ปัญหาเศรษฐกิจที่ถูกลืม

ปัญหาเศรษฐกิจที่ถูกลืม

ปลายอาทิตย์ที่แล้ว ผมได้รับเชิญเป็นวิทยากรบรรยาพิเศษให้กับหลักสูตรอบรมการบริหารด้านความมั่นคงชั้นสูง รุ่น 11 ในหัวข้อ “กับดักรายได้ปานกลาง”

หรือ Middle Income Trap ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องเก่าที่สำคัญสำหรับเศรษฐกิจของประเทศที่ยังไม่มีการแก้ไข เหมือนเป็นปัญหาที่ถูกลืม จึงได้ตอบรับเพื่อสร้างความเข้าใจมากขึ้นถึงความสำคัญของปัญหานี้ ซึ่งผมได้แสดงความเห็นในสามเรื่อง คือ อะไรคือปัญหากับดักรายได้ปานกลาง อะไรเป็นสาเหตุของปัญหา และประเทศไทยจะออกจากปัญหานี้ได้หรือไม่ วันนี้จึงขอแชร์ความเห็นของผมในเรื่องนี้ให้แฟนคอลัมน์ “เศรษฐศาสตร์บัณฑิต” ทราบ

กับดักรายได้ปานกลางเป็นปัญหาการพัฒนาประเทศ ธนาคารโลกได้แบ่งกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาออกเป็นสามกลุ่มตามระดับของการพัฒนาประเทศ วัดโดยรายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากร กลุ่มแรก คือ กลุ่มประเทศรายได้ต่ำ หมายถึงประเทศที่มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวต่ำกว่า 1,006 เหรียญดอลลาร์สหรัฐต่อปี หรือประมาณ 30,000 บาทต่อปี หรือ 2,500 บาทต่อเดือน กลุ่มที่สอง คือกลุ่มรายได้ต่ำถึงปานกลาง มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวระหว่าง 1,006 – 3,975 เหรียญต่อดอลลาร์สหรัฐต่อปี กลุ่มที่สาม คือกลุ่มรายได้ปานกลางระดับสูง มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวระหว่าง 3,975 – 12,275 เหรียญดอลลาร์สหรัฐต่อปี หรือ ต่ำกว่า 30,0687 บาทต่อเดือน สูงกว่านี้ถือเป็นประเทศที่มีรายได้เฉลี่ยระดับสูง คือ ระดับของประเทศที่พัฒนาแล้ว

โดยเกณฑ์นี้ประเทศที่อยู่ในกับดับรายได้ปานกลาง คือ ประเทศที่รายได้ต่อหัวประชากรต่ำกว่า 12,275 เหรียญดอลลาร์สหรัฐต่อปีเป็นเวลาต่อเนื่อง ไม่สามารถก้าวข้าม หรือพัฒนาไปสู่ประเทศรายได้เฉลี่ยระดับสูง หรือ ประเทศที่พัฒนาแล้วได้

ตั้งแต่ปี 1960 ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหมดมี 101 ประเทศ หกสิบปีให้หลังมีเพียง 13 ประเทศที่สามารถพัฒนาหรือเติบโตหลุดออกจากประเทศรายได้ต่ำไปสู่ประเทศรายได้สูง ซึ่งในเอเชียถึงปัจจุบันมีเพียงห้าประเทศ หรือห้าเศรษฐกิจที่ทำได้ สามารถพัฒนาไปสู่ประเทศหรือเศรษฐกิจที่มีรายได้สูงได้ คือ ญี่ปุ่น ไต้หวัน สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และฮ่องกง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของจีน ภายใต้ระบบประเทศเดียวสองระบบ

สำหรับประเทศไทย ในปี 1980 รายได้เฉลี่ยต่อหัวของเราอยู่ที่ 682 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี เพิ่มเป็น 3,971 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2002 เป็น 5,560 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2012 และล่าสุด ปี 2018 ประมาณว่าอยู่ที่ 7,605 ดอลลาร์ต่อคนต่อปี ต่ำกว่าเกณฑ์แบ่งสู่ประเทศรายได้สูงที่ 12,275 ดอลลาร์สหรัฐเกือบเท่าตัว แสดงว่าประเทศไทยอยู่ในกลุ่มรายได้ปานกลาง และได้อยู่ในกลุ่มนี้หรืออยู่ในกับดักรายได้ปานกลางมาแล้วอย่างน้อย 20 ปี ไม่สามารถก้าวข้ามหรือพัฒนาไปสู่ประเทศรายได้สูงอย่างญี่ปุ่น ไต้หวัน สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ได้

ทำไมประเทศจึงไม่สามารถพัฒนาไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง

ประเทศที่อยู่ในกับดักรายได้ปานกลางจะมีลักษณะคล้ายๆ กัน คือ เติบโตในอัตราที่สูงได้ดีในอดีต จนพัฒนาเป็นประเทศรายได้ปานกลาง แต่หลังจากนั้นไม่สามารถรักษาการเติบโตในอัตราที่สูง คืออัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจเริ่มลดลง ทำให้รายได้ของประเทศขยายตัวในอัตราที่ต่ำลง ซึ่งเหตุผลหลักมาจาก พลวัตการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศที่แผ่วลง ไม่สามารถพัฒนาความสามารถทางด้านการผลิตของประเทศไปสู่ระดับที่สูงขึ้น หรือสร้างมูลค่าได้มากขึ้น ทำให้ประเทศไม่มีสินค้าใหม่ที่จะส่งออก โครงสร้างการส่งออกจึงไม่มีการพัฒนา ส่วนหนึ่งก็เพราะภาคธุรกิจไม่พัฒนาด้านนวัตกรรมและไม่ลงทุนที่จะยกระดับคุณภาพการผลิตให้สูงขึ้น กระทบความสามารถในการหารายได้และความสามารถในการแข่งขันของประเทศ นอกจากนี้ ภาครัฐเองก็ไม่ได้ลงทุนและพัฒนาปัจจัยสนับสนุนการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมอย่างเพียงพอ ทั้งในแง่การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน คุณภาพการศึกษา ประสิทธิภาพของระบบราชการ รวมถึงไม่ปฎิรูปเศรษฐกิจที่จะยกระดับความสามารถของประเทศ ตรงกันข้าม ความอ่อนแอเชิงสถาบันมีมาก ทั้งในแง่ประสิทธิภาพของระบบราชการ การบังคับใช้กฎหมาย ความเป็นธรรม การแข่งขัน ธรรมาภิบาล การทุจริตคอร์รัปชั่น ปัจจัยเหล่านี้ฉุดรั้งพลวัตและแรงจูงใจของภาคเอกชนในการพัฒนาประเทศ

ด้วยเหตุนี้ การศึกษาวิเคราะห์สาเหตุของกับดักรายได้ปานกลาง จึงมุ่งประเด็นไปที่ หนึ่ง ความล้มเหลวของการพัฒนาอุตสาหกรรม สอง ความล้มเหลวในการพัฒนาและยกระดับภาคส่งออกไปสู่การผลิตสินค้าที่มีมูลค่าสูงขึ้น และสาม ความอ่อนแอเชิงสถาบันที่ประเทศมีอยู่ ที่ฉุดรั้งไม่ให้ประเทศเติบโตตามศักยภาพที่มี สำหรับประเทศไทย ปัญหาของเราก็สะท้อนความอ่อนแอเหล่านี้ทั้งหมด ทั้งในเรื่องการพัฒนาอุตสาหกรรม รวมถึงการพัฒนาในภาคเกษตรและบริการ โครงสร้างการส่งออกที่ขาดการพัฒนา และความอ่อนแอเชิงสถาบันต่างๆ ที่ประเทศมี ที่ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ปัญหาหรือข้อจำกัดเหล่านี้ไม่ได้ถูกแก้ไขให้ดีขึ้น ทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดดหยุดชะงัก ไม่สามารถขยายตัวในอัตราที่สูงได้เหมือนในอดีต

แล้วเราจะแก้ไขปัญหากับดับรายได้ปานกลางอย่างไร

ปัญหากับดักรายได้ปานกลางเป็นปัญหาด้านอุปทานของระบบเศรษฐกิจ คือความสามารถของระบบเศรษฐกิจที่จะผลิตสินค้าและบริการที่จะสร้างรายได้ในมูลค่าที่สูงขึ้นให้กับประเทศ การแก้ไขจึงหมายถึงการยกระดับความสามารถในการผลิตของประเทศให้สูงขึ้น โดยเพิ่มผลิตภาพการผลิตผ่านการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพิ่มการลงทุนโดยภาครัฐและเอกชนเพื่อสร้างฐานสินค้าและความสามารถใหม่ให้กับประเทศ เพิ่มความสามารถของประชาชนและภาคแรงงาน ทั้งในด้านความรู้ความสามารถ ทักษะ ระบบการศึกษา และสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น รวมถึงการมีธรรมาภิบาลในการทำหน้าที่ มีวินัยและเคารพกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่สังคมมี สิ่งเหล่านี้จะเป็นพลังเป็นแรงจูงใจให้ระบบเศรษฐกิจใช้ความรู้ความสามารถและความมั่งคั่งที่มี ผลักดันการพัฒนาประเทศและยกระดับความเป็นอยู่ของคนในประเทศให้ดีขึ้น นี่คือการเปลี่ยนแปลงที่ต้องเกิดขึ้น

แต่การเปลี่ยนแปลงหรือการแก้ไขปัญหาเหล่านี้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อ ผู้ที่อยู่ในระดับนำของสังคมที่เป็นเจ้าของอำนาจและความมั่งคั่งที่ประเทศมีอยู่ คือบริษัทธุรกิจขนาดใหญ่และภาครัฐคือ ฝ่ายการเมืองที่ควบคุมนโยบายและการใช้ทรัพยากร จะต้องต้องการการเปลี่ยนแปลง ต้องการขับเคลื่อนให้ประเทศหลุดออกจากกับดักรายได้ปานกลาง และพร้อมมีบทบาท พร้อมเป็นผู้นำที่จะทำให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ถ้าเป็นเช่นนี้การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นแน่นอน แต่ถ้าความต้องการเหล่านี้ไม่มี มองว่าที่เป็นอยู่อย่างปัจจุบันดีแล้ว ประเทศไทยก็คงจะอยู่ในกับดักรายได้ปานกลางต่อไปไม่จบสิ้น อย่างน้อยก็คงไม่มีโอกาสที่ประเทศจะพัฒนาได้ดีขึ้นกว่านี้ ในช่วง 10 – 15 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นต้นทุนและค่าเสียโอกาสที่สูงมากของเศรษฐกิจที่จะทำลายโอกาสและอนาคตของคนไทยทั้งประเทศ ทั้งที่มีชีวิตอยู่ในปัจจุบันและผู้ที่จะเกิดในอนาคต

นี่คือปัญหาที่ประเทศมี