"โมบาย เพย์เม้นท์ โลก" สะท้อนตลาด"อีเพย์เม้นท์ไทย"

"โมบาย เพย์เม้นท์ โลก" สะท้อนตลาด"อีเพย์เม้นท์ไทย"

การเติบโตของอีเพย์เม้นท์ในประเทศไทยจะเติบโตได้รวดเร็วเพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับความรู้ความเข้าใจในการใช้งานอีเพย์เม้นท์ แพลตฟอร์มของผู้บริโภค

สังคมปัจจุบันกำลังปรับตัวเข้าสู่ยุค Cashless Society และโมบาย เพย์เม้นท์ ก็เข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆโดยเฉพาะในโลกของการค้า โดย Worldpay’s 2018 Global Payment Report เผยว่า เทรนด์การใช้งานโมบาย เพย์เม้นท์ ทั่วโลกจะสูงขึ้นเป็น 28% ภายในปี 2565 และกลายเป็นวิธีการชำระเงินที่แพร่หลายมากเป็นอันดับที่ 2 รองจากการใช้บัตรเดบิต โดยมีประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เป็นตัวแปรสำคัญที่สร้างการเติบโตให้การใช้อีวอลเล็ต และโมบาย เพย์เม้นท์ ณ จุดขาย คาดว่า โมบาย เพย์เม้นท์ จะเป็นอีกหนึ่งวิธีชำระเงินที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกตั้งแต่ ปี 2562 เป็นต้นไป และปี 2565 วิธีชำระเงินดังกล่าวจะเติบโตเป็นสัดส่วนราว 40% ของการชำระเงินทั้งหมด ส่งผลให้สัดส่วนการใช้เงินสดลดลงอย่างต่อเนื่องเหลือเพียงประมาณ 15% ในปี 2565

ขณะที่ Global Consumer Insights Survey 2019 จาก PricewaterhouseCoopers (PwC) ยังอธิบายเพิ่มเติมว่า ปัจจัยที่ส่งผลให้ โมบาย เพย์เม้นท์ ในเอเชียแปซิฟิกขยายตัวสูง (มีประเทศจีน ไทย อินโดนีเซีย และเวียดนาม นำเป็นอันดับต้นๆ) ได้แก่ พฤติกรรมผู้บริโภคชาวเอเชียซึ่งความนิยมใช้งานโซเชียลมีเดียเพื่อการค้าเป็นส่วนสำคัญในการขยายฐานผู้ใช้

สำหรับประเทศไทย จุดเริ่มต้นที่ทำให้ โมบาย เพย์เม้นท์ แพร่หลายอย่างก้าวกระโดด มาจากการซื้อสินค้าผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย อย่างเฟซบุ๊ค และอินสตาแกรม เช่นเดียวกัน โดยในเวลาต่อมา อีมาร์เก็ต เพลส และสถาบันการเงินต่างๆ พยายามส่งเสริมผู้ประกอบการทั้งบนช่องทางออนไลน์ และออฟไลน์หันมาเพิ่มทางเลือกจับจ่ายให้ผู้บริโภคด้วยโมบาย เพย์เม้นท์อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ร้านค้าขนาดกลาง ขนาดย่อยจำนวนมากปัจจุบันล้วนมีป้ายแสดง “คิวอาร์ โค้ด” รองรับการชำระเงิน ณ จุดขาย ผ่านโมบายแอพพลิเคชั่น เป็นการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจและอำนวยความสะดวกให้ผู้บริโภคในเวลาเดียวกัน โดยเฉพาะร้านค้าในย่านชอปปิงที่มีบรรยากาศคึกคักอันดับต้นๆ ในกรุงเทพฯ เช่น สยามสแควร์ รัชดาฯ หรือจัตุจักร ที่มีกลุ่มเป้าหมายหลักเป็นวัยรุ่นและวัยทำงานตอนต้น

ด้วยการขับเคลื่อนของภาครัฐและเอกชน รวมถึงสถาบันการเงิน ผู้บริโภคชาวไทยเปิดกว้างและยอมรับฟินเทคมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด คาดว่าการใช้งานโมบาย เพย์เม้นท์ ในประเทศไทยจะขยายตัวต่อเนื่อง ปัจจัยขับเคลื่อนหลักยังคงเป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมบนช่องทางการขายหลากหลายประเภท ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ผลสำรวจพีดับ บลิวซี ชี้ว่า ปริมาณการชำระเงินผ่านมือถือในไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 48% ในปี 2561 เป็น 67% ในปี 2562 เมื่อจัดลำดับการเติบโตในอาเซียนแล้ว ไทยเป็นรองเพียงประเทศเวียดนาม

ทั้งนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าตลาด โมบาย เพย์เม้นท์ ของไทยยังอยู่ในวัยเยาว์ เมื่อเทียบกับประเทศที่มีการทำธุรกรรมผ่านมือถือหลายล้านล้านดอลลาร์ต่อปีอย่างจีน ไทยยังต้องเรียนรู้อีกมาก ความสำเร็จของ โมบาย เพย์เม้นท์ ในประเทศจีนมาจากเหตุผลหลัก 3 ประการด้วยกัน

1.ธุรกิจ โมบาย เพย์เม้นท์ ช่วยเติมเต็มช่องว่างในตลาด ก่อนที่แอพพลิเคชั่น อีวอลเล็ต จะเข้ามาในชีวิตของผู้บริโภคชาวจีน ระบบธุรกรรมทางการเงินในจีนค่อนข้างยุ่งยาก ซับซ้อน เข้าถึงยากสำหรับประชากรจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้คนที่อยู่ในเขตชนบท และเอสเอ็มอี ทำให้การแพร่หลายของอินเทอร์เน็ต บริการจาก นอน-แบงก์ อย่างแอพพลิเคชั่น อีวอลเล็ตจึงสามารถมอบบริการที่เหนือกว่าและกลายเป็นผู้ควบคุมตลาดได้รวดเร็ว

แม้ช่วงแรกผู้บริโภคยังไม่มั่นใจในความปลอดภัยของบริการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ แต่ผู้เล่นรายใหญ่ในจีน ก็สามารถเอาชนะข้อกังขาต่างๆ และสร้างความไว้วางใจได้ด้วยระบบ ‘Escrow Payment’ ซึ่งแพลตฟอร์มอีเพย์เม้นท์ จะเป็นตัวกลางถือเงินที่ผู้บริโภคชำระค่าสินค้าไว้จนกว่าสินค้าจะได้รับการส่งมอบ รวมถึงมีการคืนเงินแก่ผู้ซื้อหากได้รับสินค้าที่ไม่ถูกต้อง การปกป้องสิทธิและมอบความสบายใจให้ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายนี่เอง เข้ามาเปลี่ยนกระบวนทัศน์ผู้บริโภคเข้าสู่ยุคดิจิทัลเพย์เม้นท์

2.ให้โอกาสผู้บริโภคเลือกชำระเงินและรับสิทธิประโยชน์ตามใจชอบ เนื่องจากอีวอลเล็ตแต่ละแพลตฟอร์มมีจุดเด่นต่างกัน เช่น บางแพลตฟอร์มอาจมีจุดเด่นบริการเกี่ยวกับเอ็นเตอร์เทนเม้นท์และร้านค้าไลฟ์สไตล์ บางแพลตฟอร์มมีจุดเด่นด้านโปรโมชั่นสำหรับสินค้าอุปโภคบริโภค เป็นต้น

ผู้บริโภคส่วนใหญ่จึงมักจะมีอีวอลเล็ต มากกว่าหนึ่งแอพพลิเคชั่น และจะพิจารณาเลือกชำระเงินผ่านแพลตฟอร์มที่มอบสิทธิประโยชน์ได้ดีที่สุดในขณะนั้น ผู้ประกอบการจีนจำนวนมาก จึงรับชำระเงินผ่านหลากหลายแพลตฟอร์ม เพื่อโอกาสให้แก่ลูกค้าเลือกสิทธิประโยชน์ และแรงกระตุ้นจากผู้ประกอบการค้าปลีกนี่เองที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดการใช้งานจริง

3.ผนวกจุดแกร่งของโซเชียลมีเดียและช่องทางชำระเงิน วีแชท และ เทนเพย์ (TenPay) เป็นตัวอย่างความสำเร็จในการตีตลาดผ่านการควบรวมคุณสมบัติการเป็นพื้นที่ช้อป ออนไลน์และอีเพย์เม้นท์ไว้บนแอพพลิเคชั่นแชทของตัวเอง ซึ่งมีการใช้งานอย่างแพร่หลาย แนวคิดดังกล่าวกำหนดมาตรฐานใหม่ในการสร้างประสบการณ์บนแพลตฟอร์มดิจิทัลมุ่งมอบ “Experiential Services” สร้างการมีส่วนร่วมหลากหลายมิติ ตลอดจนการค้นพบสิทธิประโยชน์ใหม่ๆ เพื่อให้ผู้บริโภคอยู่บนแพลตฟอร์มของตัวเองได้นานขึ้น

ทั้งนี้ เป็นเรื่องที่เด่นชัดว่า ระยะเริ่มต้นของอุตสาหกรรมอีเพย์เม้นท์ในไทย และประเทศจีนมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง กลุ่มสถาบันการเงินมีความตื่นตัวและมีบทบาทมากในการ 157483722881 ผลักดันบริการดิจิทัลเพย์เม้นท์ไปสู่ผู้บริโภค การเติบโตของอีวอลเล็ตต่างๆ ตอบโจทย์ความต้องการแต่ละขณะ จะยิ่งส่งเสริม Cashless Society ให้เกิดขึ้นอย่างครอบคลุมมากขึ้น

การเติบโตของอีเพย์เม้นท์ในประเทศไทยจะเติบโตได้รวดเร็วเพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับความรู้ความเข้าใจในการใช้งานอีเพย์เม้นท์ แพลตฟอร์มของผู้บริโภค และความมั่นใจในความปลอดภัยและการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ซึ่งผู้เล่นทุกคน ทั้งกลุ่ม แบงก์ และนอน แบงก์ ต้องร่วมกันสร้างให้เกิดขึ้นในทุกๆ พื้นที่ของประเทศ