกิดขึ้นทุกวัน การหยุดเรียนรู้จึงเป็นการปิดโอกาสในการเติบโตสู่เส้นทางใหม่เช่นกัน

แต่การจะเก็บเกี่ยวโอกาสใหม่เอาไว้ได้ เราก็ต้องมีความพร้อมอยู่เสมอซึ่งแนวทางในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากกระแสดิจิทัลเบื้องต้นผมรวบรวมไว้ให้กับผู้อ่าน ดังนี้

ประการแรกต้องทำตัวให้อ่อนวัยอยู่เสมอ เพราะความรู้สึกของการเป็นหนุ่มเป็นสาวนั้นจะทำให้เรามีพลังกล้าคิดและกล้าทำสิ่งใหม่ ๆ ตลอดเวลา กล้ารับความเสี่ยง ไม่กลัวความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงการเต็มใจเรียนรู้เรื่องราวที่อยู่ในกระแส เต็มใจลุยหน้าที่ใหม่โดยไม่เกี่ยงงอน

ที่สำคัญการถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกอ่อนเยาว์แบบนี้ต้องลงลึกไปถึงระดับคนทำงานที่ต้องคิดเป็นวัยรุ่นเช่นเดียวกัน เพราะหากทั้งองค์กรมีคนที่คนที่ย้อนเวลากลับมาใช้พลังเหมือนเด็กรุ่นใหม่ได้ไม่กี่คน แต่คนที่เหลือยังทำงานไปวัน ๆ เหมือนเดิมก็คงพบความสำเร็จได้ยากมาก 

การปล่อยให้ตัวเองแก่ไปตามวัย ไม่คิดจะปลุกพลังชีวิตให้กระชุ่มกระชวยขึ้นมามักลงเอยด้วยการทำงานแบบเฉื่อยชา สุดท้ายก็กลายเป็นคนที่ไม่คิดจะทำอะไรใหม่ ๆ ได้แต่รอวันเกษียณอายุ ผลที่เกิดขึ้นก็คือความล่มสลายขององค์กร 

เพราะหากพนักงานส่วนมากคิดและทำแบบนี้คงต้องรอเวลาปิดกิจการ เหมือนที่กำลังเกิดกับบริษัทที่ปรับตัวไม่ทันโลกหลายร้อยหลายพันบริษัทในเวลานี้ ซึ่งไม่จำกัดว่าเป็นบริษัทที่ก่อตั้งมานานแค่ไหน ยิ่งใหญ่ หรือเคยสำเร็จเพียงใดก็พร้อมล่มสลายได้ทุกเมื่อ

ประการที่สองต้องรู้จักหน้าที่ของตัวเอง อย่าคิดว่างานที่ทำอยู่นี้ควรจะเป็นของฝ่ายอื่น หรือเฝ้ามองว่าฝ่ายอื่นได้สิทธิประโยชน์ที่ดีกว่าจึงไม่อยากทำงานนี้ ฯลฯ เช่นฝ่ายขายที่คิดว่าทำหน้าที่ขายได้เสร็จก็ถือว่าจบงานของตัวเองแล้ว ไม่คิดที่จะดูแลลูกค้าหลังการขายหรือฝ่ายบริการที่ไม่เต็มใจทำงานให้ลูกค้าเพราะรู้สึกว่าปัญหาเยอะ เนื่องจากฝ่ายขายไปรับปากลูกค้ามามากมายเกินความสามารถของตัวเอง และยังไม่ได้คอมมิชชั่นเหมือนฝ่ายขายจึงโยนงานกันไปมา ซึ่งเราจะพบปัญหาแบบนี้เยอะมาก หากจัดการไม่ได้เราคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเห็นบริษัทนี้ล่มสลายลงในระยะเวลาไม่นานนัก

การรู้จักบทบาทของตัวเองคือการทำให้พนักงานรู้คุณค่าของพวกเขา ทำให้เขามองเห็นความสำคัญของตัวเองแม้จะไม่ได้มีบทบาทเด่น เช่นเป็นตัวประกอบในภาพยนตร์ที่แม้จะสู้พระเอกไม่ได้แต่ก็ช่วยเสริมให้บทบาทของตัวเอกเด่นขึ้น ภาพยนตร์ก็สนุกขึ้นด้วยเช่นกัน

จะเป็นอย่างไรหากตัวประกอบอยากมีบทบาทเด่นและแย่งซีนพระเอก คนดูอาจไม่สนุกด้วยและทำให้บทภาพยนตร์โดยรวมเสียไป เช่นเดียวกับตัวร้ายที่อยากเล่นเป็นพระเอกก็ทำให้คนดูสับสน การยึดตามบทของตัวเองอย่างชัดเจน เชื่อฟังผู้กำกับแล้วทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุดจึงเป็นทางออกที่ดีสำหรับทุกฝ่าย

การทำงานในทุกวันนี้จึงแบ่งแยกว่าเป็นงานเขางานเราไม่ได้ เราต้องมองเห็นบทบาทของแต่ละคนให้ชัดเจน และมองให้ออกว่าการทำงานของเราจะเสริมให้กับคนอื่นดีขึ้นได้อย่างไร เพราะท้ายที่สุดแล้วความสำเร็จก็จะเป็นของทุกคนร่วมกัน