Climate Change : โจทย์ใหญ่ ผลักดันให้ธุรกิจต้อง Change

Climate Change : โจทย์ใหญ่ ผลักดันให้ธุรกิจต้อง Change

การเผยแพร่งานวิจัยล่าสุดของClimate Central ที่ประเมินว่าภาวะโลกร้อน(Climate Change) จะทำให้น้ำแข็งที่อยู่ในทวีปแอนตาร์กติกาและกรีนแลนด์ละลาย

 ส่งผลให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นจนอาจทำให้มหานครหลายแห่งของโลก เสี่ยงจะจมน้ำภายใน 30 ปี นับเป็นข่าวใหญ่ในรอบปี 2562 ที่ทำให้ผู้คนทั่วโลกหันมาให้ความสนใจกับผลกระทบของภาวะโลกร้อน และมีการดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อรณรงค์ให้ตระหนักถึงภัยที่กำลังจะมาถึง อาทิ การหยุดเรียนของเยาวชนใน 100 ประเทศทั่วโลก ภายใต้โครงการ Fridays for Future เมื่อกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เพื่อจัดกิจกรรมเรียกร้องให้รัฐบาลของตนเร่งแก้ไขปัญหาโลกร้อนกันอย่างจริงจัง หรือโครงการรับบริจาคเงินสำหรับปลูกต้นไม้ 20 ล้านต้นทั่วโลก ที่ได้รับความสนใจมากจน “#TeamTrees” กลายเป็น Viral ในสังคม Online  ตั้งแต่กลางปีนี้ และยังสามารถระดมเงินได้ถึงกว่า 8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในเวลาเพียง 1 สัปดาห์ เหตุการณ์ต่างๆ ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าภาวะโลกร้อนไม่ใช่เรื่องของนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเฉพาะกลุ่มอีกต่อไป แต่เป็นประเด็นที่คนทั่วโลกให้ความสนใจ เพราะคนหมู่มากเริ่มรับรู้แล้วว่าภาวะโลกร้อนเป็นภัยใกล้ตัวกว่าที่คิด ทำให้ภาคธุรกิจต่างๆ ต้องปรับตัวเพื่อลดผลกระทบดังกล่าว โดยเฉพาะภาคธุรกิจขนส่ง ซึ่งถูกระบุว่าเป็นต้นเหตุสำคัญของภาวะโลกร้อน

 สำหรับวิธีการปรับตัวของภาคธุรกิจขนส่ง ผมเห็นว่ามีอยู่ 3 รูปแบบหลักๆ ได้แก่

  • Technology Change การเปลี่ยนไปใช้ยานพาหนะที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการขนส่งสินค้า เป็นวิธีแก้ไขปัญหาที่ตรงไปตรงมาที่สุด ผู้ประกอบการขนส่งหลายรายจึงมักเริ่มต้นการแก้ปัญหาก๊าซเรือนกระจกด้วยวิธีนี้ อาทิ FedEx ที่นอกจากปรับปรุงเทคโนโลยีเครื่องบินขนส่งของตนแล้ว ยังสั่งซื้อรถตู้ไฟฟ้าถึง 1,000 คัน มาใช้ขนส่งสินค้า และ Amazon ที่เตรียมใช้โดรนในการขนส่งพัสดุ รวมถึงผู้ประกอบการบางรายที่เลือกใช้รถห้องเย็นที่มีการติดตั้งแผงโซลาร์บนตู้สินค้าเพื่อลดการใช้เชื้อเพลิงในการควบคุมอุณหภูมิในตู้สินค้า ทั้งนี้ การที่ผู้ประกอบการในธุรกิจขนส่งเปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยีที่ช่วยลดก๊าซเรือนกระจก ยังเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์ตลอด Supply Chain เดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีจากเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันในการขับเคลื่อนไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า ขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้มีผู้ประกอบการรายใหม่เข้าสู่อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ที่ช่วยลดโลกร้อนอีกด้วย
  • Business Model Change ผู้ประกอบการในธุรกิจขนส่งกำหนดให้การลดก๊าซเรือนกระจกเป็นเป้าหมายร่วมของการทำธุรกิจ (Green Logistic) ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนวิธีการขนส่ง และการบริหารกระบวนการ
    ย้ายสินค้าตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนถึงมือผู้รับ โดยคำนึงถึงประสิทธิภาพในการใช้พลังงานร่วมด้วย อาทิ ผู้ประกอบการ
    e-Commerce นำเทคโนโลยี IoT และ AI มาใช้รวบรวมข้อมูลและวางแผนการกระจายสินค้าล่วงหน้าไปไว้ที่คลังสินค้าที่อยู่ใกล้ลูกค้าที่สุด วิธีนี้นอกจากจะช่วยให้ลูกค้าได้รับสินค้าเร็วขึ้น ยังทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลงจากระยะทางขนส่งรวมที่สั้นลง นอกจากการปรับรูปแบบธุรกิจของผู้ประกอบการในธุรกิจขนส่งแล้ว ธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่อง
    ก็ต้องปรับตัวตามเช่นกัน อาทิ ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ที่ต้องพัฒนาบรรุภัณฑ์ที่สามารถนำมาใช้ซ้ำหรือประหยัดพื้นที่ขนส่งเพื่อให้สอดคล้องกับแนวนโยบายของผู้ประกอบการขนส่งที่ต้องการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้
  • Standard Change การปรับตัวให้เป็นไปตามระเบียบใหม่ที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งนี้ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้พบว่าผู้ประกอบการในธุรกิจขนส่งต้องปรับตัวอย่างมากเพื่อรับมือกับระเบียบใหม่ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของเรือเดินทะเลที่ต้องเปลี่ยนไปใช้เชื้อเพลิงกำมะถันต่ำ หรือติดตั้งเครื่อง Scrubber กำจัดกำมะถันส่วนเกิน เพื่อให้เป็นไปตามที่องค์การทางทะเลระหว่างประเทศบังคับให้เรือทุกลำในโลกต้องลดการปล่อยกำมะถันลงจากปัจจุบันที่ 5% ให้เหลือเพียง 0.5% และสายการบินที่ต้องเตรียมบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศกำหนดให้ต้องมีค่าใช้จ่ายชดเชยหากสายการบินปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกินปริมาณที่ปล่อยในปี 2563

 จากตัวอย่างที่ยกมาข้างต้นคงพอจะทำให้ท่านเห็นภาพได้ว่าเรื่องโลกร้อนหรือประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมกำลัง
ทวีความสำคัญมากขึ้นทุกขณะ และมีโอกาสจะกลายเป็นมาตรฐานบังคับที่เชื่อมโยงมากับประเด็นทางเศรษฐกิจ การค้า   การลงทุน และเป็นเหตุให้ผู้ประกอบการต้องปฏิบัติตามไม่ต่างจากประเด็นเรื่องการปฏิบัติต่อแรงงานหรือการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ผู้ส่งออก โดยเฉพาะท่านที่ส่งออกไปประเทศที่มีความตื่นตัวด้านสิ่งแวดล้อมสูง จึงควรให้ความสนใจและเตรียมแนวทางรับมือแต่เนิ่นๆ เพื่อให้ธุรกิจของท่านอยู่รอดอย่างยั่งยืน

 

Disclaimer : คอลัมน์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความคิดเห็นของ EXIM BANK