คอนแทร็คฟาร์มมิ่ง ผลกระทบสังคม-สิ่งแวดล้อม

คอนแทร็คฟาร์มมิ่ง ผลกระทบสังคม-สิ่งแวดล้อม

ความพยายามอย่างหนึ่งที่จะสร้างความเชื่อมั่นกับแนวคิดการทำธุรกิจเพื่อความยั่งยืน ที่ไม่ได้มองถึงผลตอบแทนด้านธุรกิจแต่เพียงอย่างเดียว

แต่ให้ความสำคัญกับผลกระทบเชิงบวกที่เกิดขึ้นกับสังคมและสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไปในเวลาเดียวกันด้วย

หนึ่งในโมเดลธุรกิจที่สามารถดัดแปลงให้สามารถดำเนินการตามแนวคิดธุรกิจเพี่อความยั่งยืนได้ ก็คือ ธุรกิจในรูปแบบของ เกษตรพันธสัญญา หรือ คอนแทร็คฟาร์มมิ่ง นั่นเอง

องค์ประกอบของคอนแทร็คฟาร์ม หลักๆ แล้วก็มีอยู่ 3 ฝ่าย ได้แก่ เกษตรกร บริษัท และสถาบันการเงิน เป็นระบบที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกามานานกว่าศตวรรษ และเข้ามาในประทเศไทยกว่า 40 ปี มาแล้วโดยมีผู้นำโมเดลธุรกิจนี้มาใช้มากมาย มีผู้เล่นในส่วนที่เป็นบริษัทนับร้อยบริษัท และมีเกษตรกรเข้าร่วมระบบนับแสนครอบครัว

มีประสบการณ์เกิดขึ้นมากมายเกี่ยวกับธุรกิจเกษตรพันธสัญญา ไม่ว่าจะเป็นในทางลบ เช่น เกษตรกรถูกเอาเปรียบ หรือการเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดผลกระทบเชิงลบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

หรือในเชิงบวก ที่ทำให้เกษตรกรไทยผ่านพ้นจากสถานะของเกษตรกรผู้ยากไร้ กลายมาเป็นเกษตรกรที่สามารถดำรงชีพอยู่ได้อย่างมั่นคงเนื่องจากได้รับการสนับสนุนด้านองค์ความรู้ทางวิชาการจากบริษัทเจ้าของโครงการที่มีความน่าเชื่อถือจนได้รับการสนับสนุนจากสถาบันการเงิน

ปัญหาสำคัญประการหนึ่งของธุรกิจเพื่อความยั่งยืนก็คือ การขาดการวัดหรือประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ในขณะที่การวัดผลตอบแทนในเชิงเศรษฐกิจจะมีวิธีการประเมินที่เป็นที่ยอมรับผ่านวิธีการวัดผลกำไรที่เกิดขึ้นโดยใช้กระบวนการทางบัญชีและการเงิน

จากโอกาสที่ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับทีมงานด้านการพัฒนาความยั่งยืนของ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือที่รู้จักกันดีในนาม CPF ซึ่งได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกกลุ่มดัชนีความยั่งยืนดาวน์โจนส์ (DJSI) ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดระดับความเป็นธุรกิจที่มีแนวปฏิบัติด้านการพัฒนาความยั่งยืนในระดับโลก ติดต่อกันมาแล้ว 4 ปีซ้อน จึงได้ทราบเรื่องราวว่าอนี้มาใช้ในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2518 และปัจจุบันมีเกษตรกรในระบบเกษตรพันธสัญญาของ CPF ราว 5,000 ราย มีการวางระบบการทำงานร่วมกันระหว่างบริษัทกับเกษตรกรในลักษณะหุ้นส่วนธุรกิจ มีการปรับปรุงสัญญาให้เป็นสากลตามหลักการขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาติ (FAO) และเป็นบริษัทเดียวที่ทำประกันความเสี่ยงด้านภัยพิบัติแก่เกษตรกร

โดยพบว่าเกษตรกรเกือบทั้งหมดประสบความสำเร็จในอาชีพ กลายเป็นตัวอย่างและกรณีศึกษาให้หลายประเทศเพื่อนบ้านและประเทศอื่นๆ นำไปศึกษาเป็นตัวอย่างในการดำเนินโครงการเกษตรพันธสัญญา

ความริเริ่มส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญก็คือ การให้ความสำคัญกับการประเมินผลกระทบด้านสังคมและด้านสิ่งแวดล้อมของโครงการอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อยืนยันได้ว่าโครงการคอนแทร็คฟาร์มมิ่งที่ทำอย่างถูกต้องนั้นมีส่วนช่วยให้สังคมเติบโตได้อย่างยั่งยืนและไม่ได้สร้างผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมได้จริง

ทีมงานของ CPF เล่าต่อไปอีกว่า ได้ประเมินผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม (Impact Valuation) ของโครงการคอนแทร็คฟาร์มมิ่ง ตามกระบวนการศึกษาผลกระทบต่อทุนเชิงทรัพยากรธรรมชาติ (Natural Capital Protocol) และทุนเชิงสังคม (Social Capital Protocol) ของสภาธุรกิจโลกเพื่อความยั่งยืน (The World Business Council for Sustainable Development หรือ WBCSD)

โดยประเมินเกษตรกรคอนแทร็คฟาร์มมิ่ง กลุ่มผู้เลี้ยงสุกรขุนประเภทประกันรายได้ในไทยครอบคลุมทุกภาคของไทย ลงพื้นที่ทำการสำรวจโดยนักศึกษาจาก 4 มหาวิทยาลัย และได้รับการทวนสอบตามแนวทางสากล จาก LRQA หรือ บริษัท ลอยด์ส รีจิสเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผู้ทวนสอบด้านความยั่งยืนชั้นนำระดับโลก เพื่อยืนยันความถูกต้องของผลประเมิน

พบว่าผลกระทบทั้งเชิงบวกและเชิงลบของโครงการสามารถประเมินออกมาเป็นมูลค่าเชิงปริมาณใน 3 ด้านหลัก ได้แก่ 1) เกษตรกรมีเวลาว่างอยู่กับลูกและครอบครัวมากขึ้น จากเดิม 1.9 ชม.ต่อวัน เพิ่มเป็น 4.3 ชม.ต่อวัน ส่งผลต่อเนื่องไปถึงการลดปัญหาสังคมอันเนื่องมาจากปัญหายาเสพติดในเยาวชน 2) โครงการสามารถลดสัดส่วนเกษตรกรที่มีค่าครองชีพต่ำกว่าเส้นความยากจนลงจากเดิม 38% เป็น 0% และ 3) เกษตรกรถึง 85% มีความสามารถส่งเสียบุตรหลานให้ได้รับการศึกษาที่สูงขึ้นกว่าการศึกษาขั้นพื้นฐาน

ส่วนผลการประเมินด้านสิ่งแวดล้อมพบว่าการใช้ไฟฟ้าและเชื้อเพลิงในการเลี้ยงสุกรนั้นส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในด้านก๊าซเรือนกระจก แต่ฟาร์มเกือบทั้งหมดของเกษตรกร CPF มีการทำระบบพลังงานจากก๊าซชีวภาพ (Biogas) ซึ่งเมื่อนำมาคำนวณร่วมกันแล้วพบว่า ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึงกว่า 92,000 ตันเทียบเท่าคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี

โดยผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ สามารถตีค่าเป็นมูลค่าเงินรวมกันสูงถึงกว่า 230 ล้านบาท/ปี