ก่อการดี RMF

ก่อการดี RMF

ชีวิตคนเราจริงๆแล้วต้องการอะไรกันแน่ ร่ำรวยเงินทอง มีสุขภาพที่ดี หรือว่าต้องการมีความสุขในการใช้ชีวิต

คำตอบสำหรับคำถามเหล่านี้ หลายครั้ง แม้แต่คนๆเดียวกันในแต่ละช่วงชีวิต ก็อาจตอบไม่เหมือนกัน ถ้าคนเรามีอายุยืนยาวนับพันนับหมื่น หรือนับแสนๆปี คำตอบก็น่าจะยิ่งแตกต่างหลากหลายมากยิ่งขึ้น

ความต้องการของมนุษย์ยุคหิน อาจขอเพียงแค่วันนี้โชคดีล่าสัตว์กลับมาเป็นอาหารยังชีพได้ คนเมื่อหลายร้อยปีก่อน อาจขอแค่ในน้ำมีปลาในนามีข้าวก็เพียงพอแล้ว ส่วนคนเมื่อ 30 ปีก่อน อาจขอเพียงแค่หางานทำได้ ก็ดีใจแล้ว  

และสำหรับในวันนี้ ความสุขอาจมาจากการมีอิสระในการใช้ชีวิตในแบบที่ตนเองต้องการ มีความหวังที่จะได้อยู่ในสังคมที่ปลอดภัย ทานอาหารโดยไม่ต้องกังวลว่าจะต้องเป็นโรคร้ายในอีก 20 ปีข้างหน้า เดินตลาด หรือขึ้นรถโดยสารสาธารณะโดยไม่ต้องพะวงว่าจะมีใครมาล้วงกระเป๋า หรือระแวงว่าจะมีคนเอาไม้มาตีหัวตอนเดินเข้าบ้าน

เราทุกคนสามารถที่จะเริ่มต้นสังคมเช่นนั้นได้ด้วยตัวของเราเองในหลากหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นวิธีดั้งเดิมที่เราทำกันอยู่แล้วอย่างการช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก บริจาคทาน เป็นจิตอาสา ฯลฯ หรือการลงทุนในธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับการสร้างสังคมที่ดีขึ้น ร่วมกับการสร้างผลประกอบการที่ยั่งยืนในระยะยาวให้กับผู้ถือหุ้นไปพร้อมๆกัน

กองทุนเปิดกรุงไทย ก่อการดี เพื่อการเลี้ยงชีพ (KT-ESG RMF) เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ที่ผู้ลงทุนสามารถมีส่วนร่วมกับสังคมที่ดีอย่างยั่งยืนได้ โดยกองทุนจะเน้นลงทุนในหุ้นที่เป็นส่วนประกอบของดัชนีผลตอบแทนรวม อีเอสจี ไทยพัฒน์ (Thaipat ESG Index (TR)) โดยมุ่งให้ผลตอบแทนเป็นไปตามการเคลื่อนไหวของดัชนีในลักษณะของกองทุนเชิงรับ (Passive Fund)

ซึ่งหุ้นที่เป็นส่วนประกอบของดัชนีนี้ จะถูกคัดเลือกโดยสถาบันไทยพัฒน์ องค์กรสาธารณประโยชน์ ซึ่งเป็น GRI Data Partner ที่ได้รับการรับรองจากองค์การแห่งความริเริ่มว่าด้วยการรายงานสากล (Global Reporting Initiative)

สำหรับคุณสมบัติเบื้องต้นของหุ้นที่สถาบันไทยพัฒน์คัดเลือก จะต้องเป็นหุ้นของบริษัทที่มีกำไรติดต่อกันสองรอบปีบัญชีล่าสุด โดยที่ตัวบริษัท คณะกรรมการ และผู้บริหารของบริษัทจะต้องไม่ถูกสำนักงานก.ล.ต.กล่าวโทษหรือเปรียบเทียบปรับในรอบปีประเมิน และจะต้องมีการกระจายการถือหุ้นไปยังผู้ลงทุนรายย่อย (Free Float) ตามที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกำหนด

นอกจากนี้ สถาบันไทยพัฒน์ยังใช้ข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG) ที่เปิดเผยต่อสาธารณะ มาประกอบการคัดเลือกหลักทรัพย์ให้ได้จำนวน 100 หลักทรัพย์ ก่อนจะนำมาคัดกรองด้านสภาพคล่อง และนำหุ้นที่เหลือมาเฉลี่ยน้ำหนักให้เท่ากัน (Equal Weighted Index) โดยมี S&P Dow Jones เป็นผู้คัดกรองสภาพคล่อง คำนวณและเผยแพร่ข้อมูลดัชนี

ในแง่ของการลงทุน การลงทุนในดัชนีที่ประกอบด้วยหุ้นหลากหลายขนาด และถ่วงน้ำหนักในแต่ละหลักทรัพย์เท่าๆกัน ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจเพราะจะช่วยเปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนได้รับผลตอบแทนจากหุ้นขนาดกลางขนาดเล็กเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับการลงทุนในกองทุนรวมดัชนีที่ใช้วิธีถ่วงน้ำหนักตามมูลค่าตลาดที่แพร่หลายอยู่ในปัจจุบันแต่เพียงอย่างเดียว

นอกจากนั้นแล้ว ผู้ลงทุนยังมีโอกาสได้ลงทุนในหุ้นขนาดกลางถึงเล็ก (ปัจจุบันมีประมาณ 40% ของดัชนีนี้) ด้วยต้นทุนค่าใช้จ่ายโดยรวม (Total Expense Ratio) ที่ต่ำกว่าการลงทุนในกองทุนรวมหุ้นอื่นๆที่มีนโยบายเชิงรุก (Active Fund) และมีนโยบายลงทุนในหุ้นหลายขนาด (All-Cap Equity Fund) ซึ่งโดยทั่วไปแล้วมักมีต้นทุนค่าบริหารจัดการโดยรวมมากกว่ากองทุนดัชนี 2-3 เท่า

ความเสี่ยงที่สำคัญของกองทุนนี้ ได้แก่ ความผันผวนของราคา การกระจายตัวของผู้ออกตราสาร สภาพคล่อง ความเสี่ยงที่ผลตอบแทนของกองทุน อาจไม่เท่ากับอัตราผลตอบแทนของดัชนี

ศึกษารายละเอียดหรือขอรับหนังสือชี้ชวนได้ที่ธนาคารกรุงไทย และผู้สนับสนุนการขายทุกแห่ง

RMF เป็นการลงทุนเพื่อการเกษียณอายุ ผู้ลงทุนต้องทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ที่ระบุไว้ในคู่มือการลงทุนในกองทุน LTF/RMF และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน