หลอกขายสินค้าผ่านสื่อออนไลน์

หลอกขายสินค้าผ่านสื่อออนไลน์

ปัจจุบันการหลอกขายสินค้าผ่านสื่อออนไลน์แก่ผู้บริโภคในประเทศไทย นับว่าเป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจต่อผู้คนในสังคมเป็นอย่างมาก

การรับรู้ถึงสภาพปัญหาและวิธีการรับมือเกี่ยวกับการหลอกขายสินค้าผ่านสื่อออนไลน์จึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับประชาชนโดยทั่วไปที่มักซื้อสินค้าผ่านสื่อออนไลน์ โดยเฉพาะการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ในปัจจุบันที่มีรูปแบบการกระทำความผิดที่มีความซับซ้อนมากขึ้นตามพัฒนาการทางเทคโนโลยีที่มีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว อันเป็นเหตุผลสำคัญที่นำไปสู่การแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2560 เป็นต้นมา

การแก้ไขสำคัญปรากฎอยู่ในพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ในมาตรา 14 วรรคหนึ่ง (1) ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้ใดกระทำความผิดโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา ผู้นั้นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ” และถ้าการกระทำความผิดข้างต้นมิได้กระทำต่อประชาชน แต่เป็นการกระทำต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ผู้กระทำ ผู้เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าวต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้เป็นความผิดอันยอมความได้ตามมาตรา 14 วรรคท้าย

จากบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้นจะเห็นได้ว่า การหลอกขายสินค้าผ่านสื่อสังคมออนไลน์น่าจะเข้าข่ายเป็นการกระทำที่มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 (พ.ศ.2560 ฉบับแก้ไข) ตามมาตรา14 วรรคหนึ่ง (1) หรือ วรรคท้ายแล้วแต่กรณี

นอกจากผู้หลอกขายจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับ คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 (พ.ศ.2560 ฉบับแก้ไข) ข้างต้นแล้ว ผู้หลอกขายยังมีความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญาตามมาตรา 341 ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ โดยการทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ หรือความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนมาตรา 343 ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความไม่ได้ โดยกระทำความผิดฐานฉ้อโกงโดยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน หรือด้วยการปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน แล้วแต่กรณีอีกด้วย

ทั้งนี้ เพราะการหลอกหลวงขายสินค้าทางสื่อสังคมออนไลน์นั้น แสดงให้เห็นได้ชัดเจนว่า ผู้ขายมีเจตนาที่จะไม่ส่งมอบสินค้านั้นตั้งแต่แรก แต่ประกาศขายในสื่อออนไลน์ให้คนเข้ามาซื้อเพื่อประสงค์จะได้เงินของผู้สั่งซื้อโดยไม่ส่งของให้จึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง และหากกระทำโดยทั่วไปทางสื่อสังคมออนไลน์ก็จะเป็นความผิดฉ้อโกงประชาชนตามมาตรา 343 ซึ่งมีโทษหนักขึ้น

กรณีตัวอย่างของการหลอกขายสินค้าผ่านสื่อออนไลน์ เช่น การหลอกขายเครื่องสำอาง กระเป๋า โทรศัพท์ อุปกรณ์ตกแต่งรถยนต์ หรือหนังสือ เป็นต้น

ในกรณีที่เป็นการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้นั้น ผู้เสียหายต้องรีบดำเนินการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนหรือฟ้องคดีด้วยตนเองภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดด้วย มิฉะนั้นคดีจะขาดอายุความ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96

เมื่อเกิดปัญหาการหลอกขายสินค้าผ่านสื่อออนไลน์ขึ้นจะดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดอย่างไรนั้น ผู้เขียนมีข้อแนะนำ 3 ขั้นตอนการดำเนินคดีดังนี้

            1) ขั้นตอนการเก็บรวบรวมหลักฐานต่าง ๆ เช่น หลักฐานการโฆษณาทางระบบคอมพิวเตอร์ หลักฐานการสนทนาหรือคุยผ่านแชทกับผู้หลอกลวงรวมถึงภาพหน้าจอการสนทนาดังกล่าว เลขบัญชีธนาคารที่โอนไป หลักฐานการโอนเงิน และพิมพืช์หลักฐานเหล่านั้นออกมาเก็บเอาไว้

            2) นำหลักฐานต่าง ๆ ไปแจ้งความร้องทุกข์เพื่อดำเนินคดีต่อสถานีตำรวจท้องที่ที่เกิดเหตุและสามารถร้องทุกข์ไปยังกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ได้เช่นกัน ในขณะแจ้งความร้องทุกข์นั้น ผู้เสียหายอาจขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการอายัดบัญชีธนาคารของผู้หลอกลวงและนำใบแจ้งความพร้อมหลักฐานการโอนเงินไปยื่นต่อธนาคารเพื่อทำการอายัดบัญชีนั้น และ

            3) ให้ผู้เสียหายติดตามคดีอย่างต่อเนื่องและให้แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจขอให้ติดตามคดีจนกว่าจะสิ้นสุด

ส่วนวิธีการป้องกันการถูกหลอกขายสินค้าออนไลน์นั้น ผู้เขียนมีข้อแนะนำวิธีป้องกันโดนหลอกซื้อของออนไลน์ดังนี้

            1) ขอรหัสประจำตัวประชาชน เพราะรหัสประจำตัวประชาชนเป็นหลักฐานยืนยันตัว บุคคลได้

            2) ขอเลขที่บัญชีธนาคาร เพราะหมายเลขบัญชีธนาคารเป็นข้อมูลที่สำคัญในการทำธุรกรรมออนไลน์

            3) ขอชื่อผู้ขายพร้อมชื่อเจ้าของบัญชีก่อนโอนเงิน และ

            4) ระมัดระวังการร้องขอหรือการชำระเงินอย่างเร่งด่วน ผู้ซื้อควรตรวจสอบข้อมูลและรายละเอียดต่าง ๆ จนกว่าจะแน่ใจ อย่ารีบร้อนชำระเงินค่าสินค้าเป็นอันขาด

ท้ายที่สุดแล้ว ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อมูลข้างต้นจะเป็นประโยชน์ต่อบุคคลทั่วไปได้ไม่มากก็น้อย ทั้งนี้ ผู้ที่จะซื้อสินค้าทางสื่อออนไลน์พึงระวังการหลอกขายสินค้าทางสื่อออนไลน์ที่นับวันยิ่งมีวิธีการหลอกลวงที่ซับซ้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ และควรเก็บข้อมูลพยานหลักฐานทั้งหลายตามข้อแนะนำข้างต้นในการทำธุรกรรมซื้อขายสิ้นค้าออนไลน์ เผื่อว่าในกรณีที่มีปัญหาถูกหลอกขายสินค้าจะสามารถดำเนินการกับผู้กระทำความผิดได้ต่อไป.

โดย... 

ดร.ณัชชา  สุขะวัธนกุล

พรรีน ปิ่นทองพันธุ์

อรุณชัย แก้วนวลศรี