STEC ความเสียหายที่อาจจะป้องกันได้

STEC ความเสียหายที่อาจจะป้องกันได้

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวใหญ่เกี่ยวกับกรณีการทุริตคอร์รัปชัน ซึ่งปรากฎว่ามีชื่อของบริษัทรับเหมายักษ์ใหญ่รายหนึ่งของประเทศ

เข้าไปมีส่วนอิรุงตุงนังด้วย ซึ่งประเด็นนี้ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางทั้งในโลกโซเชียล และแวดวงธุรกิจตลาดทุน

ที่มาที่ไปของเรื่องนี้มาจากการที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิดเจ้าหน้าที่ของรัฐ 4 ราย กรณีร่วมกันเรียกรับเงิน 20 ล้านบาทจากบริษัท มิตซูบิชิ ฮิตาชิพาวเวอร์ซิสเต็มส์ จำกัด (Mitsubishi Hitachi Power SystemsLtd. หรือ “MHPS”)ที่รับว่าจ้างก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนอม จ.นครศรีธรรมราช เพื่อแลกกับการอนุญาตให้ใช้ท่าเทียบเรือชั่วคราวบริเวณโรงไฟฟ้า ตลอดจนให้เรือลำเลียงเข้าเทียบท่าเพื่อขนถ่ายชิ้นส่วนของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าโดยไม่ชอบ พร้อมทั้งชี้มูลความผิด บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน)หรือ “STEC” รวมถึงผู้บริหารระดับสูงของบริษัทฯ อีก 2 ราย ในฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าหน้าที่ของรัฐทั้ง 4 รายในการกระทำความผิด

157439111854

157439114297

ป.ป.ช. ระบุในเอกสารเผยแพร่ว่า ได้มีการจัดทำสัญญาที่ไม่มีการจ้างงานจริงเพื่อให้บริษัท ซิโน-ไทยฯ จัดเตรียมเงินสินบน 20 ล้านบาท ซึ่งต่อมาถูกมอบเงินให้ผู้แทนบริษัทญี่ปุ่นที่สำนักงานใหญ่ของบริษัทซิโน-ไทยฯ เพื่อไปส่งมอบให้เจ้าหน้าที่รัฐทั้ง 4 ราย และปรากฏข้อเท็จจริงว่าในช่วงเวลาเดียวกันเรือลำเลียงก็สามารถเทียบท่าและขนถ่ายชิ้นส่วนของเครื่องกำาเนิดไฟฟ้า ณ ท่าเทียบเรือชั่วคราวโรงไฟฟ้าขนอมได้ แม้ว่าจะไม่ได้มีการแก้ไขเรื่องการขออนุญาตก่อสร้างท่าเทียบเรือให้ถูกต้องตามระเบียบของกรมเจ้าท่าแต่อย่างใด

เมื่อปรากฏข่าวนี้ ตามสื่อต่างๆ ทางบริษัทก็รีบออกหนังสือชี้แจงยืนยันว่ามีนโยบายดำเนินธุรกิจตามหลักธรรมาภิบาล ไม่เคยมีส่วนเกี่ยวข้องหรือสนับสนุนการทุจริตคอร์รัปชันในทุกรูปแบบและมีมาตรการป้องกันปราบปรามการทุจริตภายในองค์กรอย่างเข้มงวด ตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี และมั่นใจว่าจะสามารถชี้แจงแสดงหลักฐานโต้แย้งการถูกกล่าวหาข้างต้นได้ โดยยืนยันที่จะต่อสู้คดีจนถึงที่สุด

ถึงแม้กระบวนการยุติธรรมอาจจะยังมีอีกกระบวนการอีกหลายขั้นตอน และยังต้องใช้เวลานานกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าบริษัทมีความผิดจริงตามที่ถูก ป.ป.ช. ชี้มูล แต่กรณีที่เกิดขึ้นก็ส่งผลกระทบกับบริษัทแล้วอย่างมากมาย ในหลายๆ มิติ

1.ราคาหุ้นร่วงหนัก หลังจากที่ปรากฏข่าวนี้เมื่อวันพุธที่ 13 พ.ย. นักลงทุนก็เทขายหุ้น STEC ออกมาอย่างหนักเนื่องจากมีความกังวลว่านักลงทุนสถาบันที่เน้นลงทุนตามหลัก CG อาจจะลดการถือหุ้นลง โดยโบรกเกอร์หลายแห่งแนะนำให้หลีกเลี่ยงหุ้น STEC ไปก่อนในช่วงนี้ ซึ่งเพียงแค่ 3 วันหลังของสัปดาห์ที่แล้ว ราคาหุ้นร่วงลงไปเกือบ 20% ทำให้ market cap หายวับไปถึงประมาณ 5 พันล้านบาท

2.ชื่อเสียงของบริษัทถูกกระทบ แม้ว่าบริษัทจะยังไม่ได้ถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดจริง แต่ข่าวที่ปรากฏก็ทำให้เกิดความไม่เชื่อมั่น เห็นได้ชัดจากการตอบรับของนักลงทุนต่อข่าวนี้

3.อาจส่งผลกระทบกับโอกาสในการได้งานใหม่กับหน่วยงานภาครัฐ ถึงแม้กรณีที่เกิดขึ้นจะไม่ได้ทำให้บริษัทถูก blacklist เพราะไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขที่จะถูกขึ้นบัญชีดำเป็นผู้ทิ้งงานตามพ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 แต่ตราบที่กรณีนี้ยังค้างคาอยู่ ซึ่งน่าจะยังคงไม่ชัดเจนไปอีกนาน เพราะการต่อสู้ทางกฎหมายตามกระบวนการยุติธรรมซึ่งสามารถจะยืดเยื้อไปได้นานเป็นปี ก็อาจจะทำให้หน่วยงานต่างๆ ในภาครัฐต้องพิจารณาชั่งน้ำหนักมากหน่อยหากจะเข้าทำสัญญาใหม่กับทางบริษัท

ประเด็นที่น่าสนใจจากการชี้มูลของ ป.ป.ช. เรื่องนี้ คือแม้ว่าบริษัท หรือผู้บริหารของบริษัทจะไม่ได้เป็นตัวการจ่ายสินบนเอง แต่แค่การอำนวยความสะดวก หรือรู้เห็นเป็นใจให้เกิดการจ่ายสินบนก็อาจทำให้มีความผิดฐานสนับสนุนเจ้าพนักงานเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ และฐานสนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 8 ซึ่งหากถึงที่สุดแล้วถูกศาลพิพากษาว่ามีความผิดตามที่ ป.ป.ช. ชี้มูลก็จะทำให้บริษัทและผู้บริหารต้องรับโทษทางอาญา ซึ่งอาจมีทั้งโทษปรับ และจำคุกได้

กรณีนี้ช่วยตอกย้ำถึงความสำคัญของการมีระบบป้องกันความเสี่ยงคอร์รัปชันที่ดี เพราะหากบริษัทมีการประเมินความเสี่ยงในการรับ-จ่ายสินบนอย่างรัดกุมและครบถ้วน มีการกำหนดมาตรการควบคุมที่รัดกุมและสอดคล้องกับผลการประเมินความเสี่ยงคอร์รัปชันขององค์กร มีระบบการแจ้งเบาะแสที่มีประสิทธิภาพ และมีบทลงโทษที่ชัดเจนกับพนักงานที่ฝ่าฝืน ก็จะเป็นเกราะป้องกันที่ช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดกรณีเช่นนี้ขึ้น

สิ่งที่จะช่วยให้บริษัท นักลงทุน และผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ สามารถมั่นใจได้ว่าบริษัทมีนโยบายและกลไกป้องกันความเสี่ยงคอร์รัปชันอย่างเป็นรูปธรรม ก็คือการประกาศเจตนารมณ์ไม่รับ-ไม่จ่ายสินบนกับแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (CAC) และดำเนินการตาม checklist ของ CAC 71 ข้อ (หรือ 17 ข้อในกรณีของ SME) เพื่อยื่นขอรับรองจาก CAC ว่าบริษัทมีนโยบายและแนวปฏิบัติเพื่อป้องกันความเสี่ยงสินบนครบตามเกณฑ์ที่กำหนด

ผมอยากเชิญชวนให้บริษัทเอกชนต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทในกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง และบริษัทที่ต้องประมูลงานจากภาครัฐ ให้พิจารณาเข้ามาเป็นแนวร่วม และดำเนินการให้ผ่านการรับรองจาก CAC ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาและความเสียหายที่เกิดจากกรณีเช่นนี้ในอนาคตได้

CAC เป็นโครงการที่บริษัทเอกชนเข้าร่วมตามความสมัครใจ ในปัจจุบัน มีบริษัทที่ได้เข้าประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านการทุจริตกับ CAC แล้ว 953 บริษัท ซึ่งในจำนวนนี้มีบริษัทที่ผ่านการรับรองจาก CAC ว่ามีนโยบายและแนวปฏิบัติเพื่อป้องกันการรับ-จ่ายสินบนครบตามเกณฑ์ที่ CAC กำหนดรวม 397 บริษัท ซึ่งในจำนวนนี้เป็นบริษัทที่ผ่านการรับรองตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้สำหรับ SME 15 บริษัท

โดย... 

พนา รัตนบรรณางกูร

ผู้อำนวยการ แนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (CAC)