การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแบบไม่มีแผน

การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแบบไม่มีแผน

ในช่วงที่เป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ กมธ.สาธารณสุข ที่ผ่านมานั้นได้มีโอกาสรับรู้รับทราบเกี่ยวกับแผนรับมือสังคมผู้สูงอายุ

จากหลายหน่วยงานที่เชิญมาชี้แจง ไม่ว่าสภาพัฒน์ ก.สาธารณสุข ก.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รวมทั้งการศึกษาของ อนุ กมธ.สาธารณสุข เรื่องการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งมีทั้งออกเยี่ยมดูการทำงานของสถานพยาบาลผู้สูงอายุ และจัดประชุมเสวนารับฟังความเห็นหลายครั้ง

ส่วนตัวได้แสดงความเห็นหลายครั้งทั้งจากการเข้าร่วมสัมมนา และผ่านบทความที่เขียนลงหนังสือพิมพ์ในลักษณะที่วิพากษ์ความไม่พร้อมของการรับมือการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของรัฐบาลผ่านหน่วยงานต่างๆ เพราะจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นนี้ย่อมส่งผลกระทบไม่เฉพาะด้านสาธารณสุขสุขภาพอนามัยประชาชน แต่จะกระทบทั้งเศรษฐกิจ ธุรกิจ สังคมและแม้กระทั่งการเมืองไทย อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

และเมื่อพิจารณาร่วมกับปัญหาอัตราการเกิดของประชากรไทยที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ช่วงห่างระหว่างจำนวนคนหนุ่มสาวที่เข้าสู่ตลาดแรงงานกับผู้สูงอายุที่ออกจากตลาดแรงงานก็ยิ่งห่างออกไปอีก บอกตรงๆว่า ยังมองไม่เห็นจุดบรรจบของสองปัญหานี้เลย

สิ่งที่รัฐบาลทำและจะทำเกี่ยวกับการเพิ่มสวัสดิการให้ผู้สูงอายุในโครงการต่างๆ ไม่ว่าเรื่องรักษาพยาบาล บำนาญผู้สูงอายุ การเดินทางไปรักษาตัว และอีกบางโครงการคงเป็นแค่ประทังความเดือดร้อนเท่าที่สามารถทำให้ได้ แต่ไม่ใช่การรับมืออย่างมีแบบแผนอย่างเป็นระบบ

เรื่องของสังคมผู้สูงอายุไม่ใช่แค่เรื่องสุขภาพอนามัย แต่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตวัฒนธรรมประเพณีแบบไทยๆ ที่เราไม่สามารถเอาแบบอย่างจากต่างประเทศมาใช้ได้ทั้งหมด แต่ต้องพยายามหารูปแบบแบบไทยๆ ที่ผู้สูงอายุรู้สึกว่าวิถีชีวิตไม่ได้ถูกปรับเปลี่ยนจนกลายเป็นปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวัน

สิ่งหนึ่งที่เคยพูดคือเรื่องของลูกหลานผู้สูงอายุที่จะมีความสำคัญอย่างมากกับการใช้ชีวิตบั้นปลายของผู้สูงอายุ พูดง่ายๆ ก็คือแม้ว่าจะไม่ถึงพร้อมด้วยเครื่องมือเครื่องทุ่นแรงเครื่องอำนวยความสะดวก ดังเช่นที่ประเทศพัฒนาแล้วจัดหาให้ผู้สูงอายุในสังคมได้ แต่ความรู้สึกอบอุ่น ไม่ว้าเหว่ ไม่รู้สึกว่าถูกทิ้งขว้างจากลูกหลาน เป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างมาก หรืออาจมากที่สุดด้วยซ้ำ จึงอาจพูดได้ว่า ถ้าลูกหลานมาเยี่ยมเยียนหรือสามารถรับไปอยู่ด้วยได้ ปัญหาของผู้สูงอายุก็จะมีน้อย แต่ถ้าไม่มีลูกหลานช่วยดูแล ต้องช่วยตัวเองทั้งหมด อย่างนี้ผู้สูงอายุก็คงไม่มีความสุขมากนัก

ผู้สูงอายุที่มีการเตรียมตัวมาดี มีเงินออมตั้งแต่ครั้งยังสามารถทำงาน ไม่เป็นภาระลูกหลานที่ต้องหาเงินส่งให้ใช้ ไม่ต้องควักเงินให้ทุกครั้งที่มาเยี่ยม ไม่ต้องออกค่าใช้จ่ายในยามที่ผู้ใหญ่ในครอบครัวเจ็บป่วยเข้ารับการรักษาพยาบาล แบบนี้ก็เชื่อว่าจะเป็นผู้สูงอายุที่ลูกหลานมีความสุขที่จะอยู่ใกล้ๆ ด้วย มีความเป็นไปได้ที่จะมาเยี่ยมเยียนบ่อยครั้ง เพราะมาแล้วก็ไม่มีภาระอะไรที่ต้องแบกรับ ผู้สูงอายุแบบนี้น่าจะมีชีวิตบั้นปลายที่มีความสุขพอสมควร มีคุณภาพชีวิตดีเพราะดูแลตัวเองได้จนถึงวันสุดท้ายของชีวิต

การเตรียมตัวของผู้สูงอายุไทย ต้องเริ่มตั้งแต่อยู่ในวัยทำงาน การออมเงินเพื่อใช้จ่ายดูแลตัวเองยามแก่ชราเป็นสิ่งจำเป็น จะหวังพึ่งจากรัฐก็คงได้ไม่มาก ไปๆมาๆก็คงได้รับการดูแลแบบพื้นๆเฉพาะเรื่องพื้นฐานที่ไม่พอเพียง

ในแง่ของรัฐบาลก็คงหนีไม่พ้นที่จะต้องให้สวัสดิการ ดูแลเท่าที่ทำได้ตามงบประมาณที่มีเท่าที่จะช่วยประคองการใช้ชีวิตในบั้นปลายของผู้สูงอายุเท่านั้น ซึ่งก็คงเน้นในเรื่องกายภาพเป็นหลัก

สิ่งที่สำคัญคือเรื่องของจิตใจ ความสุขของผู้สูงอายุคงไม่ใช่เรื่องของการใช้จ่ายจับจ่ายใช้สอยแบบคนในวัยทำงาน แต่เป็นเรื่องของความที่เป็นอิสระทางการเงินในการใช้จ่ายดูแลตัวเองให้มีสุขภาพดีตามวัย จะทำอย่างไรให้คนไทยมีการวางแผนการออมเงินเพื่อมีชีวิตบั้นปลายอย่างมีคุณภาพ คงเป็นโจทย์ใหญ่