เรื่องควรสดับจากสำนักวาติกัน

เรื่องควรสดับจากสำนักวาติกัน

เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักวาติกันจัดประชุมเกี่ยวกับความสูญเสียอาหารเป็นเวลา 2 วัน

 ผู้เชี่ยวชาญ อาจารย์ นักวิทยาศาสตร์ นักเศรษฐศาสตร์ ผู้นำภาคธุรกิจและนักเคลื่อนไหวทางสังคมกว่า 50 คนจาก 24 ประเทศและองค์การสหประชาชาติเข้าร่วม สำนักวาติกันเป็นเจ้าภาพการประชุมสืบเนื่องมาจากสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงสนพระทัยในเรื่องนี้เป็นพิเศษเพราะทรงยึดมั่นในหลักการที่ว่า การโยนอาหารทิ้งเท่ากับการโยนคนทิ้ง

ชาวโลกสูญเสียอาหารปริมาณมหาศาลทุกปีในขณะที่มีผู้ขาดแคลนอาหารถึง 800 ล้านคน ข้อมูลบ่งว่าประมาณ 1 ใน 3 ของอาหารที่ชาวโลกผลิตออกมาในแต่ละปี หรือประมาณ 1.3 พันล้านตันไม่ได้ถูกนำไปบริโภคเพราะได้สูญเสียไปในกระบวนการผลิตในไร่ในนาบ้างและหลังจากนั้นบ้าง รวมทั้งในการขนส่ง การเก็บรักษา การคัดเลือก การเตรียม การปรุงและการเหลือคาจานหลังจากรับประทานแล้ว การสูญเสียนี้มีผลกระทบสูงต่อเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม

ทางเศรษฐกิจ ความสูญเสียประเมินเป็นเงินได้ราว 1 ล้านล้านดอลลาร์ หรือราว 2 เท่าของผลิตภัณฑ์มวลรวม(จีดีพี) ของเมืองไทยในปีนี้ ฉะนั้น การลดความสูญเสียแม้เพียงส่วนน้อยย่อมมีผลดีต่อคนยากจนที่ขาดแคลนอาหารทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพของบุคคล ด้านครอบครัว หรือด้านการเป็นผู้ผลิตที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น สำหรับด้านการใช้ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม การผลิตอาหารที่ไม่ได้ใช้ทำประโยชน์นี้เมื่อรวมกันก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกสูงเป็นอันดับ 3 รองจากสหรัฐและจีนเท่านั้น หรือราว 8% ของก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์

เรื่องนี้เริ่มได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางรวมทั้งในสหรัฐซึ่งขณะนี้มีการเคลื่อนไหวร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคธุรกิจและภาคประชาสังคมเพื่อลดความสูญเสียลง เมื่อปลายเดือนต.ค. จึงมีการประชุมร่วมกันระหว่างหน่วยงาน 3 หน่วยของรัฐบาลกลางและองค์กรเอกชนใหญ่ๆ ในด้านการผลิต การค้าขายและกิจการร้านอาหารพร้อมกับบริษัทขนาดยักษ์อีกหลายบริษัท การประชุมได้ข้อตกลงว่าจะดำเนินมาตรการด้านต่างๆ อย่างเร่งด่วนโดยมีเป้าหมายว่า ภายใน 10 ข้างหน้า ผู้เกี่ยวข้องจะลดความสูญเสียอาหารลง 50% เป้าหมายนี้ การประชุมที่สำนักวาติกันเสนอให้ชาวโลกโดยทั่วไปทั้งในระดับรัฐและในระดับบุคคลนำมาใช้ด้วย

สมเด็จพระสันตะปาปาเสด็จมาเยือนประเทศไทยอยู่ในขณะนี้ ในระหว่างพิธีต่างๆ และการพบปะกับชาวไทย ท่านอาจไม่มีเวลาอ้างถึงเรื่องความสูญเสียอาหาร อย่างไรก็ตาม ผมเสนอว่าชาวไทยควรให้ความสำคัญแก่สิ่งที่ท่านทรงสนพระทัยและแสดงความห่วงใยเป็นพิเศษแม้ชาวไทยส่วนใหญ่จะเป็นพุทธศาสนิกชนและเมืองไทยผลิตอาหารได้เกินความต้องการในประเทศก็ตาม ผมออกจากกระบวนการผลิตอาหารมานานแล้ว จึงจะไม่พูดถึงเรื่องการลดความสูญเสียในกระบวนการผลิต จะพูดถึง 2 ประเด็นเกี่ยวกับการบริโภคเท่านั้นที่เห็นว่าน่าจะปฏิบัติได้ทันที

ประเด็นแรกได้แก่ในร้านอาหาร โดยทั่วไปในร้านอาหารจะมีการสั่งมาเกินความจำเป็น ส่วนที่เหลือจะถูกทิ้งเนื่องจากผู้สั่งส่วนใหญ่จะไม่นำอาหารเหลือกลับบ้าน ยิ่งในยุคนี้มีร้านอาหารจำพวกราคาเดียวรับประทานได้แบบไม่จำกัดมากขึ้น ส่วนที่เหลือทิ้งยิ่งมากขึ้นเพราะจะสังเกตได้โดยทั่วไปว่าอาหารที่ผู้รับประทานตักมามักเหลือแทบทุกจาน หากเป็นในบ้าน ผู้รับประทานคงไม่ทำแบบนี้ ในบางประเทศทำไม่ได้เพราะมีกฎหมายบังคับว่าต้องรับประทานให้หมด มิฉะนั้นถูกลงโทษ เราลดการสั่ง หรือตักลงได้โดยไม่ต้องรอกฎหมายบังคับ

ประเด็นที่สองเกี่ยวอาหารถวายพระจากการตักบาตรรายวันไปถึงงานเทศกาลต่าง ๆ ในการตักบาตรรายวัน ปริมาณอาหารดูจะแตกต่างกันมากระหว่างพระในชนบทกับพระในเมืองจนมักเกิดคำถามว่าจะตักบาตร หรือรับอาหารไปมากมายจนอาจนำไปสู่ความสูญเสียเพื่ออะไร ส่วนในงานเทศกาลจะมีอาหารเหลือปริมาณมากไม่ว่าจะเป็นวัดในชนบท หรือวัดในเมือง ด้วยเหตุนี้จึงมีประเพณีเกิดขึ้นในบางวัดให้ตักบาตรข้าวสารและอาหารแห้งในงานเทศกาล หากวัดโดยทั่วไปนำแนวคิดนี้ไปใช้ ความสูญเสียอาหารจะลดลง

สมเด็จพระสันตะปาปามิใช่ผู้นำของศาสนาพุทธ แต่ชาวพุทธควรฟังท่านเรื่องความสูญเสียอาหารจากกระบวนการผลิตไปจนถึงการบริโภค โลกจะได้มีโอกาสอยู่ต่อไปอย่างยั่งยืน