Crypto War: สงครามรอบใหม่ จีน - สหรัฐ

Crypto War: สงครามรอบใหม่ จีน - สหรัฐ

ในช่วงเดือนที่ผ่านมา ผู้เขียนได้หยิบยกเรื่องราวของการพัฒนาเทคโนโลยีในประเทศจีนอยู่บ่อยครั้ง โดยในฉบับนี้ผู้เขียนขอเล่าถึง TradeWar TechWar

และ ปรากฎการณ์ใหม่ที่เรียกว่า Crypto War ซึ่งผู้เขียนขอไล่เรียงเรื่องราวของตามลำดับเหตุการณ์ ดังนี้

เมื่อจีนบังคับการถ่ายโอนเทคโนโลยี

กฎหมายเกี่ยวกับการลงทุนในจีนได้กำหนดว่า หากบริษัทต่างชาติประสงค์จะลงทุนโดยตรงในจีน(FDI) และการลงทุนนั้นเป็นการลงทุนเกี่ยวกับเทคโนโลยีแล้ว บริษัทต่างชาติดังกล่าวจำเป็นต้องจัดตั้งในรูปแบบกิจการร่วมทุน (JV) กับบริษัทหรือนิติบุคคลสัญชาติจีน และหนึ่งในเงื่อนไขในการประกอบการ คือ การยินยอมให้มีการถ่ายโอนเทคโนโลยี (Technology Transfer) ที่ใช้ในกระบวนการผลิตดังกล่าวให้บริษัทจีนที่ร่วมลงทุนด้วยได้ทราบถึง Key Technology ที่ใช้ในกระบวนการผลิตนั้น

จึงไม่น่าแปลกใจว่า เกณฑ์ในเรื่อง Technology Transfer ดังกล่าว ได้สร้างความกังวลให้กับบริษัทต่างชาติ ในเรื่องความเสี่ยงของการถูกละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาเป็นอย่างมาก แม้การทำ JV กับบริษัทในจีนอาจจะเกิดประโยชน์ในแง่การช่วยกระจายสินค้าในจีน แต่การรั่วไหลของความลับในการพัฒนาเทคโนโลยีก็เป็นอีกประเด็นที่ น่ากังวล ดังนั้น บริษัทต่างชาติที่ลงทุนในจีนจึงได้พยายามจดสิทธิบัตรในประเทศของตนควบคู่กันไป หรือจัดให้มีการทำสัญญาเกี่ยวกับการใช้สิทธิต่างๆ ให้ชัดเจนเพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิเมื่อสัญญาร่วมทุนดังกล่าวสิ้นสุดลง

การตอบโต้ของสหรัฐ

เมื่อจีนมีกฎหมายในลักษณะดังกล่าว สหรัฐก็มีกฎหมายตอบโต้การกระทำดังกล่าวเช่นกัน มาตรา 301 ของกฎหมาย Trade Act of 1974 ได้ให้อำนาจผู้แทนการค้าสหรัฐ หรือ USTR ในการตอบโต้ประเทศคู่ค้าเพื่อรักษาผลประโยชน์ของสหรัฐ โดยระบุชัดว่าบริษัทสหรัฐที่เข้าไปผลิตสินค้าในจีนได้รับผลกระทบอย่างไม่เป็นธรรมจากเกณฑ์ในเรื่อง Technology Transfer ซึ่งนอกจากจะต้องเปิดเผยให้บริษัทร่วมทุนในจีนทราบแล้ว อีกหลายกรณีเป็นเรื่องที่รัฐบาลเองขอทราบรายละเอียดดังกล่าวด้วย

ด้วยสาเหตุนี้ จึงเป็นปัจจัยในการตั้งกำแพงภาษีในหลายรายการเพื่อตอบโต้จีนในช่วงปีที่ผ่านมา และด้วยแรงกดดันเช่นว่า จีนจึงยอมผ่อนคลายเกณฑ์ Technology Transfer ให้กับสินค้าในบางรายการ ตัวอย่างเช่น การอนุญาตให้ผู้ผลิตรถยนต์ต่างชาติสามารถเข้ามาประกอบธุรกิจและใช้จีนเป็นฐานการผลิตได้ โดยไม่ต้องทำ JV กับบริษัทในจีน ด้วยเหตุนี้ เราจึงได้เห็น Tesla ลงทุนสร้างโรงงาน Gigafactory เพื่อผลิตรถยนต์ไฟฟ้า หรือ Tesla Model 3 ในจีน 

Crypto War สงครามรอบใหม่

ที่ผ่านมา แม้ว่า Tradewar และ TechWar ระหว่างสหรัฐกับจีนจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ซึ่งมีข้อสังเกตว่า หลังจากจีนผ่อนคลายเกณฑ์ Technology Transfer ให้สหรัฐแล้ว ก็ได้มุ่งพัฒนาเทคโนโลยีของตนเองอย่างจริงจังเพื่อลดการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ เห็นได้ชัดในช่วงหลังว่า จีนพยายามเป็นผู้นำในเรื่องการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลและ blockchain อย่างเต็มที่ ซึ่งผู้เขียนขอเรียกปรากฎการณ์นี้ว่า Crypto War ซึ่งสงครามในรอบนี้ สหรัฐยังขาดจุดยืนที่ชัดเจน แตกต่างจากจีน ที่แผนการณ์เหล่านี้ชัดเจนและเป็นรูปธรรมมาก

สำหรับจีน หลังจากที่ได้ประกาศการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลของตัวเอง หรือ DCEP ควบคู่ไปกับการออกนโยบายเพื่อผลักดันการศึกษาและวิจัยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีเข้ารหัส หรือ Cryptography มาใช้งานในเชิงพาณิชย์ ซึ่ง Cryptography นี้ถือเป็นเทคโนโลยีพื้นฐานในการพัฒนาระบบBlockchain

ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่าการสนับสนุนทั้งสกุลเงินดิจิทัลและBlockchain ไปพร้อมๆ กันนั้นมีนัย เพราะการจะมีสกุลเงินดิจิทัลของตนเองในแบบ retail ได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ระบบที่รองรับการปฏิบัติการของสกุลเงินดิจิทัลอย่าง Blockchain ก็ต้องถูกพัฒนาให้มีประสิทธิภาพควบคู่กันไป โดยจีนเน้นย้ำกับเอกชนชัดเจนว่า รัฐบาลพร้อมที่จะส่งเสริมการพัฒนา Blockchain อย่างเต็มที่ และรัฐพร้อมจะอุดหนุนในวงเงินกว่า 1.4 ล้านดอลลาร์ ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า เอกชนที่จะได้รับเงินอุดหนุนนั้น จะต้องไม่ออกโทเคนดิจิทัลของตัวเอง หรือพูดง่ายๆ ว่า พัฒนาได้แต่ระบบ Blockchain เท่านั้น เพราะสกุลเงินดิจิทัลที่จะใช้หลักในประเทศเป็นหน้าที่ของรัฐบาลกลางแต่เพียงผู้เดียว

หากศึกษาความเป็นมาย้อนหลัง พบว่าที่ผ่านมาธนาคารกลางของจีนได้ห้ามการใช้ BitCoin ในประเทศตั้งแต่ปี 56 และรัฐได้เริ่มพัฒนาสกุลเงินของตนเองนับจากนั้นเป็นต้นมา (จนวันนี้ครบ 6 ปีเต็ม) ต่อมาในปี 57 จนปัจจุบัน ได้มีการปิดศูนย์ซื้อขาย BitCoin และ Crypto สกุลต่างๆ ทั้งหมดมากว่าร้อย platforms โดยรัฐบาลได้ห้ามเด็ดขาดในการทำ Mining Operation ในประเทศ ซึ่งนี้คือสัญญานที่ชัดเจนจากภาครัฐในเรื่องดังกล่าว

สำหรับสหรัฐ ที่ผ่านมาจุดยืนในเรื่องการสร้างสกุลเงินดิจิทัลของตัวเองยังไม่ชัดเจน และมีความเห็นแตกเป็นหลายฝ่าย ล่าสุดประธานธนาคารกลางสหรัฐ Jerome Powell ยังคงแบ่งรับแบ่งสู้ในเรื่องดังกล่าว ซึ่งเขาได้ระบุว่า การศึกษาเรื่อง Central Bank Digital Currency (CBDC) เป็นเรื่องที่ไม่อาจมองข้าม แต่ในเรื่องของประโยชน์ที่สหรัฐจะได้จากการสร้าง Digital Dollar นั้นมากน้อยเพียงใด ซึ่ง Powell ได้ให้ข้อมูลว่า “ในขณะที่บางประเทศได้พยายามให้ประชาชนลดการใช้เงินสดและเปลี่ยนมาใช้เงินในแบบดิจิทัล แต่กลับกัน ความต้องการ USD ยังคงมีมากและเป็น fiat สกุลหลักของโลก หรือหากมองว่า Digital dollar จะช่วยในเรื่องระบบชำระเงินในประเทศ ก็ต้องยอมรับว่าระบบชำระเงินของสหรัฐนั้นพัฒนาไปมากและมีความทันสมัย ผู้บริโภคของเราไม่ได้มีปัญหาในเรื่องดังกล่าว ปัญหาหลักสำหรับสหรัฐคือเรื่องกฎหมายและเสถียรภาพของระบบการเงินมากกว่า”

สำหรับผู้เขียน การสร้าง CBDC นั้น จุดหมายปลายทาง คือ การเป็น “เงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย” ดังนั้น การกำหนดสิทธิ ความรับผิด และหน้าที่ให้กับทุกคนในระบบต้องมีความชัดเจน และที่สำคัญรัฐจะต้องมี ระบบความปลอดภัยที่มีประสิทธิภาพ เพราะ CBDC คือ การย้ายเงินสดจากที่เคยอยู่ในกระเป๋าภายใต้ความรับผิดชอบของปัจเจกบุคคล มาอยู่บนระบบที่ควบคุมและจัดการโดยรัฐ ซึ่งนี่คือ โจทย์ที่ท้าทายมากสำหรับภาครัฐ

ท้ายที่สุด ในมุมมองที่แตกต่างของสองประเทศมหาอำนาจ ผู้เขียนเชื่อว่า ทั้งสองประเทศรู้จุดอ่อนและแข็งของ currency ตัวเองดี จึงพยายามต่อสู้ในแบบที่ตนเองจะได้เปรียบ ซึ่งอาจต้องดูกันยาว ๆ ว่า ใครคือผู้ที่มองขาดในเกมส์นี้อย่างแท้จริง!? 

[บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน]