พรบ.คนเข้าเมือง & พรบ. การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว

พรบ.คนเข้าเมือง & พรบ. การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว

อาจมีผู้อ่านบางท่านยังสงสัยว่ากฎหมาย 2 ฉบับนี้ใช้บังคับต่างกันอย่างไร

เพราะมองผิวเผินก็น่าจะมุ่งบังคับใช้กับคนต่างด้าวด้วยกัน เช่น มาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)คนเข้าเมือง บัญญัติว่า คนต่างด้าว หมายความว่า บุคคลธรรมดาซึ่งไม่มีสัญชาติไทย ประกอบบทนิยามคำว่า คนเข้าเมือง หมายความว่า คนต่างด้าวซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักร ส่วน พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว 2542 นั้น กำหนดให้ คนต่างด้าว หมายความว่า (1) บุคคลธรรมดาซึ่งไม่มีสัญชาติไทย  (2) นิติบุคคลซึ่งไม่ได้จดทะเบียนในประเทศไทย (3) นิติบุคคลซึ่งจดทะเบียนในประเทศไทย และมีลักษณะดังต่อไปนี้ 

(ก) นิติบุคคล ซึ่งมีหุ้นอันเป็นทุนตั้งแต่กึ่งหนึ่งของนิติบุคคลนั้นถือโดยบุคคลตาม (1) หรือ (2) หรือนิติบุคคลซึ่งมีบุคคลตาม (1) หรือ (2) ลงทุนมีมูลค่าตั้งแต่กึ่งหนึ่งของทุนทั้งหมดในนิติบุคคลนั้น

(ข) ห้างหุ้นส่วนจำกัดหรือห้างหุ้นส่วนสามัญ ที่จดทะเบียน ซึ่งหุ้นส่วนผู้จัดการหรือผู้จัดการเป็นบุคคลตาม (1) (4) นิติบุคคลซึ่งจดทะเบียนในประเทศไทย ซึ่งมีหุ้นอันเป็นทุนตั้งแต่กึ่งหนึ่งของนิติบุคคลนั้นถือโดยบุคคลตาม (1) (2) หรือ (3) หรือนิติบุคคลซึ่งมีบุคคลตาม (1) (2) หรือ (3) ลงทุนมีมูลค่าตั้งแต่กึ่งหนึ่งของทุนทั้งหมดในนิติบุคคลนั้น

เพื่อประโยชน์แห่งคำนิยามนี้ให้ถือว่าหุ้นของบริษัทจำกัดที่มีใบหุ้นชนิดออกให้แก่ผู้ถือเป็นหุ้นของคนต่างด้าว เว้นแต่จะได้มีกฎกระทรวงกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น

จะเห็นได้ชัดว่า กฎหมายฉบับแรกมุ่งบังคับเฉพาะ บุคคลธรรมดา แต่ในทางกลับกัน กฎหมายฉบับที่สองให้ขยายบทบังคับออกไปถึง ‘บุคลสมมุติในทางกฎหมาย (นิติบุคคล) ด้วยเหตุนี้เราจึงจำเป็นต้องพิจารณาประกอบกับบทบัญญัติมาตราอื่นด้วย เช่น มาตรา 11 แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง 2522 ที่ว่า “มาตรา 11 บุคคลซึ่งเดินทางเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักรจะต้องเดินทางเข้ามาหรือออกไปตามช่องทาง ด่านตรวจคนเข้าเมือง เขตท่าสถานี หรือท้องที่และตามกำหนดเวลา ทั้งนี้ ตามที่รัฐมนตรีจะได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา” ทว่า พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวนั้น 2542มาตรา 4 (บทนิยาม) คำว่า “ธุรกิจ”หมายถึง การประกอบกิจการในทางเกษตรกรรม อุตสาหกรรม หัตถกรรม พาณิชยกรรม การบริการ หรือกิจการอย่างอื่น อันเป็นการค้า

เห็นได้ชัดว่า กฎหมายฉบับหลังมุ่งควบคุมการประกอบธุรกิจ หาใช่การเดินทางเข้า-ออกนอกราชอาณาจักรไม่

นอกจากนี้ ขออนุญาตตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติม คือ พ.ร.บ.คนเข้าเมืองนั้นจะใช้บังคับกับบุคคลธรรมดาที่สามารถเดินทางเข้า-ออกนอกราชอาณาจักรได้ ซึ่งในความเป็นจริงนิติบุคคล เช่น องค์กรณ์ธุรกิจต่างๆ ย่อมไม่สามารถกระทำได้ (มิฉะนั้นคงเป็นที่น่าแปลกมาก ถ้าเราจะพบเห็นอาคารสำนักงานถือหนังสือเดินทางผ่านเข้าออก ตม. - มันเป็นไปไม่ได้) อย่างไรก็ตาม หากเป็นกรณีที่ คนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรไทยเพื่อทำงานต่างๆ โปรดดูมาตรา 34 แห่ง พ.ร.บ. คนเข้าเมือง 2522 ความว่า “คนต่างด้าวซึ่งจะเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวได้จะต้องเข้ามาเพื่อการดังต่อไปนี้

(1) การปฏิบัติหน้าที่ทางทูตหรือกงสุล (2) การปฏิบัติหน้าที่ทางราชการ (3) การท่องเที่ยว (4) การเล่นกีฬา (5) ธุรกิจ (6) การลงทุนที่ได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงทบวงกรมที่เกี่ยวข้อง (7) การลงทุนหรือการอื่นที่เกี่ยวกับการลงทุนภายใต้บังคับกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน (8) การเดินทางผ่านราชอาณาจักร (9) การเป็นผู้ควบคุมพาหนะหรือคนประจำพาหนะที่เข้ามายังท่า สถานีหรือท้องที่ในราชอาณาจักร (10) การศึกษาหรือดูงาน (11) การปฏิบัติหน้าที่สื่อมวลชน (12) การเผยแพร่ศาสนาที่ได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงทบวงกรมที่เกี่ยวข้อง (13) การค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์หรือฝึกสอนในสถาบันการค้นคว้าหรือสถาบันการศึกษาในราชอาณาจักร (14) การปฏิบัติงานด้านช่างฝีมือหรือผู้เชี่ยวชาญ (15) การอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง 

ท่านอาจต้องขอใบอนุญาตผ่านองค์กรที่มีอำนาจตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง 2522 หาใช่ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ไม่ ตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว 2542

โดยสรุปนะครับ หากเกิดปัญหาว่าด้วย “คนต่างด้าว” บรรดานักธุรกิจหรือผู้เชี่ยวชาญ ต้องพิเคราะห์ไปจนถึง “กิจกรรม”อันเป็นเหตุให้ควรสงสัยนะครับ อย่าเพิ่งค้นคว้าหาคำตอบด้วยตัวท่านเองโดยไม่ผ่านความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ เตือนนะครับต้นทุนทางกฎหมายค่อนข้างสูง... หากมีปัญหาข้อกฎหมายควรปรึกษานักกฎหมาย มิใช่กูเกิ้ล หรือ พันทิป

โดย... 

นิติภัทร หอมละออ