รถไฟฟ้าไทย VS รถไฟฟ้าเมืองนอก

รถไฟฟ้าไทย VS รถไฟฟ้าเมืองนอก

ดีใจแทนคนกรุงกับประกาศของ รฟม.ลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีม่วงและสีน้ำเงิน

ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีสำหรับการทำให้ระบบขนส่งมวลชนอย่างรถไฟฟ้า ให้มีราคาที่เข้าถึงได้ เพราะระบบขนส่งมวลชนที่ดีและประหยัดนั้นจะช่วยแก้ไขปัญหาอื่น ๆ ที่ตามมาได้อีกมากมาย อาทิ ปัญหาการจราจร ปัญหามลพิษทางอากาศ ปัญหาการกระจุกตัวของความเจริญ เป็นต้น

รฟม.ประกาศลดค่าโดยสารสำหรับรถไฟฟ้าสายสีม่วงที่วิ่งระหว่างเตาปูนถึงนนทบุรี โดยผ่านที่สถานที่สำคัญ อาทิ ศูนย์ราชการนนทบุรีและกระทรวงสาธารณสุข โดยลดค่าโดยสารเป็นพิเศษสำหรับนอกเวลาเร่งด่วน (Off Peak) ในวันธรรมดา ขณะที่สายสีน้ำเงินซึ่งวิ่งระหว่างบางซื่อไปกลับท่าพระนั้นออกค่าโดยสารราคาพิเศษแบบรายเดือน

จะว่าไปการลดราคาค่าโดยสารนอกเวลาเร่งด่วนเป็นโมเดลที่หลายประเทศนั้นใช้มาหลายสิบปีแล้ว โดยแนวทางนี้นั้นได้ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมผู้สัญจรอย่างมีนัยสำคัญ กระตุ้นให้ผู้สัญจรที่ไม่มีความจำเป็นเดินทางในช่วงเวลาเร่งด่วนมาใช้งานในช่วงเวลาอื่นๆ

ระบบรถไฟของอังกฤษและระบบรถไฟใต้ดินแห่งกรุงลอนดอนหรือที่คนท้องถิ่นเรียกว่า Tube นั้น ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่มีแนวทางการตั้งราคาค่าโดยสารเป็นขั้นบันได เด็ก นักเรียน ผู้สูงอายุก็ราคาหนึ่ง เดินทางในช่วงชั่วโมงเร่งด่วนก็ราคาหนึ่ง เดินทางในช่วงนอกเวลาเร่งด่วนก็ราคาหนึ่ง ส่วนลดนั้นก็ล่อตาล่อใจจนเรียกได้ว่าเป็นที่นิยมโดยมากของผู้โดยสารกันเลยทีเดียว

ผลวิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) พบว่าการตั้งราคาของรถไฟฟ้ากรุงเทพฯนั้นถือว่าสูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำของไทย เทียบกับประเทศอื่น ๆ คิดเป็นเที่ยว ๆ ละ 28.3 บาท หรือเป็นเดือน ๆ ละ 1,000-1,200 บาท ซึ่งไม่เป็นมิตรกับผู้มีรายได้น้อยที่มีรายได้เฉลี่ยวันละ 300-400 บาท ต่างจากประเทศอื่นที่ถึงแม้ราคาค่าโดยสารระบบรางนั้นดูแล้วใกล้เคียงกับกรุงเทพฯ แต่ต้องวิเคราะห์ให้ลึกถึงค่าแรงขั้นต่ำของประเทศนั้นๆที่สูงกว่ากรุงเทพฯอย่างมีนัยสำคัญด้วย

กรุงเทพฯถือเป็นมหานครที่ค่าเดินทางในระบบรางนั้นสูงมากเมื่อเทียบกับมหานครอื่น ๆ อย่าง สิงคโปร์ นิวยอร์ก ฮ่องกง ลอนดอน ขณะที่ช่องว่างระหว่างค่ารถโดยสารขนส่งมวลชนกับค่าโดยสารขนส่งระบบรางนั้นก็ห่างกันอย่างมีนัยสำคัญ หรือพูดให้เข้าใจง่าย ๆ ว่า ขนส่งมวลชนระบบรางของกรุงเทพฯนั้นไม่ได้ออกแบบมาเพื่อคนจน เพราะราคาสูงไม่สัมพันธ์กับรายได้ของคนกลุ่มนี้

การใช้ระบบตั๋วร่วม เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ต่างประเทศทำจนปรากฏผลสำเร็จ เพื่อครอบคลุมการเดินทางจากต้นทางยังปลายทางด้วยราคาที่สมเหตุผล ไม่เหมือนบ้านเราที่ขึ้นเรือ ขึ้นรถเมล์ ขึ้นรถไฟฟ้า ขึ้นรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย ขึ้นรถใต้ดิน นั้นล้วนแยกกันหมด

การใช้ระบบตั๋วร่วมเพื่อสร้างโครงข่ายใยแมงมุมที่เชื่อมถึงกันสะดวก มีราคาที่เป็นมิตรกับผู้โดยสารย่อมนำมาซึ่งความนิยมในการใช้ระบบขนส่งมวลชนที่สูงขึ้น โดยมีกรณีศึกษาจากประเทศตะวันตกในหลายประเทศ อาทิ กรุงลอนดอนที่คิดค่าโดยสารจากจุดเริ่มต้นยังจุดหมายในราคาเดียวเมื่อเดินทางภายในระยะเวลาที่กำหนดและไม่ได้เถลไถลอยู่ในระบบนานหลายชั่วโมง เป็นต้น

ระบบขนส่งในบางเมืองนั้นถูกออกแบบมาเพื่ออำนวยความสะดวกและกระตุ้นการท่องเที่ยวมากกว่าเป็นกิจการที่หากำไร อย่างเช่นที่นครเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ที่ให้นั่งรถรางฟรีในบริเวณใจกลางเมือง ต่างจากรถเมล์ฟรีหรือรถไฟฟรีจากภาษีของประชาชนไทยที่เป็นนโยบายและปฏิบัติอยู่ในช่วงสั้น ๆ

เป็นให้กำลังใจ รฟม.ในการตั้งราคาแบบขั้นบันไดนี้ ถึงแม้จะมาช้าก็ยังดีกว่าไม่มา และน่าจะส่งผลกระทบในเชิงแนวคิดและการตั้งราคาสำหรับเอกชนและรัฐวิสาหกิจรายอื่นที่อยู่ในระบบขนส่งเช่นกัน หวังเป็นอย่างยิ่งว่าต่อไปคนไทยและคนกรุงเทพฯจะมีโอกาสได้ใช้บริการขนส่งมวลชนมากขึ้นเพราะทั้งราคาสมเหตุผล รวดเร็ว และช่วยลดปัญหาอื่น ๆ ที่จะตามมาได้อีกมาก