5 คำทำนายในปี 2020 (ตอนที่ 1)

5 คำทำนายในปี 2020 (ตอนที่ 1)

“ความไม่แน่นอนคือสิ่งที่แน่นอน” ตรรกะแห่งพุทธพจน์เป็นจริงเสมอ เพราะใดๆ ในโลกล้วนไม่จีรัง เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุและปัจจัยต่าง ๆ

เฉกเช่นเดียวกับคำทำนายต่างๆ ที่บางครั้งก็ทำให้สิ่งที่ทำนายเป็นจริงเนื่องจากความเชื่อของผู้ที่ถูกทำนาย(Self-fulfilling Prophecy) และทำตามคำทำนายนั้น แต่บางครั้งคำทำนาย ก็เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้อนาคตไม่เป็นจริงดั่งทำนาย เนื่องจากผู้ฟังคำทำนายพยายามป้องกันเหตุร้ายที่จะทำให้คำทำนายนั้นเป็นจริง

ในปี 2020 คำทำนายที่มีชื่อเสียงที่สุดเป็นของ Nouriel Roubini นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง ที่ทำนายว่าปี 2020 เศรษฐกิจโลกจะเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจอีกครั้ง

ผู้เขียนเคยกล่าวในคอลัมน์ “Global Vision” นี้ ว่าแม้ว่าจะเคารพในความเห็นของอาจารย์ Roubini แต่ผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับคำทำนายดังกล่าว ในบทความนี้ ผู้เขียนจึงขอฉายภาพคำทำนาย 5 ประการที่จะเกิดขึ้นในปี 2020 ดังนี้

1.เศรษฐกิจโลกจะแย่ลง แต่จะไม่เกิดวิกฤตในปีหน้า

ในปี 2019 เศรษฐกิจโลกแย่ลงอย่างเห็นได้ชัด เห็นได้จาก IMF ที่ปรับประมาณการเศรษฐกิจโลกลงทุกครั้งที่ประกาศ จนล่าสุดให้ที่ 3.0% ต่ำสุดในรอบ 10 ปี อันเป็นผลทั้งจากนโยบายการเงินโลกที่ตึงตัวในปีก่อน ๆ สงครามการค้าที่รุนแรงต่อเนื่องและทำให้เกิดความไม่แน่นอนในการทำธุรกิจ และการผลิตที่มากเกินกว่าความต้องการทั่วโลก

ในปี 2020 เศรษฐกิจโลกจะยังชะลอตัวลง จากปัจจัยเชิงโครงสร้าง เช่น สังคมสูงวัยและหนี้ทั่วโลก กดดันไม่ให้ความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้นมากนัก ขณะที่สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน และความไม่แน่นอนด้านการเมืองที่มากขึ้นทั่วโลก จะทำให้ความไม่แน่นอนด้านการค้าและการลงทุนยังคงอยู่

แต่เศรษฐกิจโลกไม่น่าจะเกิดวิกฤต อันเนื่องมาจากเหตุผล 5 ประการ คือ

(1) นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายของธนาคารกลางทั่วโลก ทั้งการลดดอกเบี้ยของธนาคารประเทศตลาดเกิดใหม่ และการอัดฉีดสภาพคล่องผ่านการซื้อสินทรัพย์ของธนาคารกลางประเทศพัฒนาแล้ว จะช่วยทำให้ความตึงตัวด้านการเงินบรรเทาลง

(ซึ่งสาเหตสำคัญที่ทำให้ธนาคารกลางทั่วโลกโดยเฉพาะสหรัฐ (Fed) ผ่อนคลายนโยบายการเงิน ก็เพราะความกังวลที่จะเกิดวิกฤตในปีหน้าอันเนื่องมาจากคำทำนายต่าง ๆ นั่นเอง)

(2) นโยบายการคลังที่กลับมาผ่อนคลายอีกครั้ง ในหลายประเทศ เช่น จีน ไทย เกาหลีใต้ และรัสเซีย ขณะที่มีความเป็นไปได้ที่ประเทศในยุโรป เช่น ฝรั่งเศส อิตาลี หรือแม้แต่เยอรมนีจะเริ่มผ่อนคลายนโยบายการคลังมากขึ้น

(3) ภาคการผลิตที่เริ่มหันกลับมาผลิตอีกครั้ง หลังจากการชะลอการผลิตจากสินค้าคงคลังที่ล้นเกิน โดยในช่วงที่ผ่านมา ผู้ผลิตไม่ทำการผลิตแต่เร่งระบายสต๊อกสินค้า ขณะที่ในปัจจุบัน เริ่มเห็นการฟื้นตัวขึ้นของคำสั่้งซื้อใหม่เมื่อเทียบกับสินค้าคงคลัง ขณะที่ในไทยเองนั้น เห็นได้ชัดถึงการลดทอนของสต๊อกของสินค้าหลายชนิด เช่น คอมพิวเตอร์ นาฬิกา เครื่องมือเครื่องจักร และยานยนต์ บ่งชี้ว่าภาคการผลิตอาจกลับฟื้นขึ้นได้บ้างเช่นเดียวกับปี 2017

(4) ตลาดแรงงานที่ยังแข็งแกร่งทั่วโลก จากการว่างงานที่ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในหลายประเทศ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากความไม่แน่นอนด้านแนวโน้มเศรษฐกิจ ผู้ประกอบการจึงไม่ลงทุนเพิ่ม แต่เพิ่มการจ้างงานเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตแทน ทำให้แรงงานยังได้รับค่าจ้างจึงยังพอที่จะคงระดับการบริโภคอยู่ได้ และ

(5) ในปัจจุบัน ยังไม่เกิดภาวะฟองสบู่ที่รุนแรงพอที่จะทำให้เกิดฟองสบู่แตกและเกิดวิกฤตได้ โดยแม้ว่า IMF จะกังวลฟองสบู่ในตลาดพันธบัตรและหุ้นกู้ ขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) สหรัฐจะกังวลในระดับการกู้ยืมของภาคธุรกิจที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากดอกเบี้ยต่ำ แต่ผู้เขียนเห็นว่าระดับความเสี่ยงยังไม่รุนแรงเท่าช่วงก่อนวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ดังนั้น จึงยังไม่น่าจะแตกรุนแรงเท่าในครั้งนั้น

อย่างไรก็ตาม แม้เศรษฐกิจโลกจะยังไม่เกิดวิกฤตในปีหน้า แต่ก็จะชะลอลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจขนาดใหญ่อื่น ๆ เช่น สหรัฐ ยุโรป จีน รวมถึงไทยนั้นจะขยายตัวต่ำกว่าที่ IMF ได้ประเมินไว้

2.การเมืองสหรัฐจะดุเดือดเลือดพล่าน แต่ทรัมป์จะได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 2

ในปี 2020 จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสมัยที่สอง แต่พรรค Democrat ยังไม่ได้เลือกผู้แทนพรรคขึ้นชิงตำแหน่งกับประธานาธิบดีทรัมพ์ของ Republican

ในการเลือกตั้งกลางเทอมแทบทุกครั้ง การแพ้ชนะขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจ โดยทุกครั้งที่การเลือกตั้งกลางเทอมแล้วเศรษฐกิจดี ประธานาธิบดีที่อยู่ในตำแหน่งจะชนะแทบทุกครั้ง ซึ่งในปี 2020 แม้เศรษฐกิจสหรัฐจะแผ่วลง แต่ก็ยังไม่เกิดวิกฤต ขณะที่การว่างงานแม้เพิ่มขึ้นบ้างแต่ยังต่ำมากเมื่อเทียบกับในอดีต ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะผลักดันให้ทรัมพ์ยังชนะการเลือกตั้ง บนสมมุติฐานว่าสงครามการค้าไม่รุนแรงไปกว่านี้มากนัก

อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งครั้งนี้จะสูสีมาก โดยทรัมพ์จะชนะเลือกตั้งตามระบบ Electoral vote แต่จะแพ้ popular vote เช่นเดียวกับครั้งที่แล้ว สาเหตุที่การเลือกตั้งครั้งนี้ยากมากขึ้นสำหรับทรัมพ์เป็นเพราะว่าสงครามการค้าที่เขาสร้างขึ้นนั้นกระทบต่อรัฐที่เป็นฐานเสียงอันได้แก่รัฐอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม แต่การหาเสียงอย่างดุเดือด สาดโคลนคู่แข่ง รวมถึงการที่ทรัมพ์สามารถ “จุดติด” กระแสที่ทำให้คนสหรัฐเกลียดชังจีน จะทำให้เขาได้รับการเลือกตั้งในที่สุด โดยรัฐที่จะสูสีคือรัฐที่เป็นสมรภูมิการเลือกตั้งครั้งที่แล้วอย่างมิชิแกน ฟรอลิดา เพนซิวาเนียและวิสคอนซิน

นี่คือ 2 คำทำนายแรก ส่วนอีก 3 คำทำนายที่เหลือจะเป็นเช่นไรนั้น โปรดติดตาม

[ บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่ ]