เอาชนะมายาคติการลดหย่อนภาษีด้วยประกัน

เอาชนะมายาคติการลดหย่อนภาษีด้วยประกัน

ใกล้ช่วงสิ้นปีแล้ว นอกจากเทศกาลเฉลิมฉลองส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ที่กำลังใกล้เข้ามาถึง

อีกสิ่งหนึ่งที่กำลังมาเยือนผู้มีเงินได้ทุกคน ก็คือเทศกาลการยื่นแบบเพื่อชำระภาษีด้วยเช่นกัน ทำให้นอกจากการวางแผนท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจในช่วงปลายปีนี้ต้นปีหน้าแล้ว ก็ยังต้องวางแผนการจัดการภาษีให้น้อยลง ด้วยการวางแผนภาษีให้ทันก่อนสิ้นปีด้วยเช่นกัน

ซึ่งแน่นอนว่า ประกันชีวิตและประกันสุขภาพ ก็เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ทางการเงินยอดฮิตที่ได้รับความสนใจจากผู้เสียภาษีจำนวนมากที่ต้องการนำไปใช้สิทธิลดหย่อนภาษี แต่ประเด็นหนึ่งที่หลายคนอาจเคยมองข้ามไปในช่วงที่กำลังวางแผนการลดหย่อนภาษี คือ ประกันชีวิตหรือประกันสุขภาพที่เราจ่ายเงินซื้อความคุ้มครองไปนั้น มันเหมาะสมกับเราแล้วจริงๆ หรือไม่ เราซื้อประกันมากเกินพอจำเป็นหรือเปล่า หรือที่จริงแล้วมันยังน้อยไปกันแน่

อันที่จริง การซื้อประกันชีวิตเพียงเพื่อนำไปใช้ลดหย่อนภาษี ถือเป็นหนึ่งใน “มายาคติ” หรือ “ความเข้าใจผิดทางการวางแผนการเงิน” เป็นอย่างมาก เพราะหากเราตั้งธงตั้งเป้าหมายในใจไว้ว่า เราจะต้องลดหย่อนภาษีให้ได้มากที่สุด โดยไม่ได้สนใจหรือใส่ใจเลยว่าสิทธิที่ใช้ไปนั้นสอดคล้องกับแผนการเงินหรือฐานะความมั่งคั่งอย่างเหมาะสมหรือไม่ ก็อาจทำให้เกิดปัญหาตามมาในภายหลังได้ ทำให้หลายท่านอาจจะต้องเจอกับปัญหาภาระในการชำระเบี้ยประกันที่มากเกินตัว ความคุ้มครองที่ได้รับไม่ตรงกับความจำเป็นหรือความต้องการที่ควรจะมี หรือร้ายแรงที่สุด อาจจะต้องหยุดการชำระเบี้ยประกันไป ทำให้ส่งผลกระทบต่อไปยังสิทธิในการใช้ผลิตภัณฑ์ประกันเพื่อลดหย่อนภาษี และการที่อาจจะต้องจ่ายคืนภาษีที่เคยได้ลดหย่อนไปด้วยเช่นกัน

ดังนั้น คำแนะนำที่ดีที่สุดในการจัดการเรื่องเงินๆ ทองๆ ตามหลักการวางแผนการเงินที่เหมาะสมนั้น จึงควรที่จะเริ่มต้นจากวางแผนจัดการความเสี่ยงภัยของตัวท่านเองก่อน ว่ามีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหนที่จะต้องมีประกันชีวิตหรือประกันสุขภาพแบบไหน ด้วยความคุ้มครองระดับใดเสียก่อน แล้วปล่อยให้ผลประโยชน์จากสิทธิทางภาษีที่ได้รับจากการลดหย่อนนั้น กลายเป็นเสมือน “ของแถม” หรือ “รางวัล” จากการที่เราได้จัดการการเงินของเราอย่างเป็นระบบและเหมาะสมกับชีวิตของเราเองจะดีกว่า

ยกตัวอย่างเช่น ท่านอาจจะต้องประเมินก่อนว่า หากตัวท่านจากไปแล้ว ภาระที่จะเกิดขึ้นกับคนข้างหลัง ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่พี่น้อง คู่สมรส หรือลูกหลาน นั้นจะมีอะไรบ้าง เช่น ภาระหนี้สินจากสินเชื่อที่มี ภาระในการเลี้ยงดูอุปถัมภ์โดยใช้รายได้ที่ท่านหาได้มาไปจุนเจือ ซึ่งในวันที่ท่านจากไป คนเหล่านั้นจะมีความต้องการเงินก้อนสำหรับการจัดการปัญหาในภาระเหล่านั้นเท่าไหร่ นั่นก็คือจำนวนเงินเอาประกันชีวิตที่ท่านควรจะมีคุ้มครอง แล้วค่อยเลือกแบบประกันที่เหมาะสม ด้วยเบี้ยประกันที่เหมาะสมกับภาระค่าใช้จ่ายและเงินออมในแต่ละเดือน ตามกำลังทรัพย์และฐานะของท่าน

หรือจะเป็นเรื่องของการเตรียมพร้อมสำหรับค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของท่านในวันที่เจ็บป่วย ให้เพียงพอรองรับค่ารักษาพยาบาลที่ค่อนข้างสูงในปัจจุบันหากต้องการคุณภาพการรักษาที่ดีขึ้น ซึ่งท่านเองก็จะต้องประเมินก่อนว่า ค่าใช้จ่ายอาจจะเกิดขึ้นประมาณเท่าไหร่โดยตรวจสอบจากโรงพยาบาลที่ท่านต้องการใช้บริการ แล้วรวบรวมสิทธิต่างๆ ที่ท่านมี ไม่ว่าจะเป็นสิทธิสมาชิกกองทุนประกันสังคม สิทธิจากประกันภัยกลุ่มของสวัสดิการพนักงาน สิทธิเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลกับนายจ้าง ฯลฯ และคำนวณไว้ว่า ท่านยังขาดความคุ้มครองด้านไหนอยู่ ในมิติด้านความคุ้มครองต่างๆ เช่น ค่าห้องพักรักษาตัว ค่าใช้จ่ายในการรักษาในโรงพยาบาลในฐานะผู้ป่วยใน ค่าใช้จ่ายการรักษาโรคร้ายแรง ค่าใช้จ่ายการรักษาเนื่องจากอุบัติเหตุ ฯลฯ แล้วจึงค่อยไปเลือกประกันสุขภาพที่ความคุ้มครองเหมาะสมมาเพื่อเติมเต็มความคุ้มครองที่ยังขาด ด้วยเบี้ยประกันที่เหมาะสม ซึ่งอาจต้องรวมถึงกรณีทุพพลภาพด้วย

นอกจากนี้ ท่านอาจจะต้องมองถึงอนาคตข้างหน้า ว่าในสังคมไทยที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยแบบสมบูรณ์ภายในอีกไม่ถึงสิบปีข้างหน้านี้ แผนการเตรียมเงินทุนเพื่อใช้จ่ายหลังการเกษียณของท่านได้วางไว้รอบคอบแล้วหรือยัง มีเงินทุนสะสมเพียงพอสำหรับการใช้จ่ายหลังจากเกษียณอายุหรือหยุดทำงานไปแล้วหรือไม่ เพียงเท่านั้นยังไม่พอ อาจจะต้องคาดการณ์ด้วยว่า หากมีอายุอยู่ยาวนานมากยิ่งขึ้นจากวิทยาการทางการแพทย์และการดูแลผู้สูงอายุที่ดีขึ้นเรื่อยๆ แล้วเงินทุนของท่านจะหมดไปก่อนหรือไม่ ซึ่งในการวางแผนเพื่อการเกษียณนี้ แบบประกันบางประเภทอาจจะเหมาะสมกับการนำมาใช้ร่วมกับการวางแผน เพื่อสร้างกระแสเงินสดที่แน่นอนเพื่อการดำรงชีพ (หรือที่เรียกว่า Safety Net ด้านการเงิน) จากกรมธรรม์ประกันภัย เพื่อให้มั่นใจได้ว่า ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับเงินทุนเพื่อการใช้จ่ายตามไลฟ์สไตล์หลังเกษียณ ก็ยังพอที่จะสบายใจว่ามีกระแสเงินสดที่แน่นอนสำหรับค่าใช้จ่ายขั้นต่ำเพื่อการดำรงชีพของท่านได้

เมื่อท่านวางแผนด้านการเงินในเบื้องต้นทั้งหมดตามความจำเป็นไว้แล้ว และเลือกซื้อแบบประกันชีวิตและประกันสุขภาพที่เหมาะสมกับแผนดังกล่าว จึงค่อยนำไปใช้สิทธิที่ได้รับจากการมาตรการลดหย่อนภาษีเพื่อขอเงินภาษีคืนเป็นของแถม เป็นกระแสเงินสดกลับมาให้ท่านนำไปใช้ออมและลงทุนในแผนการเงินอื่นๆ ต่อได้อีกด้วย

ฟังดูแล้ว ท่านอาจจะมองว่ามันยากและลำบากในการคิดและคำนวณแผนต่างๆ อย่างเหมาะสม แต่ในยุคนี้สามารถใช้เทคโนโลยีที่รวบรวมการวางแผนและคำนวณดังกล่าวไว้ที่เดียวกัน อย่างบริการจาก www.noon.in.th ที่สร้างสรรค์เครื่องมือที่จะช่วยท่าน ไม่ว่าจะเป็นแผนการสร้างความคุ้มครองภาระหนี้สิน แผนการเก็บออมเพื่อการเกษียณ หรือแผนการสร้างความคุ้มครองจากประกันสุขภาพ รวมถึงสรุปภาพรวมให้ด้วยว่าจริงๆ แล้ว ท่านควรจะมีความคุ้มครองในด้านไหน เป็นจำนวนเท่าไหร่ ที่แม้ตัวท่านเองอาจจะไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่าต้องมี แถมยังมีบริการสรุปกรมธรรม์ เพื่อรวบรวมข้อมูลกรมธรรม์ทั้งหมดที่คุณเคยซื้อมา ไม่ว่าจะจากค่ายไหนบริษัทไหน สามารถนำมาบันทึกและรวบรวมไว้ได้ในที่เดียว เพื่อทำสรุปความคุ้มครองที่มีทั้งหมดให้ดูได้จากทุกที่ ในทุกมุมมองการสร้างคุ้มครองความเสี่ยงของคุณ

นอกจากนี้ ในเว็บไซต์ยังมีระบบอัจฉริยะในการช่วยเหลือผู้ใช้ เพื่อเปรียบเทียบแบบประกันของทุกบริษัทประกันชีวิตอย่างเป็นกลาง ทำให้สามารถเลือกเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์แบบเดียวกันได้ตามความเหมาะสมกับอายุและเพศของผู้ใช้ บนพื้นฐานหลักคณิตศาสตร์ประกันภัยและข้อมูลสถิติโอกาสเสี่ยงภัยของคนไทยโดยเฉพาะ ซึ่งจะทำให้ท่านมั่นใจได้ว่าท่านจะได้แบบประกันที่ตรงกับความต้องการและเหมาะสมกับแต่ละท่าน เพื่อช่วยเหลือให้คนไทยเข้าใจเรื่องการเงินให้มากขึ้น สร้างความคุ้มครองที่เหมาะสมกับตัวเองมากขึ้น ลดความสิ้นเปลืองหรือความสูญเสียจากการทำประกันที่เกินตัวหรือน้อยเกินไป และเพิ่มโอกาสทางการเข้าถึงบริการทางการเงิน (Financial Inclusion) ไปอีกก้าวครับ