ระวัง! ลัทธิชังชาติอาจมากับจีดีพี

ระวัง! ลัทธิชังชาติอาจมากับจีดีพี

คอลัมน์นี้พูดถึงจุดบกพร่องของ “จีดีพี” หลายครั้ง (GDP ย่อมาจาก Gross Domestic Product ซึ่งแปลเป็นไทยว่า “ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ”)

ทั้งนี้ เพราะจีดีพี อาจมิบ่งชี้ความอยู่ดีของผู้อยู่ในประเทศเสมอไปดังที่เข้าใจกัน ตัวอย่างที่มักยกมาอ้างได้แก่ การผลิตและสูบบุหรี่ซึ่งทำให้จีดีพีเพิ่มขึ้น ทั้งที่บุหรี่เป็นอันตราย ร้ายยิ่งกว่านั้น เมื่อผู้สูบบุหรี่ป่วยทำให้ต้องไปโรงพยาบาล การบำบัดความป่วยนั้นยังเพิ่มจีดีพีอีกด้วย หรือในกรณีสังคมมีอาชญากรมากขึ้นต้องสร้างคุกตารางและจ้างผู้คุมเพิ่ม จีดีพีเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัวทั้งที่สังคมมีความอยู่ดีน้อยลง

ด้วยเหตุดังกล่าว จึงมีการเคลื่อนไหวใน 2 ด้านคือ ปรับเปลี่ยนการคำนวณจีดีพีและลดการให้ความสำคัญแก่จีดีพีในฐานะตัวชี้วัดความอยู่ดีในสังคม ทั้ง 2 ด้านทำกันมานานแล้ว แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปที่นำไปใช้กันอย่างจริงจัง

ภูฏานเป็นประเทศแรกที่มองหาดัชนีวัดความอยู่ดีแทนจีดีพีและได้ดัชนีที่เรียกว่า Gross National Happiness ซึ่งอาจแปลว่า “ความสุขมวลรวมของชาติ” หรืออะไรเทือกนั้น ภูฏานได้เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2551 ของตนว่าจะใช้ดัชนีนี้เป็นหลัก เนื่องจากดัชนีตัวนี้มีองค์ประกอบถึง 13 อย่างซึ่งในบางกรณีวัดจากการสำรวจความรู้สึกของบุคคล การนำมาใช้จึงก่อให้เกิดความยากลำบากสูง ณ วันนี้มีเพียงภูฏานเท่านั้นที่พยายามใช้อย่างจริงจัง ส่วนสังคมอื่นยังอยู่ในขั้นศึกษา หรือรอดูท่าที

ปีนี้มีการเคลื่อนไหวในระดับรัฐบาลของนิวซีแลนด์โดยการทำงบประมาณแบบใหม่ซึ่งใช้จีดีพีชี้วัดเป็นบางส่วนเท่านั้น กล่าวคือ คงการจัดงบประมาณสำหรับด้านการศึกษา การสาธารณสุขและการขนส่งแบบเดิมไว้ นอกเหนือจากนั้น ใช้เกณฑ์ว่ามันจะมีผลดีต่อสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญสูงสุด 5 อย่างมากน้อยเพียงไรคือ สุขภาพจิตของประชาชน สภาพความอยู่ดีของเด็ก การสนับสนุนชาวพื้นเมืองดั้งเดิม การปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีใหม่ และการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หลังจากนายกรัฐมนตรีเสนองบประมาณนี้ต่อรัฐสภา การวิพากษ์มิได้จำกัดอยู่แค่ในนิวซีแลนด์เท่านั้น หากเกิดขึ้นในหลายประเทศด้วย ผู้วิพากษ์มักหวังกันว่าจะเกิดความเคลื่อนไหวในแนวของนิวซีแลนด์ทั่วโลก

ในเมืองไทยจะมีใครวิพากษ์อย่างไรบ้างหรือไม่ ผมยังไม่เห็น แต่การหวังจะให้เกิดการเคลื่อนไหวในระดับรัฐบาลตามแนวของนิวซีแลนด์คงจะผิดหวังอย่างแรง ทั้งนี้เพราะเรามีศาสตร์พระราชาซึ่งประเสริฐกว่าของเขานานแล้ว แต่รัฐบาลที่ผ่าน ๆ มาแทนที่จะน้อมนำมาใช้อย่างจริงจังกลับนำมาห้อยโหนแล้วทำตรงข้ามรวมทั้งการนำนโยบายประชานิยมแบบเลวร้ายมาใช้ด้วย

ณ วันนี้คงเป็นที่รับรู้กันอย่างกว้างขวางแล้วว่านโยบายประชานิยมแบบเลวร้ายทำลายหลายประเทศในละตินอเมริกา แต่อาจไม่เป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่า รัฐบาลของบางประเทศพยายามปกปิดปัญหาด้วยการบิดเบือนดัชนีต่าง ๆ รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อที่มีความสำคัญต่อการคำนวณจีดีพีและความอยู่ดีของประชาชน เมื่อนักวิชาการนำการบิดเบือนนั้นมาเปิดโปง รัฐบาลตอบโตด้วยการกล่าวหาต่าง ๆ นานารวมทั้งการทำลายความมั่นคงของชาติซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่ร้ายแรงมาก

ในช่วงนี้ตัวเลขจีดีพีชี้ว่า เศรษฐกิจไทยตกอยู่ในภาวะซบเซาก่อให้เกิดผลกระทบและการวิพากษ์อย่างกว้างขวาง พร้อมๆ กับความพยายามของรัฐบาลที่จะแก้ปัญหารวมทั้งการเพิ่มมาตรการประชานิยมเพื่อกระตุ้นจีดีพีมีปรากฏการณ์ชวนสังเกต 2 อย่างคือ การถกเถียงกันอย่างเข้มข้นเรื่องการใช้กฎหมายรักษาความมั่นคงภายในและการโหมใช้วาทกรรมใหม่ในหัวข้อ “ลัทธิชังชาติ”

สิ่งเหล่านี้ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า ถ้าเศรษฐกิจยังซบเซาต่อไป หรือร้ายยิ่งกว่านั้นเดินเข้าสู่ภาวะวิกฤติ รัฐบาลจะบิดเบือนตัวเลขต่างๆ หรือไม่ หากรัฐบาลทำซึ่งเป็นไปได้แล้วมีผู้นำความชั่วร้ายมาเปิดโปง รัฐบาลจะตอบโต้อย่างไร จะกล่าวหาผู้เปิดโปงว่าเป็นผู้เชิดชูลัทธิชังชาติหรือไม่ และจะใช้กฎหมายความมั่นคงกล่าวหาว่าเขาทำลายความมั่นคงของชาติอย่างไร ทั้งนี้ทั้งนั้นผมอาจฝันร้ายไปเองเพราะติดตามและฝังใจในเรื่องร้ายๆ ในละตินอเมริกามานาน แต่วิตกว่ามันจะเกิดขึ้นในบ้านเราด้วย