CRISPR ความหวังหรือฝันร้าย (2)

CRISPR ความหวังหรือฝันร้าย (2)

แม้ว่าข่าวการตัดต่อพันธุกรรมมนุษย์โดยนวัตกรรมคริสเปอร์ (CRISPR) ได้สร้างความวิตกกังวลให้กับเหล่านักชีววิทยาและนักวิจัยทั่วโลก

แต่ CRISPR ก็ได้ให้ความหวังในการพัฒนาพันธุ์พืชที่สามารถรับมือกับภาวะโลกร้อน รวมถึงการวิจัยด้านการปศุสัตว์เพื่อพัฒนาพันธุ์โคหรือสุกรที่ให้ปริมาณอาหารที่สูงและทนต่อโรคมากขึ้นเพื่อให้เพียงพอกับจำนวนประชากรของโลกที่เพิ่มสูงขึ้นในอนาคต ตลอดจนความพยายามในการใช้ CRISPR เพื่อรักษาโรคทางพันธุกรรมของมนุษย์ เช่น โรคโลหิตจาง (Sickle-Cell Anaemia) และโรคโลหิตไหลไม่หยุด (Haemophilia) รวมทั้งโรคเอดส์ (HIV) และโรคมะเร็ง ซึ่งเป็นงานวิจัยที่ได้รับความสนใจอย่างมากในเวลานี้

 

CRISPR ได้เปิดโอกาสให้กับงานวิจัยด้านพันธุวิศวกรรม จนเกิดบริษัทสตาร์อัพด้าน BioTech อย่างบริษัท Crispr Therapeutics, Editas Medicine, Intellia Therapeutics, GenEdit, Inscripta, Synthego และ Casebia Therapeutics เป็นต้น

 

เกษตรกรรมกับภาวะโลกร้อน

หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือการจัดการใดๆ เพื่อรับมือกับภาวะโลกร้อนแล้ว ภายในก่อนสิ้นศตวรรษนี้ (ปี 2100) อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกอาจร้อนขึ้นอีก 4 องศาเซลเซียลและระดับน้ำทะเลอาจสูงขึ้นอีกถึง 180 เซนติเมตรซึ่งจะสร้างความเสียหายใหญ่หลวงต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนและพื้นที่รอบชายฝั่งทั้งหมด โดยหน่วยงาน IPCC ของสหประชาชาติรายงานว่าเกือบ 3 ส่วน 4 ของผืนแผ่นดินบนโลกถูกใช้เพื่อผลิตอาหารให้กับมนุษย์และเป็นสาเหตุของการปล่อยแก๊สเรือนกระจกกว่า 22% เข้าสู่บรรยากาศ ดังนั้นการพัฒนาด้านอาหารและการแก้ปัญหาโลกร้อนจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่หลายประเทศต่างต้องลงมือและร่วมมือกัน เช่นที่ริเริ่มขึ้นแล้วตามที่ปรากฎในความตกลงปารีส (The 2015 Paris Climate Agreement)

 

การใช้ CRISPR ทางเกษตรกรรมผ่านการตัดต่อพันธุกรรมของพืชและสัตว์เพื่อพัฒนาอาหาร (Genetically-Modified Food) จึงเป็นงานค้นคว้าวิจัยด้าน Plant Genome Engineering และ AgTech ที่เป็นที่ต้องการในเชิงพาณิชย์ เห็นได้จากการผลิตเห็ดสีขาวที่เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลได้ช้ากว่าเห็ดทั่วไปหรือกล้วยที่ทนต่อเชื้อรารวมถึงงานวิจัยเพื่อเพิ่มผลผลิตของข้าวโพด ข้าวสาลีและถั่วเหลือง โดยบริษัทด้าน BioTech เช่น Calyxt สามารถผลิตถั่วเหลืองซึ่งให้น้ำมันที่ทนต่อความร้อนโดยไม่เปลี่ยนเป็นไขมันทรานส์ และบริษัท Cibus ที่สามารถดัดแปลงยีนในต้นคาโนลาเพื่อให้ทนต่อสารกำจัดวัชพืช

 

CRISPR ได้สร้างความหวังในการพัฒนาพันธุ์พืชที่ทนต่อสภาวะน้ำเค็มหรือในพื้นที่กันดารขาดแคลนน้ำ รวมถึงพันธุ์ข้าวที่สามารถทนต่อการถูกน้ำท่วมขังได้เป็นเวลาหลายสัปดาห์เพื่อรับมือกับปัญหาที่เผชิญอยู่ในหลายพื้นที่

 

ส่วนทางด้าน AgTech นักวิจัยของมหาวิทยาลัยมิสซูรีสามารถทดลองดัดแปลงพันธุกรรมของสุกร เพื่อให้ได้พันธุ์สุกรที่ทนต่อโรคในระบบสืบพันธุ์และทางเดินหายใจ (PRRS) ซึ่งเป็นโรคที่สร้างความเสียหายให้กับตลาดสุกรในสหรัฐหลายร้อยล้านดอลลาร์ต่อปี นอกจากนี้บริษัท Recombinetics ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เดวิส (UC Davis) พัฒนาพันธุ์โคที่ไม่เขา (Hornless Cows) โดยการตัดต่อยีนของโคพ่อพันธุ์เป็นครั้งแรก แต่ด้วยความผิดพลาดทำให้พันธุกรรมของแบคทีเรียที่ใช้ในการทดลองถูกถ่ายทอดมายังลูกวัวด้วยจึงทำให้โครงการต้องถูกล้มเลิกไป

 

ปุ่มปิดคริสเปอร์ (Anti-CRISPRs)

ในปี 2015 ประชากรประมาณ 200 ล้านคนทั่วโลกติดเชื้อไข้มาลาเรีย โดยมาลาเรียจัดเป็นเชื้อที่คร่าชีวิตผู้คนมากที่สุดโรคหนึ่งซึ่งมียุงเป็นพาหะในการแพร่เชื้อ ทำให้นักวิจัยจำนวนหนึ่งเห็นว่าการกำจัดยุงที่เป็นพาหะให้หมดสิ้นไปจากโลกจะกำจัดเชื้อมาลาเรียและช่วยรักษาชีวิตผู้คนไว้ได้ จนเกิดการพัฒนาวิธีการตัดต่อพันธุกรรมในยุงด้วย CRISPR เพื่อกำจัดยุงเหล่านี้อย่างสิ้นเชิงที่เรียกว่าวิธีการ Gene Driveเช่นการทำให้ยุงที่ได้รับพันธุกรรมที่ดัดแปลงไป เกิดแต่เพียงยุงตัวผู้ซึ่งจะสูญพันธุ์ไปในที่สุด

 

เห็นได้ว่า CRISPR เป็นเครื่องมือที่เหนือธรรมชาติ ซึ่งหากถูกนำไปใช้ในทางที่ถูกต้องและมีจริยธรรมจะสร้างประโยชน์อย่างมาก แต่ในทางตรงข้ามหากเกิดความผิดพลาดหรือถูกนำไปใช้ในทางที่ผิดหรือขาดจริยธรรมก็อาจกลายเป็นอาวุธร้ายแรงได้เช่นกัน

 

Dr. Jennifer Doudna ผู้ร่วมค้นพบนวัตกรรมสำคัญ CRISPR/Cas9 ได้แสดงความกังวลต่อการพัฒนาและการใช้ CRISPR โดยขอให้มีข้อกฏหมายควบคุมการใช้ CRISPR พร้อมทั้งเรียกร้องให้นักวิจัยทั่วโลกใส่ใจในจริยธรรมของการใช้ CRISPR ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ยาก จนในปี 2016 Dr. Jennifer ได้เข้าร่วมในโครงการวิจัยเพื่อหาวิธียุติผลการแพร่กระจายของคริสเปอร์ หรือที่เรียกว่า “Anti-CRISPR” พร้อมกับทีมนักวิจัยอื่นจนได้มีการค้นพบสาร Anti-CRISPR แล้วกว่า 40 ชนิด แต่ก็ยังอาจไม่เท่ากับงานวิจัยด้าน CRISPR ที่กำลังเกิดขึ้นและแพร่หลายอย่างมาก

 

เท่าทันนวัตกรรม

คุณประโยชน์และโทษของนวัตกรรมที่สามารถดิสรัปชีวิตมนุษย์และสิ่งแวดล้อมอย่าง CRISPR ควรถูกใช้เพื่อช่วยในการดำรงชีวิตของมนุษย์ให้ผาสุก กระแสการเกิดของนวัตกรรมในทุกรูปแบบผลักดันให้ผู้คนชุมชนหน่วยงานและองค์กรต้องมีความรู้ความเข้าใจและสามารถปรับตัวให้ทันต่อการดิสลัปทางอุตสาหกรรมและสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา