ปัญหาเดิมๆที่ต้องแก้ไข

ปัญหาเดิมๆที่ต้องแก้ไข

ปัญหาเดิมๆ ที่ว่านี้ คือ ปัญหาการไม่เคารพกฎจราจร โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครที่ผู้เขียนเป็นหนึ่งในคนกรุงเทพฯ

ปัญหาที่ร้ายแรงแต่คนอาจจะชินไปแล้วก็คือ การข้ามทางม้าลาย ที่รถส่วนใหญ่ไม่ยอมจอด และคนข้ามส่วนหนึ่งก็ไม่ยอมข้าม ในขณะที่ก็มีคนขับอีกจำนวนหนึ่งอยากจะจอด และคนข้ามอีกจำนวนหนึ่งก็อยากจะข้าม สิ่งที่เกิดขึ้นขณะนี้ก็คือ อิหลักอิเหลื่อและความสับสน เช่น คนขับรถบางคันจอดให้คนข้ามทางม้าลาย ก็จะมีปัญหากับรถคันหลังที่ขับตามมา หรือจอดให้แล้ว คนข้ามก็ยังลังเลไม่รีบข้าม (ซึ่งก็น่าเห็นใจมาก เพราะถ้าข้ามแล้ว รถที่อยู่หลังคันที่จอดให้เกิดแซงขึ้นมาก็จะถูกชน) ปัญหานี้ผู้เขียนได้เคยเขียนมาตลอดหลายสิบปี แต่ก็ไม่เห็นจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ 

เคยสอบถามเกี่ยวกับผู้ขับขี่และผู้ข้ามถนน ได้ความดังนี้คือ คนที่ไม่จอดให้คนข้ามตรงทางม้าลาย ไม่ใช่จะไม่รู้กฎจราจร แต่จะมีคำอธิบายต่างๆ ได้แก่ 1. ถ้าจอด คันหลังก็จะชนเอาหรือกดแตรใส่ 2. ถ้าจอด แล้วคันหลังแซงขึ้นมา ก็จะทำให้คนข้ามถูกชนได้ 3. จอดแล้ว แต่คนข้ามไม่ข้าม ก็ไม่รู้จะเสียเวลาจอดทำไม 4. ถ้าไม่จอด ก็ไม่เห็นจะมีบทลงโทษอะไร และไม่จอดก็ไม่มีใครว่า ไม่เกิดปัญหากับรถคันหลัง ไม่เกิดปัญหาล่อให้คนข้ามถูกรถคันอื่นชน ไม่เกิดปัญหาใดๆ เพราะส่วนใหญ่ก็ไม่จอด และไม่ข้าม ก็เห็นสมควรที่จะไม่จอด 5. เรื่องไม่จอดทางม้าลาย ไม่ใช่เรื่องใหญ่ เรื่องที่ใหญ่กว่าคือเรื่องนาฬิกาบิ๊กป้อม เรื่องลุงตู่ถวายสัตย์ เรื่องมี ส.ว. ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ฯลฯ 

ส่วนข้อมูลเกี่ยวกับคนข้ามทางม้าลาย ได้มาดังนี้คือ 1. ก็รถไม่จอด จะออกตัวข้ามเสี่ยงตายไปทำไม 2. รอให้รถไม่มีดีกว่า ปลอดภัยที่สุด 3. (เมื่อถูกถามว่า ถ้าต้องรอให้รถไม่มี งั้นข้ามตรงไหนก็ได้ ทำไมต้องมาข้ามทางม้าลาย ?) ก็ได้คำตอบว่า ถ้าบังเอิญซวยถูกชน ก็จะดีกว่าไปถูกชนตรงที่ไม่ใช่ทางม้าลาย 4. ไม่ได้รีบร้อน ทนได้ ไม่ใช่เรื่องใหญ่ เรื่องที่ใหญ่กว่าคือเรื่องนาฟิกาบิ๊กป้อม เรื่องลุงตู่ถวายสัตย์ เรื่องมี ส.ว. ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ฯลฯ 

 ซึ่งเมื่อสิบกว่าปีที่แล้วเวลาผู้เขียนไปสอบถามคนข้าม-คนขับ ก็จะได้รับคำตอบว่าการที่รถไม่จอดทางม้าลายนั้น ทั้งคนขับ-คนข้ามจะตอบข้อสุดท้ายว่า “ไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่เรื่องใหญ่คือทักษิณ นักการเมืองโกง มีมือที่มองไม่เห็น-พวกอำมาตย์ ปัญหาเหลือง-แดง สลิ่ม แตงโม สับปะรด ฯลฯ”  

หึๆ ตกลงแล้ว คนที่ตอบแบบนี้กำลังจะบอกว่า ต้องแก้ปัญหาใหญ่ให้ได้ก่อนแล้วค่อยมาแก้ปัญหาเล็กอย่างเรื่องรถไม่จอด-คนไม่รีบข้ามตรงทางม้าลายหรือ ? เอา ! ถ้างั้น รัฐบาลลองนำไปพิจารณาดูนะครับว่า ตัวเองแก้ปัญหาใหญ่เสีย ประชาชนก็จะได้ไม่มีข้ออ้างและหันมาเคารพกฎจราจรกัน 

ส่วนรัฐบาลไหนก็ตามคงมาใช้ข้ออ้างในมุมกลับกับประชาชนคงไม่ได้ นั่นคือ อ้างว่า ประชาชนเคารพกฎหมายเสียก่อนแล้วรัฐบาลถึงจะเคารพกฎหมายหรือหลักการประชาธิปไตยให้ 

แต่ที่รัฐควิเบคในประเทศแคนาดา ก็มีปัญหาคนไม่ยอมจอดรถให้คนข้ามทางม้าลายเหมือนกัน และคนก็ต้องรอหรือระวังในการข้ามอย่างหนัก แต่ไม่รู้ว่าประชาชนเขาคิดแบบคนไทยหรือเปล่า แต่ที่แน่ๆคือ รัฐบาลท้องถิ่นเขาหาทางที่จะทำให้เกิดการเคารพกฎจราจรขึ้น โดยเน้นไปที่ตัวคนขับมากกว่าตัวคนข้าม (ในขณะที่ในกรุงเทพมหานครมักจะรณรงค์ให้คนข้ามทางม้าลายมากกว่าให้รถจอด ซึ่งก็แปลก ทั้งๆ ที่ก็เห็นๆ อยู่ว่าปัญหามันอยู่ที่คนขับมากกว่าคนข้าม) เขาได้ออกแบบทางม้าลายโดยน่าจะเพิ่มเทคโนโลยีอะไรเข้าไป คือ เมื่อรถขับมาใกล้ทางม้าลาย ก็จะมีแผ่นกั้นโผล่ขึ้นมาทำให้รถต้องหยุดชะงัก (ดูคลิป https://www.youtube.com/watch?v=I-E8jdfv4mw) เข้าใจว่า เขาคงรณรงค์ให้คนขับมีจิตสำนึกมาพอสมควร แต่ไม่ได้ผล เลยต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย และก็ได้ผล 100% คือรถหยุด คนก็ข้ามได้ด้วยความมั่นใจและปลอดภัย และคิดว่างบประมาณไม่น่าจะสูงมากเมื่อเทียบกับผลลัพธ์ที่ได้  

ผู้เขียนได้ลองเอาคลิปนี้ไปเผยแพร่ในไลน์กลุ่มต่างๆ ก็พบว่า ผู้คนส่วนใหญ่เห็นด้วยและมีความหวังกับการใช้วิธีการดังกล่าวที่ควิเบค แต่ก็มีคนไทยบางคนแสดงความเห็นว่า ใช้ไม่ได้กับคนไทย (ตามเคย ความเห็นแบบนี้คือ อะไรๆ ก็แก้ปัญหานิสัยไม่เคารพกฎของคนไทยไม่ได้ เหมือนกับเรื่องซื้อเสียงทุจริตเลือกตั้ง ก็มักจะบอกว่ามันเป็นวัฒนธรรมไทย ซึ่งจริงๆ แล้ว ในอังกฤษในศตวรรษตอนต้น-กลางศตวรรษที่ 19 ก็มีการซื้อเสียงทุจริตเลือกตั้งหนักกว่าบ้านเรา และก็มีคนอังกฤษบอกว่ามันเป็นวัฒนธรรมของคนอังกฤษ และมีการกล่าวข้อความคล้ายๆ กับบ้านเราด้วยว่า “เงินไม่มา กาไม่เป็น” แต่คนที่ไม่ยอมรับ ก็ต่อสู้ฝ่าฝันออกกฎหมายหาวิธีการต่างๆ จนทำให้การเลือกตั้งของเขาปลอดจากการซื้อเสียงได้ในที่สุด)  

คนที่บอกว่าวิธีการในควิเบคใช้ไม่ได้ในเมืองไทย ให้เหตุผลว่า ยังไงๆ คนไทยก็จะขับรถชนแผ่นกั้นนั้นอยู่ดี แต่ก็มีคนออกมาโต้ว่า “การขับรถฝ่าทางม้าลายที่ขีดเส้นไว้บนถนน กับการขับรถฝ่าแผ่นป้ายนี่มันมีความต่างกันอยู่ คนที่จะฝ่าอย่างหลังนี่ต้องอย่างหนาพอสมควรเลย คนเห็นก็จะรู้สึกทุเรศมากกว่าด้วย” 

ดังนั้น หากไม่สิ้นหวังในชีวิตกันเกินไป หรือคิดปลงอนิจจังเสียจนไม่ต้องคิดพัฒนาคุณภาพชีวิต เราก็ควรหาทางทุกอย่าง ทดลองมัน เผื่อสักวันจะได้ผล และคุณภาพชีวิตคนใช้รถใช้ถนนก็จะดีขึ้น เมื่อคนรู้จักเคารพกฎแล้ว ก็คงจะเห็นผลดีจากการเคารพกฎ ก็จะยิ่งมีพลังในการเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจหรือรัฐบาลรู้จักเคารพกฎและหลักการ(หวังว่า) เพราะมีคนให้คำขวัญกับผู้เขียนมาว่า สังคมมีวินัยย่อมไร้เรื่องนาฬิกาลุงป้อม ! แต่ถ้าสังคมไม่มีวินัยเอง จะไปให้ผู้มีอำนาจมีวินัยได้ยังไง? เพราะมันก็พวกนิสัยเดียวกันนั่นแหละ 

แต่ถ้าอะไรๆ ก็ไม่เอา มีข้อโต้ข้อแย้งแบบสิ้นหวังเสมอ ประเทศเราก็คงเป็น “ประเทศกูมี” อยู่ตลอดไป ไม่มีอนาคตใหม่ มีแต่อนาคตเก่าๆ 

ผู้เขียนไม่คิดว่า หากมีการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ระบอบอะไรก็ตาม จะสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมการไม่เคารพกฎจราจรได้ ดูจากประเทศที่ปฏิวัติและมีการปกครองที่แตกต่างไปจากเรา หลายประเทศก็มีปัญหาทางม้าลายหนักหนาสาหัสอยู่ดี อย่างน้อยควิเบคก็เป็นหนึ่งในนั้น ไม่งั้นเขาไม่เอาเทคโนโลยีแผ่นกั้นมาใช้กับทางม้าลายหรอก

ผู้เขียนเห็นว่า การปกครองท้องถิ่นใดในประเทศจะนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ให้เกิดคุณภาพชีวิตที่มั่นคงปลอดภัยเป็นที่แรก ที่นั่นก็จะกลายเป็นโมเดล และที่อื่นๆ ก็ทำตาม

ผู้เขียนหวังจะเห็น ผู้สมัครผู้ว่ากรุงเทพมหานครที่นอกจากจะใส่ใจแก้ปัญหาพัฒนากรุงเทพฯในด้านอื่นๆ แล้ว หากใครมีข้อเสนอโครงการแก้ไขปัญหารถไม่จอดทางม้าลายได้อย่างจริงจังและเอาจริงๆ ผู้เขียนยินดีจะสนับสนุน หาเสียงและลงคะแนนให้ แต่ถ้ากลัวว่า ถ้าผู้เขียนหาเสียงให้แล้ว จะกลายเป็นเสียคะแนน ก็บอก ผู้เขียนจะได้ไม่ต้องไปเผือก แต่อย่างน้อย หนึ่งเสียงของผู้เขียนคงมีความหมาย